นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Happy
ในวัย 80 ปี ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล หรือ 'ครูดุษ' บุตรีคนที่ 5 ในจำนวน 6 คนของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ณ ป้อมเพ็ชร) ยังคงมีความสุขกับการทำงานหลายบทบาท จนคนหนุ่มสาวยังต้องทึ่ง
ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลักดันการขับร้องเพลงคลาสสิกในประเทศไทยจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ในสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ครูดุษยังมีงานอีกหลายอย่างที่ทำให้ทุกวันของเธอมีความสุข นั่นคือการถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับดนตรีไปจนถึงเรื่องธรรมะให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่สนใจ
"การทำงานเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และยิ่งเวลาเหลือน้อยยิ่งต้องทุ่มทั้งใจ" ครูดุษกล่าว
ปัจจุบันครูทำอะไรอยู่บ้าง ทราบมาว่ามีทั้งงานสอนและจัดรายการวิทยุ
อายุ 80 แล้วนะ ถ้าถามว่าแล้วทำไมอายุป่านนี้ถึงยังทำงานมากมาย เพราะพ่อแม่สอนมาว่าการทำงานทำให้เรามีความสุข แรงงานคือบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์
คำว่า "ไพบูลย์" ไม่ได้หมายความว่าเราจะร่ำรวยนะ หมายถึงความสมบูรณ์มีความสุข มีรายรับได้บ้างก็ดีเพื่อเอามาจุนเจือค่าใช้จ่าย
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีสุนทรียะที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นงานที่ต้องเตรียมตัวเยอะและเหนื่อยในการเดินทาง และยังเป็นช่วงกลางวันพอดี ซึ่งคนแก่ก็อยากนอนกลางวัน แต่พอได้เริ่มสอนก็ลืมง่วง เพราะว่าได้ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีๆ ของดนตรี
ถัดมาเป็นงานจัดรายการวิทยุทุกสัปดาห์ที่ FM 96.5 คลื่นความคิด เป็นคนชราสุดใน 96.5 (หัวเราะ) ทำงานนี้มีความสุขมาก ได้เอาสิ่งที่รู้เล่าให้ผู้อื่นฟัง เช่นงานวันรัฐธรรมนูญในสมัยก่อนที่คนรุ่นใหม่ไม่ทราบ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องดนตรีและเรื่องธรรมะเข้ามาเกี่ยวพันด้วย
งานจัดรายการวิทยุเป็นงานที่ชอบมาก เพราะได้ค้นคว้าข้อมูล ได้ความรู้เพิ่มเติมให้ตัวเอง แล้วนำไปเล่าให้แก่ผู้ฟัง เราเองสนุกที่ได้ใช้ความจำใช้สมอง อย่างน้อยก็ช่วยให้สมองเสื่อมคงที่ (ยิ้ม) ที่สำคัญได้เพื่อนเยอะ ไปไหนมาไหนก็มักมีคนสูงวัยเข้ามาทักทายว่าติดตามฟังรายการนี้อยู่
ทราบว่าครูเขียนหนังสือด้วย
ที่เขียนประจำตอนนี้คือ “ต่วยตูน” นิตยสารที่ผู้สูงวัยนิยมอ่าน อีกงานหนึ่งคืองานของคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู มีตารางการซ้อมทุกวันจันทร์กับวันพุธ เป็นงานที่ทำด้วยความภูมิใจ
งานของครูส่วนใหญ่มีดนตรีเป็นตัวตั้งต้น สนใจเองหรือคุณพ่อคุณแม่บังคับให้เรียน
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปค่ะ ครูดุษได้รับการปลูกฝังความรักในเสียงดนตรีทั้งจากทางคุณพ่อและคุณแม่
คุณปู่ (นายเสียง พนมยงค์) เป็นคนที่ชอบเล่นหีบเพลงชักหรือแอคคอร์เดียน ซึ่งเมื่อสมัย 150 ปีก่อนถือว่าเป็นคนทันสมัย นอกจากนี้คุณปู่ยังสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยอื่นเช่นพวกซอต่างๆ กระทั่งได้ตั้งวงดนตรีไทยที่บ้านหน้าวัดพนมยงค์ด้วย
ส่วนคุณพ่อเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก อายุ 15 จบมัธยมฯ แล้วเข้าเรียนที่กรุงเทพฯ จึงไม่มีโอกาสได้เล่นดนตรี ทางคุณแม่ก็เช่นเดียวกัน คุณตา (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา ต้นตระกูล ณ ป้อมเพ็ชร์) ชอบดนตรีมาก ให้ลูกทุกคนเรียนดนตรี เรียนไวโอลินบ้าง ขิมบ้าง ซอด้วงบ้าง
อย่างคุณแม่ (ท่านผู้หญิงพูนศุข) เรียนเปียโนตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เลือดแห่งความเป็นคนดนตรีถ่ายทอดมาสู่ลูกๆ ที่ยึดเป็นอาชีพ มีสองคนคือสุดากับดุษฎี ถูกคุณแม่บังคับให้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก แต่ไม่สนใจไม่ซ้อมเลย ขี้เกียจมาก กว่าจะมารู้ว่าดนตรีคืออาหารทางสมอง มีคุณค่าต่อชีวิตก็เกือบสายเสียแล้ว
ตอนเด็กๆ ถูกบังคับ แล้วช่วงรอยต่อไหนที่ครูรู้สึกว่าดนตรีนี่แหละเป็นฉัน
