นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Herb & Happiness
ในบรรดารสชาติอาหาร รสขมดูเหมือนได้คะแนนความชอบต่ำสุด
ปุ่มรับรสขมจะอยู่ที่โคนลิ้น จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องกลืนผ่าน แถมติดขมนานเสียอีก
คนโบราณว่า ไม่แก่จะไม่ชอบขม ยิ่งทำให้คนอยากหนุ่มอยากสาวไม่อยากจะชอบรสขมเข้าไปอีก
พูดถึงความขม จะคิดถึง “มะระ” เป็นอันดับต้นๆ
ในบ้านเรามี มะระจีน ผลใหญ่ ยาว ขมน้อย และ มะระขี้นก ที่มีผลสั้น ผิวมีปุ่มปมถี่กว่าและขมจัด
ใช้ปรุงอาหารไทยทั้งต้ม ผัด แกงจืด แกงเผ็ด เป็นผักสมุนไพรที่หลายประเทศนำมาใช้รักษาเบาหวาน
ในตำราแพทย์แผนไทย ไม่มีคำว่าเบาหวาน แต่จะแฝงอยู่ในอาการโรคที่เกิดจากเบาหวาน บางท่านสรุปว่าเป็นอาการของกษัยเลือด เป็นความเสื่อมของเลือด เลือดข้น ไหลเวียนไม่ดี ส่งผลต่อไตและปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการมือเท้าชาด้วย
ยาไทยระบุว่า ยารสขมจะช่วยแก้ไข้ บำรุงโลหิตและดี ช่วยให้เจริญอาหาร และแก้ร้อนในกระหายน้ำ
สำหรับมะระ มีผู้รวบรวมประโยชน์และการวิจัยของมะระเมื่อ พ.ศ. 2560 พบว่า เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นการวิจัยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหนูทดลอง มีการวิจัยต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนถึง 941 ฉบับ เฉพาะเดือนมกราคม 2562 มีแล้ว 2 ฉบับ แสดงว่ามะระเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง แต่ยังมีประเด็นที่ต้องการความชัดเจนในแง่มุมต่างๆ อีกมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Momordica charantia คำแรก “Momordica” มาจากภาษาละตินหมายถึง “กัด” (to bite) ตามลักษณะใบของมะระที่หยักเว้าลึก เป็นห้าแฉก แล้วยังมีหยักเล็กๆ น้อยๆ อีก เหมือนถูกอะไรแทะกัดไว้ ชื่ออังกฤษ คือ “bitter melon” หรือ “bitter gourd” มาจากรสขมของผลมะระนั่นเอง
วิจัยพบฤทธิ์ลดน้ำตาล
การวิจัยเพื่อพิสูจน์ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของมะระขี้นก นักวิจัยได้ทดลองใช้ทั้งน้ำต้มและคั้นผลสด ซึ่งกลไกในการลดน้ำตาลในเลือดประกอบด้วย
- กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเซลล์ของตับอ่อนและฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่เสื่อมลงได้
- ลดการสร้างไกลโคเจนในเนื้อเยื่อของตับ
- กระตุ้นการใช้กลูโคสในร่างกาย
นี่แสดงให้เห็นว่า น้ำมะระขี้นกมีผลจัดการน้ำตาลทั้งในและนอกตับอ่อน แม้ว่าฤทธิ์ของน้ำมะระขี้นกจะให้ผลน้อยกว่ายาลดน้ำตาลไกลเบนคาไมด์ แต่ยังแสดงผลดีอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุผลที่นักวิจัยใช้น้ำต้มหรือน้ำคั้นคือ สารที่ออกฤทธิ์ดังกล่าวเป็นกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์หลายชนิดซึ่งละลายได้ดีในน้ำ นอกจากนี้สารกลุ่มนี้ยังสามารถลดไขมันในเลือดและต้านอนุมูลอิสระด้วย โดยพบสารกลุ่มโปรตีนและเปปไทด์ พอลิเปปไทด์-พี ช่วยลดน้ำตาลในเลือดเช่นกัน โดยสารที่ทำให้มะระมีรสขมเป็นกลุ่มซาโปนิน ซึ่งช่วยกันเสริมลดน้ำตาลในเลือดด้วย
จะเห็นได้ว่าในสมุนไพรจะมีสารประกอบหลากหลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี คือ สารประกอบที่จะเข้าสู่ร่างกายมีปริมาณชนิดละเล็กละน้อย ถ้ามีความเป็นพิษบ้างเช่นกลุ่มซาโปนินในมะระ แต่ปริมาณไม่มากจนเป็นอันตราย และยังอาจแสดงฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์อื่นไปพร้อมๆ กันได้ด้วย
ข้อเสีย คือ ผลผลิตจากการปลูกในสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้ปริมาณของสารประกอบแต่ละชนิดแปรเปลี่ยนได้จึงเป็นการยากในการควบคุมคุณภาพในการผลิตเป็นยา จึงแนะนำให้ปรุงเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือใช้ป้องกันจะดีกว่า และต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะอาจเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือดที่หมอจ่ายได้
มะระจีนอร่อยกว่า แต่ฤทธิ์สู้มะระขี้นกไม่ได้
ลองต้มน้ำเอารสขมออกไปบ้างก็ยังคงสรรพคุณที่น่าสนใจอยู่ นำไปปรุงเป็นยำเพิ่มรสเปรี้ยวเค็มหวาน หรือต้มจิ้มน้ำพริก อย่าลืมเอาเมล็ดออกเสียก่อน เพราะมีโปรตีนที่เป็นพิษ
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)