วันนี้ภาพความทรงจำในอดีตก็หวนกลับมาเคลื่อนไหวใหม่ เมื่ออดีตเงือกสาวเจ้าสระ อาย-ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร ตัดสินใจกลับคืนสู่ลู่ว่ายอีกครั้งในทัวร์นาเมนต์ผู้สูงอายุชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Open Masters Championships)
บรรยากาศเก่าๆ ผู้คนที่เคยคุ้น โดยเฉพาะภาพมารดาวัยกว่า 80 ที่มีความสุขกับการได้กลับมาเชียร์ลูกสาว รวมถึงกำลังใจเพิ่มขึ้นมาจากสมาชิกในครอบครัวตนเอง ลูกสาววัยพรีทีนกับสามี ล้วนนำความชุ่มชื่นและพลังใจมา
คืนสังเวียนในวัยกลาง 40 และภาพที่ถูกหวนมา
เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ในอดีตเริ่มย้อนความถึงที่มาของการกลับคืนสระในครั้งนี้ว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อประมาณสักสองปีที่แล้วที่หันมาเอาจริงเอาจังกับการวิ่ง แต่ด้วยติดนิสัยนักกีฬาที่ชอบทำอะไรแบบสุดโต่ง คลั่งไคล้การทำลายสถิติ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเท้าจนต้องพัก ซึ่งระหว่างนี้หากต้องการรักษากำลังไว้ไม่ให้แรงตก เธอต้องกลับมาว่ายน้ำตามคำแนะนำจากคุณหมอ และนั่นทำให้เพื่อนนักว่ายน้ำชักชวนให้ร่วมทีมโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ลงแข่งว่ายน้ำผู้สูงอายุชิงแชมป์ประเทศไทย ในช่วงรุ่นอายุ 45-50 ปี (เกณฑ์อายุนับตั้งแต่ 25-100 ปี)
“ที่จริงก่อนหน้านี้เพื่อนชวนทุกปีนะ แต่เราก็...อืม ว่ายน้ำอาวุโส...ชื่อหดหู่เนอะ (ยิ้ม) แต่พอได้กลับมาว่ายอีกทีจริงๆ ก็รู้สึกว่าไม่ยากนี่ ก็เลยตอบตกลง ทำให้เราได้กลับมาแข่งขันในบรรยากาศเดิมๆ เหมือนสมัยเป็นนักกีฬาทีมชาติ เพื่อนๆ กลุ่มเดิมจากโรงเรียนเก่า สระว่ายน้ำคือการกีฬาแห่งประเทศไทยที่เมื่อก่อนเราเคยไปแข่ง เคยไปฝึกซ้อม ไปนอนอยู่ที่นั่น เฮ้ย ทุกอย่างเหมือนเดิมเลยนะ ที่สำคัญเราพาแม่ไปดูด้วย ซึ่งชอบมาก รู้สึกดี เพราะแม่เราตื่นเต้นมาก แล้วหน้าตาเขามีความสุข ได้เจอพวกผู้ปกครองในรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้ไปเจอโค้ชที่สนิทกันมาก่อน โค้ชคนแรก โค้ชที่ทำให้เราโด่งดังขึ้นมา เป็นบรรยากาศเดิมๆ ที่ทำให้เขามีความสุข นั่งมองโน่นมองนี่ สนุกกับการที่ได้เห็นเราว่ายน้ำอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเขามีความทรงจำเก่าๆ แล้วภาพจำเมื่อก่อนมันกลับมาเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
“ช่วงแข่งขันมีว่ายน้ำสองวัน แม่มาดูทั้งสองวัน เริ่มตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น นั่งยันเลิก เหนื่อยก็พัก เอาหมอนมาเอนหลังหลับบ้างอะไรบ้าง แล้วคนแก่น่ะ เดี๋ยวๆ ต้องเข้าห้องน้ำอีกแล้ว (หัวเราะ) ก็ต้องหอบหิ้วปีนขึ้นปีนลงบันไดจูงกันไป ระหว่างทางเจอผู้ปกครองกลุ่มอื่นก็แวะทักทายกันไปตลอดทาง กว่าจะถึงห้องน้ำนานเชียวค่ะ เพราะแม่อายุเกือบจะมากที่สุดแล้วในกลุ่มนั้น แต่แม่ก็เป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง เป็นคนที่ไม่อยู่เฉย ทำอะไรเร็ว อะเลิร์ต แอ็กทีฟตลอด นั่นคือรุ่นแม่
