นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Health
“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนอ่อนแอ คิดมาก คิดไปเอง ไม่ปล่อยวาง หรือเป็นคนที่ยอมแพ้ต่อชีวิต ความจริงคือเขาป่วยด้วยโรคชนิดหนึ่งจริงๆ เหมือนคนทุกคนที่อาจจะป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง”
นี่คือคำกล่าวของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ที่เป็นทั้งนักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่า
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวช (psychiatric disorder) มีปัจจัยที่ทำให้เป็น 3 ส่วน คือ กาย คือพันธุกรรมและสมดุลของสารเคมีในสมองบางตัว ใจ คือจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก และ สังคม คือปัจจัยสภาพแวดล้อมรอบตัว
ถ้าสามส่วนนี้ไม่สามารถรักษาสมดุลไว้ได้ก็จะเกิดโรคซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม อารมณ์เศร้าเป็นสภาวะที่พบได้ในคนทุกคนด้วยสาเหตุต่างๆ กัน แต่อารมณ์เศร้าบางอย่างก็หายได้เองหรือดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากว่าอารมณ์เศร้า “มาก” ขนาดไหนที่เรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้า
หลายคนมีอารมณ์เศร้าชัดเจน แต่บางคนอาจจะไม่มี ส่วนใหญ่มีอาการต่างๆ นานาในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งในทางการแพทย์ หากมีอารมณ์เศร้ามากกว่า 6 เดือน ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพราะนั่นหมายความว่าอารมณ์เศร้าได้กลายเป็นโรคซึมเศร้า
วิธีสังเกตอาการของโรคซึมเศร้า
คุณหมอบอกว่าตัวบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรมที่เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ
- นอนไม่หลับอย่างรุนแรง โดยมีลักษณะหลับๆ ตื่นๆ บ่อยมาก และตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้อีกเลย
- สมาธิในการทำงานลดลงอย่างมาก ถึงระดับทำงานที่เคยทำไม่ได้
- มีความคิดฆ่าตัวตาย และบางครั้งความคิดฆ่าตัวตายนั้นชัดเจน ถึงระดับคิดวิธีที่จะทำหรือวางแผน เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ที่จะลงมือ
สำคัญที่ความเข้าใจและการยอมรับ
สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการนอกจากการรักษาจากแพทย์แล้ว คือต้องการให้คนรอบข้างเข้าใจและยอมรับความเจ็บป่วยที่เขาเผชิญว่าเขาป่วยจริง ไม่ได้คิดไปเอง และไม่ได้อ่อนแอหรือคิดมากแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คนรอบข้างยังสามารถสังเกตอาการของคนใกล้ตัวที่มีแนวโน้มว่าจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น
- ผู้ป่วยมักจะซึมลงกว่าที่เคย เคลื่อนไหวเชื่องช้า มีอารมณ์เศร้าบ่อยๆ โดยที่คนภายนอกมองดูแล้วก็ไม่มีสาเหตุ หรือถึงมีสาเหตุก็ดูไม่ได้สัดส่วนกับอารมณ์เศร้าที่มี
- ผู้ป่วยบางรายไม่มีอารมณ์เศร้าที่ชัดเจน แต่มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวง่าย ไปจนถึงขี้โมโห
- ผู้ป่วยดูเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิทำงาน จนกระทั่งบางครั้งดูเหมือนไม่ตั้งใจทำงาน
- ผู้ป่วยเบื่อกิจวัตรที่เคยทำ ไม่สนใจเรื่องที่เคยสนใจหรือเคยชอบ
- มากกว่านี้คือเบื่อผู้คน เบื่องาน เบื่อโลก และเบื่อชีวิต
ระยะเวลาในการรักษา
โดยทั่วไปแล้ว จิตแพทย์ใช้เวลาไม่นานนักในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจากวันที่มีอาการหนักจนกระทั่งดีขึ้นบ้าง และดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
ในรายที่อาการไม่มาก สามารถดีขึ้นได้หลังจากวันที่เริ่มต้นรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน แต่กระบวนการกินยาต้านอารมณ์เศร้าให้ครบตามกำหนดจะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี สำหรับการเจ็บป่วยครั้งที่หนึ่ง
และอาจจะนานกว่านี้สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติพันธุกรรมชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการรักษาโรคซึมเศร้า ยาต้านอารมณ์เศร้ามักทำให้ง่วง ทำให้ความง่วงซึม เฉื่อยชาที่เกิดจากตัวโรคเองแย่ลงไปอีก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงไม่สามารถผ่านช่วงแรกของการรักษา ซึ่งหากผู้ป่วยอดทน รอเวลาที่ร่างกายจะชินยาต้านอารมณ์เศร้าซึ่งมักใช้เวลา 7-14 วัน ความง่วงจากยาจะลดลง
ในขณะเดียวกันความง่วงซึมเหนื่อยหน่ายจากตัวโรคเองจะดีขึ้น เพราะยาเริ่มออกฤทธิ์ในการรักษา
สุดท้ายสิ่งที่คุณหมอเน้นย้ำคือ ผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการชัดเจนและมีความรุนแรงระดับหนึ่ง อาการจะไม่หายไปเองง่ายๆ ที่สำคัญจะไม่หายด้วยการทำใจหรือปล่อยวาง ไม่หายด้วยการนั่งพูดคุยความทุกข์ในใจระบายความเครียดกับเพื่อนหรือญาติ
แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการการรักษาจากจิตแพทย์นั่นเอง
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)