นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Share & Care
เตี่ยเป็นผู้นำครอบครัวที่มีความเด็ดขาด พูดน้อย มั่นใจในตัวเอง ดูแลทุกเรื่องในบ้าน ในช่วงแรกที่เตี่ยเริ่มเป็นอัลไซเมอร์ อาการไม่ชัดมาก เริ่มต้นจากมีอาการหลงลืมบ้าง ถามซ้ำๆ หรือพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ บ้าง แต่ลูกๆ ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ เพราะตอนนั้นเตี่ยก็อายุ 80 แล้ว
มาเริ่มรู้สึกว่าไม่ปกติจริงจังตอนที่เตี่ยบอกว่ามีคนจะมาทำร้าย ซึ่งไม่ว่าจะช่วยอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ และพาลโกรธคิดว่าเป็นพวกเดียวกับคนที่จะมาทำร้าย
ปัญหารายวันช่วงนั้นคือของในบ้านหาย ดิฉันต้องทำตัวเหมือนนักสืบ คอยหาว่าเตี่ยเอาของไปวางไว้ตรงไหนในบ้าน พออาการมากขึ้น เตี่ยเริ่มไม่ดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำ ไม่ล้างหน้าแปรงฟัน ต้องขอร้องว่า ถ้าไม่อาบน้ำ ก็ขอเช็ดตัวหรือไม่ก็ล้างเท้าให้แทน ซึ่งต่อรองสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
กลางคืนที่เตี่ยหลับไปแล้วต้องแอบถอดฟันปลอมออกมาล้างทำความสะอาดให้ เตี่ยเคยไม่อาบน้ำติดต่อกัน 7 วัน อ้อนวอนอย่างไรก็ไม่ยอมอาบ
จากนั้นเริ่มมีปัญหาการควบคุมการขับถ่ายทั้งหนักและเบา แต่ไม่ยอมใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ บางครั้งขับถ่ายเลอะเทอะแต่ไม่ยอมไปล้างทำความสะอาด
เมื่ออาการมากขึ้น ลูกหลานต้องเขียนชื่อและเบอร์โทรศัพท์ที่เสื้อเตี่ยทุกตัวเพราะบ้านติดถนนใหญ่ เตี่ยจะเดินออกจากบ้านไปตอนไหนก็ได้ เตี่ยเคยหายออกจากบ้าน ดูจากบันทึกกล้องวงจรปิดเห็นว่าขึ้นแท็กซี่ไป ตอนนั้นโทรหาพี่ๆ ทุกคนให้ออกตามหา รู้สึกใจหายที่สุดในชีวิต คิดว่าเราจะสูญเสียเตี่ยไปแล้ว
คิดสับสนไปมาแบบที่เห็นในข่าวว่าเตี่ยจะต้องกลายไปเป็นคนเร่ร่อนก็ยิ่งกลัว ตั้งใจว่าจะไปตามหาแถวบ้านเก่าที่ย้ายมา เพราะเคยอ่านเจอว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะกลับไปสถานที่เดิมที่คุ้นเคย
ผ่านไปพักใหญ่มีแท็กซี่มาจอดหน้าบ้าน แล้วเตี่ยก็ก้าวลงมา พี่โชเฟอร์บอกว่าผู้โดยสารให้ขับไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้บอกปลายทาง สุดท้ายเลยมาส่งที่เดิม ถือว่าเป็นโชคดีของพวกเรามากๆ ที่เตี่ยหายไปไม่นาน
ในช่วงแรกแม่เป็นคนผูกขาดเรื่องการดูแลเตี่ย ทำเองหมดไม่ยอมให้คนอื่นช่วย กลางคืนก็ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เอง เคยขอร้องแม่ว่าให้ผลัดกันนอนเป็นเพื่อนกับเตี่ยคนละวันก็ไม่ยอมเพราะความรักสามีและไม่อยากให้ลูกลำบาก
ด้วยความที่พักผ่อนน้อยและความเครียดสะสมจากการดูแลเตี่ย ปรากฏว่าปัจจุบันแม่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น และแถมโรคซึมเศร้ามาอีกโรค ทำให้ตอนนี้ดิฉันกลายเป็นผู้ดูแลหลักให้กับผู้ป่วยสองคนในเวลาเดียวกัน
งานดูแลผู้ป่วยเป็นงานที่ใช้พลังกายและพลังใจอย่างมาก ต้องรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วยและความคาดหวังจากคนในครอบครัว แรกๆ ก็รู้สึกว่าหนักหนาสาหัสมาก จนตอนหลังได้เรียนรู้ว่า ผู้ดูแลคนไข้ต้องไม่ลืมดูแลตัวเองด้วย