“ส่วนรุ่นลูก เขาไม่เคยเห็นว่าตอนเราแข่งเป็นยังไงเคยให้ดูวิดีโอ แต่ก็ไม่เคยใส่ใจ เพราะเป็นวัยรุ่นแล้วเราก็เลยให้เขาได้มาเห็น มาเชียร์แม่ สามีก็มาเชียร์ เป็นบรรยากาศที่เหมือนสร้างพลังใจสร้างแรงให้กับคนในยุคแม่เรา ส่วนลูกก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าเราไม่ได้กลับมาว่ายนน้ำ มันไม่มีทางที่เขาจะได้เห็นภาพแบบนี้อีก เราก็เลยรู้สึกว่ามันเหนื่อยหน่อย แต่ก็คุ้ม”
มีวันนี้เพราะครอบครัวสนับสนุน
ความฝันอยากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติเริ่มจุดประกายจากภาพประทับใจในตัวเหล่ารุ่นพี่นักว่ายน้ำโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ที่ได้ใส่เสื้อสามารถหรือเสื้อทีมชาติติดธงไตรรงค์ออกไปรับประกาศเกียรติคุณหน้าเสาธง ทำให้อยากคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำกับเขาบ้าง จึงเริ่มจากการแข่งกีฬาภายในของโรงเรียน ก่อนขยับมาเป็นแชมป์ในรุ่นอายุ และเป็นตัวแทนทีมชาติในที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าความฝันอาจไปต่อไม่ได้ไกลหากไม่มีแรงสนับสนุนเต็มที่จากครอบครัว
“พ่อแม่สนับสนุนเต็มที่ เรารู้ว่าเขาเหนื่อยนะ แม่ต้องตื่นขึ้นมาทำกับข้าว เตรียมเสื้อผ้า และเราจะเป็นคนเดียวที่ไม่ต้องทำอะไรเลย กินแล้วนอน ตื่นไปว่ายน้ำกลับบ้านก็นอน มีความสุขมาก เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นนักกีฬา เพราะฉะนั้นเราก็จะมีระเบียบวินัยอยู่แล้ว ดังนั้
ตอนเด็กๆ จึงทำงานบ้านอะไรไม่เป็นเลยนะกระทั่งแก่ตัวมาถึงรู้สึกว่าเราควรต้องเป็นบ้าง (ยิ้ม)
“เวลาที่ต้องไปแข่งเมืองนอก แม่ก็จะลางานไปกับเราด้วย ตามไปกับแก๊งผู้ปกครองเพื่อไปเชียร์เราที่ขอบสระ เพราะเมื่อก่อนตอนอายุ 14 นี่ถือว่ายังเด็กนะ ตอนเราไปว่ายซีเกมส์ครั้งแรก พอเราแตะขอบสระ เรามองหาแม่ เรียกแม่ แม่ก็จะโบกมือ แฮปปี้ เป็นโมเมนต์ที่เรายังจำได้เป็นภาพจำที่เป็นความสุขของครอบครัว ส่วนป๊าถึงไม่ได้ไป แต่ก็ส่งแม่ไปดูแล การเป็นนักกีฬาว่ายน้ำคือความภาคภูมิใจของครอบครัว
“แล้วป๊าจะมีความพราวด์ในตัวเรามาก เจอใครที่ไหนเขาก็จะคุย...นี่ลูกป๊า เป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ เล่าประวัติเราเท้าความตั้งแต่เราได้เหรียญซีเกมส์กี่เหรียญจากโรงเรียนอะไร แล้วพอจบมาทำงานก็ยังมีสรรพคุณที่ช่อง 7 อีกนะ ด้วยความที่เป็นนักเจรจา เคยเป็นตัวแทนยา เขาก็จะพูดจาด้วยประโยคสวยงาม ส่วนเราจะชอบเบรก เขินไง ป๊าๆ เบาๆ เขาไม่ได้อยากฟัง ป๊าก็ย่อความค่ะ ซึ่งจริงๆ เราไม่ควรไปเบรกป๊าเนอะ (หัวเราะ) มันคือความสุขของเขาที่ได้บอกให้ทุกคนฟัง”
