นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Herb & Happiness
ที่ตั้งประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น เป็นเส้นทางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนชุกทั่วไป จึงถือว่าคนไทยโบราณเป็นชาวน้ำโดยแท้
อาหารไทยสมัยก่อนจะเป็นน้ำพริก ผักจิ้ม มีปลาเป็นเนื้อสัตว์หลัก พืชสำหรับปรุงรสในการประกอบอาหารคือ หอม กระเทียม ตะไคร้ ใบมะกรูด ขิง กระชาย เป็นต้น
ในยุค 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช อินเดียเป็นแหล่งปลูกเครื่องเทศที่สำคัญ ต่อมามีการอพยพโยกย้ายของชาวอินเดียสู่ประเทศไทย นำมาซึ่งพระพุทธศาสนา ระบบการแพทย์ มีการแลกเปลี่ยนการค้าและวัฒนธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการบริโภคสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อวัว ซึ่งมีกลิ่นสาบฉุน ทำให้วิถีการกินอาหารของคนไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น การดับกลิ่นคาวจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
เป็นที่มาของ 'เครื่องเทศ' เช่น ลูกผักชี ยี่หร่า กระวาน กานพลู พริกไทย และอีกมากมาย เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำพริกแกงที่ใช้ปรุงเนื้อสัตว์ เครื่องเทศยังมีคุณสมบัติช่วยย่อยเนื้อสัตว์ ช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ในที่สุดเครื่องเทศก็ถูกผสมผสานเข้าสู่ครัวไทย และกลายเป็นน้ำพริกแกง หลากหลายชนิดที่เราคุ้นเคยมานานนมนั่นเอง
พริกไทย รสเผ็ดซู่ซ่า
พริกไทยเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่ไม่เคยขาดจากครัวไทย จะทำโจ๊ก ข้าวต้ม แกงจืด ก็ต้องพรมพริกไทยป่นสักนิด จะชูรสให้ซู่ซ่าเข้มขึ้น แม้แต่อาหารแห้งก็ยังนิยมใส่ ไม่ว่าจะเป็นผัดซีอิ๊ว หรือราดหน้า ในน้ำพริกแกงแทบทุกชนิดต้องใส่พริกไทย ทั้งแกงเผ็ด พะแนง แกงคั่ว แกงมัสมั่น แม้กระทั่งแกงเลียง
ชาวต่างชาติเรียกพริกไทยว่า Pepper ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper nigrum L. ชื่อแรกมาจากชื่อวงศ์ Piperaceae ส่วน nigrum เป็นภาษาละตินแปลว่า 'ดำ'
พริกไทยเป็นไม้เถาเลื้อยพัน ข้อปล้องชัดเจน และมีรากอากาศแตกออกมาจากข้อ ใบหนา ดอกและผลเป็นช่อ ผลย่อยรูปร่างกลม ผลดิบสีเขียว พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแดงตามลำดับ
ในการค้าขายระหว่างประเทศจะนำผลพริกไทยที่แก่จัดเริ่มเป็นสีน้ำตาลมาตากแห้ง เปลือกผลจะเป็นสีดำ ผิวย่นขรุขระ เรียกว่าพริกไทยดำ ใช้เป็นยาสมุนไพรและปรุงอาหารทางตะวันตก
ส่วนพริกไทยขาวมักใช้ในการปรุงอาหารไทยและจีน เพราะมีสีสวยกว่า ไม่เป็นผงดำตัดกับสีอาหาร โดยใช้ผลที่สุกงอมเป็นสีแดงมาแช่น้ำให้เปลือกนิ่มและขัดถูออกไป ทำให้เหลือแต่เนื้อในเมล็ดแล้วจึงตากแห้ง มีกลิ่นรสอ่อนกว่าพริกไทยดำ
สรรพคุณยาไทยระบุว่า ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ ลดน้ำตาลในเลือด ลดความอ้วน ช่วยการไหลเวียนโลหิต ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงธาตุ แก้ปวดท้องรอบเดือน ป้องกันโรคลมชัก บำรุงประสาท บรรเทาอาการชาปลายมือปลายเท้า
สรรพคุณ “พริกไทย”
พริกไทยมีสารออกฤทธิ์หลากหลายชนิด มีน้ำมันหอมระเหยที่เป็นกลิ่นเฉพาะ ที่สำคัญที่สุดเป็นกลุ่มแอลคาลอยด์ชื่อพิเพอรีน (piperine) ซึ่งมีรสเผ็ดและพบมากที่เปลือกผลประมาณ 1-2%
พริกไทยมีผลช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร เพิ่มการหลั่งน้ำลายออกมาย่อยอาหารเบื้องต้นขณะเคี้ยวในปาก กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร (gastric secretion) กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เพื่อเคลื่อนผ่านอาหาร รวมทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (colon) ด้วย จึงช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น ลดอาการปวดท้องอาหารไม่ย่อยและคลื่นไส้ เหมาะกับคนที่กำลังท้องเสียเพราะมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
พริกไทยมีรสเผ็ดร้อน ช่วยบำรุงธาตุลม มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานได้ดี ลดอาการปวด ปวดข้อเข่า ปวดกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการหวัด ไข้หวัด และหนาวสั่น เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกาย โดยกระตุ้นการขับเหงื่อและขับปัสสาวะ
พบประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยหลายชิ้น พริกไทยและสารสำคัญคือพิเพอรีนมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน โดยรักษาระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลให้สามารถลดไขมันในเลือดหนูที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงและลดน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่กระตุ้นให้เป็นเบาหวาน ช่วยกระตุ้นความจำ และลดการถูกทำลายของเซลล์สมองส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาว งานวิจัยจึงสรุปว่าการบริโภคพริกไทยในจานอาหารจะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
นอกจากนั้นยังพบว่าพิเพอรีนสามารถปกป้องเซลล์ตับจากการถูกทำลายด้วยสารพิษ ผงพริกไทยสามารถปกป้องลำไส้ใหญ่ส่วนต้นจากสารก่อมะเร็งในหนูทดลองได้
อีกทั้งยังพบว่าพิเพอรีนถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กได้รวดเร็วมากและไปจับกับสารอาหารหรือยา ช่วยให้สารอาหารที่กินร่วมกับพริกไทยมีการดูดซึมได้มากขึ้น และร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
แม้ว่าพริกไทยจะมีคุณสมบัติที่ดี แต่ไม่ควรรับประทานแคปซูลพริกไทยเดี่ยวในปริมาณมากและระยะเวลานาน เพราะมีการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังพบว่า พริกไทยอาจก่อการกลายพันธุ์และก่อมะเร็งได้ และไม่ควรใช้ลดความอ้วนเด็ดขาด
แหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี สามารถสร้างรายได้เข้าจังหวัดได้ปีละประมาณ 30-60 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในประเทศ ผู้เขียนเคยถามเด็กประถมที่เข้ามาเรียนรู้สมุนไพรที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหิดล ว่า “หนูรู้จักพริกไทยไหมคะ”
เด็กๆ ตอบว่า “รู้จักค่ะ”
“พริกไทยมีอยู่กี่ชนิดคะ”
ตอบ “3 ชนิดค่ะ”
เอาละสิ คุณยายอาจารย์เริ่มงงเอง กลั้นใจถามต่อว่า “อะไรบ้างคะ”
“พริกไทยดำ พริกไทยขาวและพริกไทยเขียวค่ะ”
เด็กๆ เราเก่งนะ ไม่ลืมนับพริกไทยอ่อนที่ใส่ในผัดฉ่าด้วย
เด็กๆ ยังรู้จักพริกไทยเลย ผู้ใหญ่อ่านคุณสมบัติที่ดีของพริกไทยแล้วอย่าลืมใส่ในจานอาหารเพื่อสุขภาพของเราและลูกหลาน ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยด้วย เหมาะกับยุคสมัยเลย
.........
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)