นิตยสาร โอ-ลั้นลา
คอลัมน์ O-Health
ชีวิตจริงของสาวออฟฟิศท่านหนึ่ง เธอใช้ชีวิตกับการสวมส้นสูงมานานนับ 30 ปี แล้ววันหนึ่งก็ต้องไปหาหมอเพราะปวดหลัง ปวดเอว ปวดเข่า แถมหมอยังบอกว่าเธอมีอาการกระดูกเท้าผิดรูป ทำให้เกิดความเสียหายของระบบประสาทอีกด้วย
ในปัจจุบันการใส่รองเท้าที่คำนึงถึงความสวยงามเพียงอย่างเดียวทำให้แพทย์พบว่ามีผู้ป่วยมาปรึกษาด้วยปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับเท้าเพิ่มมากขึ้น
รองเท้าเรื่องเล็ก - ที่ไม่เล็ก
พญ.นันทวัน คูนลินทิพย์ ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าว่า สรีระเท้าของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับขนาดและรูปเท้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“ตอนเด็กๆ เราจะไม่มีอุ้งเท้า เท้าจะแบนเพราะมีไขมันที่เท้า จนอายุ 5-8 ขวบ จะเห็นอุ้งเท้าชัดขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย อุ้งเท้าจะแบนลง หน้าเท้าบานขึ้น ผิวหนังและเนื้อเยื่อบางลง ทำให้ง่ายต่อการบาดเจ็บ
“ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่มักจะเป็นผู้สูงอายุ หากเป็นเบาหวานมานานเกิน 10 ปี หรือควบคุมอาการเบาหวานได้ไม่ดี จะมีภาวะปลายประสาทเสื่อม ส่งผลให้เท้าชา เวลาเกิดการบาดเจ็บเป็นแผลจะไม่รู้ตัว เป็นแผลง่าย หายช้า
“นอกจากนั้นกล้ามเนื้อเท้าก็จะลีบฝ่อจากอุ้งเท้าที่เคยอวบอูม อุ้งเท้าก็จะผอมลง จากอุ้งเท้าที่แบนก็จะมีอุ้งเท้าสูงขึ้น ดังนั้นการเลือกรองเท้าสำหรับคนกลุ่มนี้จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ”
นอกจากผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ผู้ที่มีภาวะความผิดปกติของเท้าก็จำเป็นต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสมเช่นกัน เช่น ภาวะเท้าแบน มีปัจจัยเสี่ยงมาจากน้ำหนักตัวเยอะ เดินติดต่อกันนานๆ หรือมีแรงกระแทกลงที่เท้าหนักๆ ภาวะพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ (รองชํ้า)
โดยธรรมชาติของเท้าจะมีพังผืดเกาะที่ส้นเท้าไปจนถึงนิ้วเท้า หากมีการกระชากหรือเกิดการอักเสบจะทำให้เจ็บได้ ภาวะหัวแม่โป้งเท้าบิดผิดรูปหรือปูด มักพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักมาจากการสวมรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาตั้งแต่วัยสาวทำให้เกิดการอักเสบ
การเลือกรองเท้าที่ดีต่อสุขภาพ ควรพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง เราไปดูข้อมูลนี้กัน
ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวาน
- นุ่มสบาย/กระชับ/ไม่บีบรัด/ไม่เสียดสี ไม่มีตะเข็บด้านใน/ระบายอากาศได้ดี
- รัดส้น/อุ้มส้น
- ตามรูปทรงกว้างแคบของเท้า
- พื้นด้านในไม่ลื่น/นุ่ม/ยืดหยุ่น/มีส่วนเสริมรองรับอุ้งเท้า ซึ่งสามารถถอดได้ พื้นรองเท้าด้านนอกเกาะพื้นได้ดี
- รองเท้าที่ดีต่อสุขภาพ ปลายรองเท้ากับส้นไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้ว และให้ความยาวของรองเท้าเท่ากับนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดแล้วบวกเพิ่ม 1/2 นิ้ว
ภาวะเท้าแบน
- ส่วนที่เน้นคือ รัดส้น/อุ้มส้น เพื่อให้ส่วนเสริมกระชับกับเท้า
- ส่วนที่เน้นคือ มีส่วนเสริมรองรับอุ้งเท้า
ภาวะพังผืด ฝ่าเท้าอักเสบ
- ส่วนที่เน้นคือ ส่วนเสริมรองรับอุ้งเท้าเพื่อให้น้ำหนักตัวถ่ายเทไปทั่วเท้าได้มากขึ้น และวัสดุตรงส้นต้องนุ่ม/ยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทก
ภาวะหัวแม่โป้งเท้าบิดผิดรูปหรือปูด
- ส่วนที่เน้นคือ เลือกวัสดุด้านบนหน้ารองเท้าที่เป็นผ้ายืด เพื่อป้องกันไม่ให้ปุ่มกระดูกโดนเสียดสี
- ส่วนที่เน้นคือ ปลายรองเท้าหรือส่วนหน้ารองเท้าต้องกว้าง ให้ปุ่มกระดูกหัวแม่โป้งโผล่พ้นรองเท้า
เลือกรองเท้าให้เหมาะสมตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดปัญหาสุขภาพเท้าในวันข้างหน้า
รองเท้าเพื่อสุขภาพจากต่างประเทศมีหลากหลายยี่ห้อ แต่วันนี้มีรองเท้าจากงานวิจัยของคนไทยในนาม “WellStep” ให้คนรักสุขภาพได้ซื้อหาเรียบร้อยแล้ว
ผศ. พญ.ศิริพร จันทร์ฉาย รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของรองเท้าเพื่อสุขภาพว่า ในระยะเริ่มต้นเป็นการผลิตรองเท้าแบบเฉพาะราย เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเท้าและเท้าเบาหวาน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2552 รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ได้ทำการวิจัยเรื่อง “ปัญหาสุขภาพเท้าและรองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ” โดยมี ผศ. พญ.ศิริพร จันทร์ฉาย, รศ. (พิเศษ) พญ.ณัฏฐิยา ตันติศิริวัฒน์, คุณจิรายุ เทียมประสิทธิ์ และทีมงานหน่วยกายอุปกรณ์เป็นคณะวิจัย
ผลการวิจัยทำให้ทราบขนาดและสัดส่วนเท้าของผู้สูงอายุชาวไทย เพื่อนำมาทำหุ่นต้นแบบสำหรับผลิตรองเท้าเพื่อสุขภาพของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีคุณสมบัติได้สัดส่วนตามสรีระของผู้สูงอายุ พื้นในรองเท้านุ่มสบาย มีความยืดหยุ่น มีส่วนเสริมเพื่อรองรับอุ้งเท้า
ผู้สนใจสามารถแวะไปลองสวมใส่ ขอคำแนะนำและเลือกซื้อได้ที่ ชั้น 1 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ซึ่งเป็นอาคารศูนย์การแพทย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการครบวงจร ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-15.00 น. หรือโทรศัพท์ติดต่อ 06-2987-9196
โดยราคารองเท้าอยู่ที่ประมาณ 650-2,999 บาท
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)