ทุกการกระทำคือคำสอน
กรออดีตกลับไปอีกนิดสมัยยังเป็นเด็กหญิงศรสวรรค์ เธอเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า เติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่โล้สำเภากันมาจากไหหลำ มาตั้งรกรากทำโรงเลื่อยย่านบางโพธิ์ และเป็นที่ที่พ่อได้พบกับแม่ ก่อนจะแต่งงานกันแล้วแยกครอบครัวออกมาอยู่บ้านที่จรัลสนิทวงศ์ ด้วยความที่เป็นลูกหลง อายุห่างจากพี่สาวสองคนหลายปี ทำให้เธอโตไม่ทันรุ่นปู่ย่า แต่สายสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่ยังแน่นเหนียว เพราะมีบิดาคอยเชื่อมโยงผ่านธรรมเนียมพิธีการแบบจีน
“ความทรงจำวัยเด็กยู่กับแม่เยอะ เพราะป๊าทำงานเป็นผู้แทนขายยา ต้องขึ้นเหนือล่องใต้ ไปต่างประเทศ เดินทางตลอด กลับมาบ้านก็จะมีของฝากจุ๊กจิ๊กมาให้ ภาพจำตอนเด็กของเราคือ ป๊าดุ เป็นพ่อที่เข้มงวดร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องการให้ลูกมีระเบียบอย่างมาก มีอะไรเขาก็จะเรียกเพื่อที่จะดุ นั่งดุเราได้เป็นชั่วโมง เราก็ไม่กล้าเถียง ตอนลูกทุกคนเข้านอน ป๊าจะเข้ามาในห้องแล้วจัดระเบียบให้ทุกคนนอนท่านี้นะ เออมีระเบียบยันท่านอน (หัวเราะ)
“และป๊าจะแนวเชลล์ชวนชิม ทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์จะพาครอบครัวไปกินอาหารร้านอร่อย เวลาซื้อทุเรียนมา เราก็จะเป็นมือช่วยป๊า ทำให้ เราสามารถปอกทุเรียนได้ตั้งแต่เด็กๆ เรื่องไปเชงเม้งเราก็เซียน เพราะเราเป็นคนที่นั่งอยู่กับป๊าตลอด ได้เรียนรู้ขั้นตอนวิธีการจัดโต๊ะ ตั้งโต๊ะไหว้ วิธีพับ การเผากระดาษเงินกระดาษทอง จึงเป็นคนที่ใกล้ชิดและได้รับการสืบทอดในส่วนของพิธีกรรมต่างๆ มาจากป๊า เพราะรู้ยังไงก็ต้องมีลูกคนหนึ่งทำ ภาพที่เราเคยเห็นป๊านั่งอยู่ริมบ่อปลา นั่งเขี่ยกระดาษเงินกระดาษทองในกะละมังเผาพลิกไปพลิกมา ทุกการกระทำเราจำได้หมด
เป็นภาพชัดมาก เพราะทำทุกปี มันก็คือความทรงจำน่ะ ดังนั้นสิ่งที่ป๊าเคยทำไว้ เราก็ทำเหมือนเดิม นึกถึงหน้าป๊าว่า ถ้าเราทำ เขาจะแฮปปี้”
แม้วันนี้เป็นเวลาล่วงเข้าปีที่ 4 แล้วที่ผู้เป็นพ่อจากไปในวัยกว่า 80 ด้วยโรคมะเร็ง ท่ามกลางความรักและการดูแลอย่างดีที่สุดของครอบครัวจนถึงวาระสุดท้าย แต่สิ่งที่บ่มเพาะปลูกฝังก็ยังหลอมรวมอยู่ในตัวตนของคนเป็นลูก “เรื่องความกตัญญูรู้คุณคือสิ่งที่ป๊าเน้น ปลูกฝังมาตลอด ใครเคยมีบุญคุณกับเรา เราก็ต้องดีกับเขา เราทำอะไรให้ใคร เราอยากให้เขาทำอะไรกับเราแบบไหน เราก็ควรทำกับเขาแบบนั้น เราดีกับเขา เขาก็ดีกับเรา นี่คือสิ่งที่ก้องเข้าหัวมาตลอด”
เช่นเดียวกันกับความใส่ใจดูแลทุกข์สุขความเป็นอยู่ที่คนเป็นแม่มีให้ทุกคนในบ้านนั้นก็สะท้อนกลับมาเต็มๆ ในนิสัยใจคอของลูกสาวคนสุดท้องอย่างศรสวรรค์ “เราจะตัวติดกับแม่มากกว่าพี่สาวอีกสองคนที่เขาอายุไล่กัน ส่วนเราเป็นลูกหลง แม่ก็จะพาเราปุเลงๆ ไปส่งเราที่โรงเรียนก่อนแล้วค่อยไปทำงาน แม่เป็นข้าราชการสังกัด กทม. จะคอยดูแลเราเรื่องอาหารการกิน การตื่น การนอน การเป็นนักกีฬา แต่ก็ไม่ได้จริงจังซีเรียสมากนัก ถ้าเทียบกับพ่อแม่นักกีฬาคนอื่นๆ ที่ต้องคอยจับเวลาลูก วิ่งหาโค้ช แต่แม่เราจะมาปล่อยลูกไว้ที่สระ แล้วก็ไปซื้อกับข้าวที่ตลาดกรุงธน เลิกเสร็จก็มารับ เขาจะใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ห่วงว่าลูกกินดีไหม นอนดีไหม เรียนหนังสือเป็นยังไงมากกว่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี ไม่เครียด ดังนั้นสิ่งที่เราได้จากแม่น่าจะเป็นเรื่องความรัก ความเอาใจใส่ในทุกๆ รายละเอียดของลูกทุกคน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะไม่มองข้าม ทำให้รู้สึกว่าตัวเองก็มักไปยุ่งวุ่นวาย ใส่ใจในครอบครัวกับทุกคนเหมือนแม่”
อย่างไรก็ตาม เวิร์กกิ้งมัมคนเก่งยอมรับว่า ความมีระเบียบในครอบครัวที่ได้รับการปลูกฝังมา หากถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แต่ก็ไม่อยากให้สิ่งนั้นกลายเป็นกรอบที่ทำให้ลูกอึดอัด
“ต้องยอมรับว่าจริงๆ เราไม่ได้หยิบจับสิ่งดีๆ ที่พ่อแม่ให้มาใส่ในครอบครัวตัวเองเท่าไร ถ้าเราใส่ความเป็นระเบียบให้กับลูกแบบ 100% ใส่ความดุขึ้นไปอีกสัก 60% ลูกก็น่าจะมีระเบียบกว่านี้ แต่ด้วยความที่เราไม่อยากให้ลูกรู้สึกอึดอัดเหมือนที่เราเคยโดนอย่างนั้นมา ฉะนั้นเราเลยสบายๆ กับลูก ค่อนข้างปล่อยปละละเลย อาจจะใช้คำนี้ก็ได้ จนตอนนี้ลูกสาวก็เลยไม่ทำอะไรที่ควรจะเป็น หรืออาจจะไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไรแต่ตอนนี้มันก็ไม่ทันแล้ว
“แต่อย่างน้อยลูกน่าจะเห็นวิธีที่เราดูแลแม่ คือคุณยายของเขา บอกเขาเสมอว่า ยายคือคนที่เลี้ยงแม่มาตั้งแต่เด็กๆ แม่ไม่ได้ทิ้งยายไปไหนนะ แม่ดูแลยาย แล้วก็พูดลอยๆ หวังว่าวันหนึ่งหนูจะดูแลแม่วันที่แม่แก่ๆ เขาก็อื้ม พยักหน้าทีนึง ก็ไม่รู้จะฝากผีฝากไข้ได้หรือเปล่า (ยิ้ม) ทุกเช้าก่อนออกจากบ้านไปส่งที่โรงเรียน เราก็จะบอก เอมมี่เปิดกระจก บ๊ายบาย รักยายนะ รักแม่นะ
ทุกครั้งที่กลับมาบ้านก็กอดยาย หอมยาย เราไม่รู้ว่าเขาจะเชื่อหรือรับรู้ในสิ่งที่เราทำมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เขาเห็นว่าเราปฏิบัติยังไง พูดให้ฟัง ให้เขาได้สัมผัส ทำให้เขาเห็นว่าเราปฏิบัติแบบไหนบ้าง เพราะเราเชื่อว่าสิ่งนี้มาจากการที่ป๊าเคยทำให้เราเห็นเหมือนกัน เช่นเดียวกันเอมมี่คงเห็น และโตขึ้นเขาก็น่าที่จะทำต่อจากเรา”
ภารกิจหลักของชีวิต...เป็นลูกสาวและเป็นแม่
