นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Share&Care
มีคำพูดว่า ยิ่งคนเราอายุมากขึ้นเท่าไรก็จะมีความเป็นเด็กมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งขี้งอน ขี้น้อยใจ รวมถึง 'ความดื้อ' ที่ทำให้บรรดาลูกๆ หลานๆ ต้องงัดสารพัดกลวิธีมาแก้ปัญหา
จากตัวเมืองเชียงคาน จังหวัดเลย ออกไปราว 17 กิโลเมตร ณ บ้านนาป่าหนาด ที่นี่ถือเป็นหมู่บ้านของชาวไทดำเพียงแห่งเดียวในภาคอีสานที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
คุณญาณิน ศรีมงคล ลูกสาววัยย่าง 41 ปี ซึ่งดูแลคุณพ่อวัย 65 ปีที่ป่วยเป็นสารพัดโรค บอกเล่าความในใจในการรับมือกับคุณพ่อ 'ขี้ดื้อ' ให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
พ่อจ๋า...ลูกขอร้อง
เมื่อก่อนดิฉันก็เหมือนคนทั่วไป ในยุคนี้ที่เรียนจบก็หางานทำในเมืองใหญ่ จนวันหนึ่งเริ่มคิดว่า พ่อแม่ของเราเริ่มเจ็บป่วยไม่สบาย ถ้าเราไม่กลับมาดูแล คงหวังพึ่งคนอื่นได้ยาก จึงกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด โดยสมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ทำอยู่ได้สองสมัยก็หันมาประกอบอาชีพอิสระของตัวเองเพื่อจะได้มีเวลาดูแลพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพ่อที่มีสารพัดโรคทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมัน เกาต์ ไต รวมถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
พ่อเป็นครู แต่ต้องลาออกจากราชการก่อนกำหนด เพราะมีปัญหาสุขภาพ ท่านป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุ 40 ปี หลังจากนั้นโรคอื่นๆ ก็ตามมาเป็นชุด พ่อป่วยเป็นเบาหวาน เพราะ 'กินตามใจปาก' ที่สำคัญเมื่อก่อนยังดื่มเหล้า สูบบุหรี่อีกด้วย
ครั้งหนึ่งพ่อมีน้ำตาลในเลือดสูงถึง 600 มิลลิกรัมจนต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
พ่อเป็นคนที่ดื้อมาก คนเป็นโรคเบาหวานต้องควบคุมการกินอยู่ หลายครั้งดิฉันต้องพูดว่า “ลูกขอร้อง...นะพ่อ”
แต่พ่อก็จะแอบกิน แอบทำ แม้ว่าพ่อจะเลิกเหล้าและบุหรี่ได้นานแล้ว แต่บางครั้งก็ยังแอบกินของชอบ ที่บ้านหุงทั้งข้าวเหนียวและข้าวสวย แต่พ่อชอบแอบกินข้าวเหนียว ทั้งที่หมอแนะนำให้งดเพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง หรือบางครั้งในหน้าร้อน พ่อมักไปซื้อน้ำผลไม้ปั่นมาดื่มทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่ามีน้ำเชื่อม น้ำตาลสูง
บอกตามตรงเลยค่ะ...บางครั้งดิฉันเหนื่อยใจกับการดูแลพ่อ แต่ก็ไม่สามารถละทิ้งหน้าที่นี้ได้เลย ต่อให้พ่อดื้อแค่ไหน ดิฉันก็ต้องหาเหตุผลมาทั้งอธิบาย ทั้งขู่อยู่เสมอ
“ถ้าพ่อกินแบบนี้ พ่อก็ต้องไปนอนโรงพยาบาลอีกนะคะ”
ดิฉันพยายามอธิบายให้ท่านฟังอย่างใจเย็นแต่บางครั้งก็คล้ายกำลังบ่น เพราะต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ (เชื่อว่าลูกๆ หลายคนคงเป็นอย่างดิฉัน)
ล่าสุดพ่อเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการปวดแน่นหน้าอก เมื่อไปวัดคลื่นหัวใจจึงทราบว่าเป็นโรคนี้ ในแต่ละวันพ่อต้องกินยาราว 9 เม็ด พ่อบอกว่า ที่มีชีวิตรอดได้ทุกวันนี้เพราะกินยา ท่านจึงดูแลการกินยาของตัวเองเป็นอย่างดี (แต่มักขอกินอย่างอื่นตามใจปากเป็นครั้งคราว)
ในการดูแลพ่อแม่ดิฉันต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายอย่าง ต้องใจเย็นและต้องทำกับข้าวให้เป็น โดยเฉพาะสารพัดเมนูปลา เมนูผัก จากคนที่ไม่ใส่ใจการกินอาหารสมัยเรียนหรือตอนทำงานที่กรุงเทพฯ ก็อาศัยซื้อกินเป็นหลัก แต่เมื่อต้องมาดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย ดิฉันก็ทำอาหารให้ท่านกินด้วยตัวเอง
นอกจากอาหารการกินแล้ว เรื่องจิตใจของพ่อแม่ก็สำคัญ ด้วยความที่บ้านเราอยู่ในชนบท วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ยังเอื้ออาทรต่อกัน ทุกเช้าหลังกินข้าวเสร็จพ่อจะเดินไปคุยกับเพื่อนบ้านนั้นบ้านนี้ทำให้จิตใจของท่านผ่อนคลาย และช่วงเวลาที่มีความสุขอีกช่วงของเราคือวันที่ดิฉันพาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยมีแม่ติดรถไปด้วย เราจะใช้เวลานี้กินอาหารอร่อยๆ ด้วยกัน เช่น ปลาเผา ปลาจุ่ม หรือสุกี้ ซึ่งพ่อกับแม่ชอบมาก
ดิฉันคิดว่า ในบ้านที่มีคนป่วย การสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและมองโลกในแง่บวกเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ กายป่วยแล้ว ใจเราอย่าทำให้ป่วยตาม ลองหาแง่มุมดีๆ ของความเจ็บป่วยให้ได้ แล้วใจของเราจะมีความสุข คนป่วยก็มีความสุขตามไปด้วย จนลืมว่าตัวเองป่วยได้เลยทีเดียว
สุดท้ายขอส่งกำลังใจให้ลูกๆ ทุกบ้านที่มีพ่อแม่ 'ขี้ดื้อ' ให้เอาชนะความดื้อด้วยความรักนะคะ...