เมื่อต้องติดตามไปเป็นล่ามให้พี่สาว (สุดา พนมยงค์) ที่สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง ได้ไปอยู่ในบรรยากาศอันอบอวลไปด้วยเสียงดนตรีคลาสสิก ฟังการซ้อมวงออร์เคสตราเกือบทุกวัน อยู่กับเสียงเปียโน ไวโอลินฟลุต ขับร้องแบบคลาสสิก ฯลฯ ทุกเช้าเย็น เมื่อซึมซับบรรยากาศเช่นนี้ จิตวิญญาณรักดนตรีที่แฝงอยู่ในตัวตั้งแต่เกิดก็เลยแสดงออกมา
จากเดิมที่กำลังจะไปสอบเข้าเรียนแพทย์ก็เลยเปลี่ยนเข็มทิศมาเรียนดนตรี แต่เรียนด้วยความยากลำบาก เพราะยังขาดความพร้อมหลายด้าน มีผลการเรียนเกือบรั้งท้ายในสถาบันดนตรีระดับโลกที่ปักกิ่ง
ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสก็ได้สอบบรรจุเป็นครูประจำวิชาเปียโน ที่สถาบันดนตรีเทศบาลเมืองก็อง(Caen) และเริ่มสนใจดนตรีอย่างจริงจัง ค่อยๆ เข้าใจว่า ดนตรีสร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่ชีวิต จึงตัดสินใจยึดอาชีพครูดนตรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ครอบครัวอาจารย์ผ่านเหตุการณ์ทุกข์หนัก ที่บ้านสอนลูกหลานว่าอย่างไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงนอกจากถือศีลห้าอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังยึดหลักพุทธวจนที่ว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี
ไม่ว่าครอบครัวเราจะตกทุกข์ได้ยาก ถูกใส่ร้ายป้ายสีเพียงใด ก็ยังยึดมั่นในการทำความดี มีธรรมะเป็นสรณะ ใครจะเชื่อบ้างว่าหนังสือ “ธรรมะคู่ชีวิต กฎบัตรพุทธบริษัท” ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ กัลยาณมิตรของคุณพ่อส่งมาให้นั้นคุณพ่อพกไว้ในกระเป๋าด้านในเสื้อสูทจวบจนสิ้นใจบนโต๊ะหนังสือที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส (จากหนังสือ“ธรรมะคู่ชีวิต กฎบัตรพุทธบริษัท” โดย พุทธทาส อินทปัญโญ หน้า 12)
ครูดูแลตัวเองอย่างไรให้มีพลังทำงานทุกวันอย่างมีความสุข
ข้อที่หนึ่ง พ่อแม่สอนให้เราต้องทำงาน
ข้อที่สอง มีความสุขกับการทำงาน อย่างเช่นเวลาไปสอนไกลๆ แล้วเหนื่อย แต่พอได้เข้าไปอยู่ในโลกดนตรีแล้วมันหายเหนื่อย เพราะดนตรีคือยาอายุวัฒนะ
ข้อที่สาม ออกกำลังกาย ร่างกายเราเปรียบเสมือนเครื่องจักร ร่างกายครูใช้งานมาตั้งเกือบ 80 ปี นอตมันก็ย่อมหลวม ย่อมหลุดบ้าง ช่วงนี้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท บางวันปวดขา ต้องอดทน ตื่นเช้ามาทุกวันจะต้องทำกายบริหารตามที่หมอสั่ง รวมทั้งการแกว่งแขน เดินเร็วไม่ต่ำกว่า 20 นาทีถึงครึ่งชั่วโมงแต่ก่อนจะว่ายน้ำบ้าง แต่ช่วงนี้เว้นไป
ข้อที่สี่ การรับประทาน เน้นอาหารครบ 5 หมู่หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ใหญ่ รับประทานผัก ผลไม้เยอะๆ มีเคล็ดลับเล็กๆ มาบอกกล่าวคือ ครูดุษดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้วทุกวันค่ะ
นอกจากนี้ การพยายามมองโลกในแง่ดี ฝึกสมาธิฝึกลมหายใจ อยู่กับปัจจุบันขณะ ยึดหลักธรรมปรับปรุงจิตใจ พระไพศาล วิสาโลเคยบอกว่า “ไม่มีใครรู้ว่าชาติหน้ากับพรุ่งนี้อะไรจะมาก่อน...”
ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ยังทำงานได้ แม้ร่างกายบกพร่องกว่าเก่าเยอะก็ยังต้องตั้งหน้าทำต่อไปจนกว่าจะทำไม่ได้
ตอนนี้มีเรื่องอะไรที่ครูภูมิใจที่สุดในชีวิต และเรื่องอะไรที่ยังกังวลใจ
สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตมีอยู่ 2 เรื่อง
1. องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี พ.ศ.2543 (ค.ศ. 2000)
2. รัฐบาลไทยประกาศให้วันสันติภาพไทย* เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ
เป็นบทพิสูจน์พุทธวจนอีกบทที่ว่า “ผลงานที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”
ความหวังที่ฝากไว้คือ ขอให้ประเทศชาติมีสันติสุข
ประชาชนไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ส่วนเรื่องที่มีความกังวลอยู่เล็กน้อยและยังไม่ปล่อยวางก็คือเรื่องส่วนตัวของหลานที่อายุยังน้อยอยู่อยากมีโอกาสเห็นเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แต่กว่าวันนั้นจะมาถึง ครูดุษก็คงย้ายสำมะโนครัวไปอยู่โลกอื่นแล้ว
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)