แม้ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของงานและวิถีประจำวันทำให้ผู้ประกาศข่าวสาวต้องขับรถเทียวไปเทียวมาและจัดสรรเวลาให้ลงตัวระหว่างสองบ้านที่จรัลสนิทวงศ์กับย่านเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา แต่แน่นอนว่าทั้งหมดคือสิ่งที่เต็มใจทุ่มเทเพื่อสองภารกิจหลักของชีวิตในการเป็นลูกสาวของคุณแม่วัยกว่า 80 และคุณแม่ของลูกสาววัยย่างเข้าวัยรุ่น 14 ปี
“ถ้าให้น่้ำหนัก ต้องดูว่าช่วงไหนใครน่าเป็นห่วงกว่ากันตอนนี้เราห่วงเรื่องของแม่มากกว่าลูกนะ เพราะการดูแลแม่ที่มีอายุเยอะๆ เราว่าเซนซิทีฟกว่าลูกที่กำลังเป็นสาว เพราะลูกเขาอยู่ใกล้สายตา เรายังได้เห็น ได้คุย มีอะไรเราก็พยายามจะคุยกับเขา แต่สำหรับแม่ ด้วยความที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน บางทีเราไม่เห็นในสิ่งที่เขากิน สิ่งที่เขาทำ
“สำหรับเราเองถ้าให้คะแนนการดูแลแม่ อาจจะยังไม่ได้ 100% เท่าที่ต้องการ เพราะถ้าเต็มร้อย หมายความว่าเราต้องอยู่กับเขาให้ได้ตลอด ต้องสามารถพาเขาไปไหนได้ด้วยตัวเอง ถ้าเราอยู่บ้านแม่ เราจะเป็นคนทำอะไรให้เขาเองหมด แต่ตอนนี้ก็จับเอาเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญ อะไรที่เขาต้องการด่วน อะไรที่มีความสำคัญกับสุขภาพ เช่น พาแม่ไปหาหมอไปตรวจร่างกาย เพราะมีโรคประจำตัวคือเบาหวาน เราก็เลือกที่จะให้ความสำคัญกับตรงนั้นก่อน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ถ้าเราสามารถเก็บได้หมดก็จะแฮปปี้
“แต่ตอนนี้มีพี่สาวคนโตมาอยู่ด้วยกันกับแม่ ทำให้ยังไม่ห่วงเขามากเท่าตอนอยู่กับแม่บ้านแค่สองคน และเวลาอยู่บ้านจะมีแม่บ้านที่ไว้ใจได้คอยประกบตลอด แต่แม่ก็ประกบแม่บ้านตลอดเหมือนกัน ตื่นเช้ามาเอาละกวาดใบไม้ ต้องมานั่งแยกผ้า ซักผ้าก็ต้องไปช่วยขยี้ ผ้าปั่นเสร็จก็แย่งเอาออกมาจากตู้ สะบัดตาก ซึ่งจ้างแม่บ้านมาเงินเดือนสูงนะ แล้วแม่มาแย่งทำหมดเลยน่ะ ต้องคอยปราม กลัวเขาเหนื่อย แต่หลายๆ คนก็บอกว่าปล่อยเขาทำเถอะ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วจะหงอย ดังนั้น เวลาไปหาที่บ้านทีไรจึงเห็นภาพที่คุ้นเคยว่าแม่จะยุ่ง ทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา
“แล้วถ้าพาออกไปข้างนอกบ้าน แม่จะมีความสุขมาก ชอบไปซูเปอร์มาร์เก็ต ชอบซื้อของ ซื้อหมู ซื้อเนื้อซื้อไก่ แล้วก็จะเข็นรถเอง หยิบโน่นหยิบนี่ ถ้าใครมีผู้ใหญ่อายุขนาดนี้ที่ต้องดูแล ต้องพาเขาไปไหนบ้างค่ะ ไม่อย่างนั้นเขาจะหงอย และที่จริงผู้ใหญ่วัยขนาดนี้มักปากไม่ตรงกับใจ บอกลูกหลานว่าไม่เป็นไรไม่ต้องมาหา แต่จริงๆ น่ะอยากให้มา อยากให้กอดรัดฟัดเหวี่ยง แล้วถ้าเป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เขาจะไม่บอกจนรู้สึกว่าจะไม่ไหว ดังนั้น เราจะบอกแม่ทุกครั้งว่าเป็นอะไรนิดๆหน่อยๆ ต้องบอก เราไม่อยากที่จะมารักษาตอนมันสายไปแล้ว
“ทุกวันนี้มีอะไรก็นึกถึงตลอด อะไรที่แม่ชอบมากอย่างมะขามเทศ มะยงชิด เห็นปั๊บต้องซื้อ แล้วต้องรีบเอากลับมาให้ หรือถ้าเรารู้ว่าอะไรที่มีประโยชน์ ข้าวไรซ์เบอรี่ดีนะ ลดน้ำตาล เราก็จะซื้อมาให้แม่บ้านหุงให้อย่างกาแฟ จากเมื่อก่อนต้องมีครีมเทียม มีน้ำตาลชงเข้มเชียว พอเรามาดูแลเรื่องสุขภาพแม่ เราก็จะเอากาแฟไม่มีน้ำตาลมาตั้งเอาไว้ แม่ อันนี้ดี (เน้นเสียง) อันอื่นค่อยๆ เขี่ยออก เพราะการตัดน้ำตาลออกจากวงจรชีวิตจะดีกับสุขภาพ เดี๋ยวนี้แม่ก็เริ่มกินอะไรที่ไม่มีน่้ำตาล แต่ก็มีแอบๆ เปิดตู้เย็น ไอศกรีมเต็มตู้เลยซื้อให้หลาน (ยิ้ม) ก็พยายามไม่ให้ตึงเกินไป ไม่อย่างนั้นสุขภาพจิตเขาก็เสีย แต่ก็หย่อนไม่ได้เลยเหมือนกัน”
ครอบครัวเติมเต็มชีวิต
“สำหรับเรา ครอบครัวคือองค์ประกอบที่เติมเต็มในชีวิต ครอบครัวประกอบด้วยพ่อแม่ ก็คือคนที่เราต้องเทิดทูนดูแล สามีหรือภรรยาก็คือคนที่เติมเต็มชีวิต และลูกก็คือจิ๊กซอว์ทั้งหมดที่มันสำคัญที่สุด ทุกอย่างมันขาดการใส่ใจคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เราดูแลพ่อแม่ พ่อแม่ดูแลเรา เราดูแลลูก แล้ววันหนึ่งถ้าเราพึ่งพาลูกได้ มันก็จะสะท้อนกลับมาเอง ซึ่งตรงนี้อยากให้ทำให้เป็นวัฏจักร ซึ่งไม่รู้นะว่าวันหนึ่งลูกเขาจะทำหรือเปล่า แต่เราทำให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ลูกพึงกระทำกับพ่อแม่ และควรที่จะเป็นแบบนี้สืบทอดกันไป จึงจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ประกอบไปด้วยความรักและเอาใจใส่กันมากที่สุด บางทีอาจจะมีหลุด มีแว้ดๆ ใส่กันบ้าง ผู้ใหญ่ บางทีนิดๆ หน่อยๆ ก็งอนละ เราเองก็ยังมีข้อเสียเยอะสำหรับแม่ ต้องกดอารมณ์ให้ใจเย็นกว่านี้ แต่สุดท้ายก็ขอให้คุยกัน บางเรื่องช่างมันบ้างก็ได้ ทุกอย่างอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้มีความรัก ความเข้าใจกันให้มากที่สุด
“อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่มากๆ อย่านึกแต่เรื่องครอบครัวของเราเอง เพราะถ้าเทียบเวลาในชีวิตเขา มีเหลือไม่เยอะหรอก ในเมื่อเขาเป็นคนที่ดูแลเรามาตั้งแต่เด็ก คนเหล่านี้รักเราโดยไม่มีเงื่อนไขเลย เพราะฉะนั้นเราควรที่จะเอาใจใส่ดูแลเขาให้เต็มร้อย อย่าให้รู้สึกว่าฉันน่าจะทำอย่างนู้นอย่างนี้แล้ว นึกเสียดาย ทำไปก่อนที่มันจะสาย อยากให้นึกถึงเวลา เรามีความสุข เราก็อยากให้คนที่เป็นพ่อเป็นแม่เราเองมีความสุขบ้าง มีอะไรเราก็นึกถึงเขาก่อน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ สมมติเขาพูดมาว่าอยากกินแตงโม แล้วแตงโมไปอยู่หน้าเขานี่ เขาจะมีความสุขขนาดไหน ยิ่งคนแก่ยิ่งต้องการความใส่ใจ เพราะฉะนั้นใส่ใจคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย อย่าให้รู้สึกว่าเราเสียดายที่ยังไม่ได้ทำอะไร”