สมาชิกของครอบครัวอื่นที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลักก็ควรช่วยแบ่งเบาภาระ มาสลับสับเปลี่ยนดูแลแทนเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้ดูแลได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และคลายความเครียดบ้าง
ปัจจุบันนี้ ด้วยภาวะของโรคในวัย 91 ปี เตี่ยเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดไม่ได้ อาหารทุกมื้อต้องปั่นละเอียดและป้อนช้าๆ เพื่อป้องกันการสำลัก แต่ละมื้อต้องใช้เวลาป้อนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
เตี่ยยังพอเดินได้แบบต้องมีคนคอยประคอง ซึ่งเราต้องพาเตี่ยเดินทุกวันเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อลีบ เราคุยกันด้วยภาษากายและภาษาใจทุกวัน เวลาหลานๆ มาเยี่ยมที่บ้านก็จะสอนหลานให้ไปกอดอากงอาม่า
ถึงแม้ว่าวันนี้เตี่ยจะจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร แต่เชื่อว่าเตี่ยก็รับรู้ได้ถึงความรักที่ลูกๆ หลานๆ มีให้ การกอด การพูดคุย การนวดเบาๆ หรือแค่การจับมือก็ช่วยกระตุ้นการรับรู้และช่วยยืดระยะเวลาไม่ให้โรคแย่ลงเร็วจนเกินไป
การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ใช้แค่ความรักไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างสูง ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีคนมาช่วยดูแลเตี่ย แต่ในฐานะลูกที่เป็นผู้ดูแลหลักก็ยังต้องใส่ใจและหมั่นสังเกตการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น อารมณ์ ปริมาณอาหารที่กินแต่ละวัน การขับถ่าย คุณภาพการนอน
มีช่วงหนึ่งเตี่ยจะนอนกลางวันเยอะมากและสังเกตเห็นว่ามีแผลตามตัว มาสังเกตเห็นช่วงกลางคืนว่าเตี่ยนอนเกาทั้งคืนจนเป็นแผลถลอกเลือดออกซิบๆ เพราะโครงสร้างผิวของผู้สูงอายุจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ทำให้ผิวเก็บความชุ่มชื้นได้น้อยลง ผิวจึงแห้งมาก ต้องทาโลชั่นประจำ ซึ่งก็ทำเป็นปกติทุกครั้งหลังอาบน้ำ
แต่โลชั่นที่ใช้เข้มข้นไม่พอทำให้ต้องทาซ้ำบ่อยๆ เคยลองเปลี่ยนมาใช้โลชั่นแบบเข้มข้นทั้งของไทยและต่างประเทศ แต่ก็มีปัญหาเรื่องความเหนียวเหนอะหนะ ทาแล้วไม่สบายตัว เตี่ยก็นอนไม่หลับอีก ช่วงนั้นกลุ้มใจมากๆ
เมื่อตามหาโลชั่นในฝันไม่เจอ ก็เลยตัดสินใจใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาลองผลิตโลชั่นสูตรสาหรับผิวแห้งที่เนื้อครีมข้นแต่ซึมไวไม่เหนียวมาให้เตี่ยใช้ทดลองจนได้สูตรที่ทำให้ผิวเตี่ยไม่แห้งไม่คัน ไม่ต้องเกาจนเป็นแผล นอนหลับสนิทตลอดคืน ทำให้พักผ่อนได้เต็มที่
ส่งผลให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจดีอย่างน่าพอใจ จึงตั้งชื่อโลชั่นว่า ‘ปิติ’ และนำออกจำหน่าย เพื่อตั้งใจช่วยเหลือคนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน
ทุกวันนี้ เรามีเป้าหมายแค่ว่า ให้เตี่ยกินได้ ขับถ่ายได้ นอนหลับได้ แค่นี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้วในทุกๆ วัน
เภสัชกรหญิงรุ่งมิตร ชุนเฮงพันธุ์
เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว เคยทำงานในบริษัทยาแห่งหนึ่ง หลังจากที่คุณพ่อเริ่มไม่สบายจึงลาออกจากงานเพื่อดูแลทั้งคุณพ่อและคุณแม่ที่ชราภาพ และดูแลกิจการของครอบครัวด้วยใจเต็มร้อย
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)