นิตยสารโอ-ลั้นลา
Column : Doctor Cornor
รู้ไหมเอ่ย...การฝึกโยคะช่วยลดเบาหวานได้
จริงๆ งานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมานานแล้ว เช่น การศึกษาของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เทพ หิมะทองคำ และคณะ ได้ศึกษาการฝึกโยคะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวและยังพบว่าการฝึกโยคะมีผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง) ระบบไหลเวียนโลหิตและเมตาบอลิซึมของร่างกาย
ต่อมาสำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้มีผลงานเผยแพร่เรื่อง “ประสิทธิผลการส่งเสริมการรักษาโรคเบาหวานด้วยโยคะ” เพื่อที่จะนำผลจากการศึกษาไปนำร่องพัฒนารูปแบบโยคะสำหรับโรคเบาหวาน โดยทดลองให้กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 29 คน ฝึกโยคะพร้อมกับครูฝึกครั้งละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วกลับไปดูวิดีโอฝึกด้วยตนเองที่บ้าน อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง
ผ่านไป 3 เดือนพอมาตรวจร่างกายเพื่อประเมินระดับตัวชี้วัดโรคเบาหวาน เช่น น้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย ความดัน ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C :HbA1C) (เก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง) ปรากฏว่าระดับค่าต่างๆ ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
พูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การฝึกโยคะสามารถใช้เป็น“ทางร่วม” (ย้ำว่าทางร่วม ไม่ใช่ทางเลือก) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคเบาหวานได้
ในการศึกษาของสำนักการแพทย์ทางเลือก ท่าโยคะที่ใช้ฝึกมีจำนวน 16 ท่า คือ ท่าศพอาสนะ ท่ายกขาทีละข้าง ท่ายกขาสองข้าง ท่างอเข่าทีละข้าง ท่างอเข่าสองข้าง ท่ายกสะโพก ท่างูเห่า ท่าธนู ท่าตั๊กแตนเดี่ยวทีละข้าง ท่าตั๊กแตนคู่ ท่าศีรษะจรดเข่า ท่าคีม ท่าบิดตัว ท่าสามเหลี่ยม ท่าวัชระเบื้องต้น และท่าสมาธิ
ประโยชน์ข้อที่ 1 โยคะช่วยลดน้ำตาลในเลือด
การฝึกโยคะทำให้กล้ามเนื้อได้ยืดเหยียด ระหว่างการยืดเหยียดไกลโคเจนที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อจะเปลี่ยนเป็นพลังงาน และเมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องร่างกายจะใช้พลังงานจากกลูโคสและไขมันแทน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อในการตอบสนองต่ออินซูลิน ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดี
ประโยชน์ข้อที่ 2 ช่วยลดคอร์ติซอล
การหายใจของโยคะลึกและยาวคล้ายการทำสมาธิ ทาให้ร่างกายผ่อนคลาย ซึ่งในกระบวนการนี้ทาให้ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกทำงานเด่นขึ้น และระดับสารคอร์ติซอลลดลง ส่งผลให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลงด้วย
ระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกายแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nerve system) และระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nerve system)
ส่วน 'คอร์ติซอล' ก็คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับน้าตาลในเลือด แต่ 'คอร์ติซอล' ทำหน้าที่ตรงข้ามกับ “อินซูลิน” คือ คอร์ติซอลส่งเสริมการสร้างน้ำตาล ส่วนอินซูลินทำหน้าที่ควบคุมหรือลดระดับน้ำตาลในเลือด
ประโยชน์ข้อที่ 3 โยคะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบอวัยวะภายใน
ท่าโยคะหรืออาสนะมีมากมายหลายท่า แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานจะเน้นท่าที่มีการกดนวดอวัยวะในช่องท้อง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและการทำางานของต่อมไร้ท่อที่สำคัญ บางอาสนะ เช่น ท่าธนู ท่างู ท่าตั๊กแตน มีส่วนช่วย
ให้ตับอ่อนมีการหลั่งอินซูลินได้ปกติ การฝึกท่าเหล่านี้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลดลงได้