นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Cover Story
อายุ 60 ปลายแต่ยังสมาร์ต หลังตรง ท่วงท่าคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง แต่เมื่อนั่งลงทำงานฝีมือก็จดจ่อนิ่งอยู่กับมันได้นานนับชั่วโมงหรือนานกว่านั้น
“เป็นนักกีฬาเก่ามั้งคะ เล่นบาส วอลเลย์ วิ่งผลัด ฯลฯ ก็เลยแข็งแรง”
สุรีย์พร วงศ์ศุภกฤต ดวงตายิ้มสดใสเมื่อได้เล่าถึงงานที่ทำ และบังเอิญว่าวันที่ทีมงานนัดหมายก็เป็นวันที่เธอภูมิใจมากอีกวันหนึ่ง เพราะได้ร่วมแสดงผลงานผ้าควิลท์ (Quilt) ที่หอศิลป์กรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนเมษายน
เธอเริ่มเรียนการต่อและควิลท์ผ้าตอนอายุ 60 อันเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่วัย 80 กำลังป่วย เธอนึกอยากเย็บผ้าห่มผืนงามสักผืนให้แม่ และไม่รีรอที่จะถอยจักรคันใหมพร้อมกับเริ่มเรียน แต่แล้วก็ไม่สามารถลงมือทำได้ดังตั้งใจเพราะแม่เริ่มทรุด จึงต้องคอยปรนนิบัติและดูแลร้านอาหารไปด้วย เธอให้ทีมงานที่สอนการเย็บจักรช่วยเย็บผ้าห่มตามที่เธอร้องขอ
“ในที่สุดก็เสร็จทันวันที่แม่เสีย ทันได้ห่มให้เขา และเผาไปพร้อมกัน”
แม้จุดเริ่มต้นการเรียนทำแฮนด์เมดงานผ้าจะตามมาด้วยบรรยากาศแห่งความพลัดพราก แต่เป็นความสุขใจที่ได้ทำสิ่งดีงามให้กับคนที่รักในวาระสุดท้าย
ก่อนหน้านี้สุรีย์พรเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารตามสั่ง “โป๊ะเชะ” แถวสามย่าน อาหารขายดี ยืนและเดินทั้งวันจนร่างกายรู้สึกล้า จนวันหนึ่งถึงเวลาที่เธอและครอบครัวเห็นพ้องกันว่า ควรหยุดพักได้แล้ว
“เป็นคนนั่งเฉยๆ ไม่ได้ เรียกคนมีกรรมมั้ง ต้องหาอะไรทำตลอดเวลา” เธอนิยามตัวเองอย่างคนมีอารมณ์ขัน เธอหยุดกิจการไปโดยไม่มีโอกาสเหงา เพราะหันมาจริงจังกับการผลิตงานควิลท์ ซึ่งก่อนหน้านั้นหากมีเวลาว่างเมื่อไร เธอจะไปเรียนการทำงานควิลท์กับสถาบัน June Quilt ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับร้านอาหารนั่นเอง อาจารย์จูน-อมรรัตน์ สิรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันจบงานควิลท์มาจากฮูสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองจัดงานแสดงผ้าควิลท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อได้นั่งลงจับผืนผ้า สุรีย์พรรู้สึกสนุก เพลิน จนลืมเวลา อยากทำให้เสร็จ บางวันทำจนดึกดื่นตีสองตีสาม เช้ามาล้างหน้าล้างตา กินข้าวกินปลาเสร็จก็เปิดจักรอีกแล้ว เมื่อทำแล้วสนุกและทำมากขึ้นๆ ของเริ่มเต็มบ้านจึงลองขาย ขายเพื่อระบายของเดิม จะได้ทำของใหม่เพิ่มอีก
“ขายได้ชิ้นแรก เป็นแบบที่เราไม่ชอบเลย (หัวเราะ) กระเป๋าทรงอะไรเนี่ย... เป็นแนวญี่ปุ่น เรียบง่าย ซิปไม่มี กระดุมไม่มี ไม่เหมาะกับเรา ขายไปพันกว่าบาท เออนะ... เราไม่ชอบ แต่คนอื่นชอบ”
พอเห็นโอกาส ลูกชายจึงแนะนำให้ทำเพจเฟซบุ๊กแต่ลูกชายเองก็งานรัดตัว ไม่มีเวลาสอน แม่ก็หาหนทางหาคนมาสอนทำเพจ และตั้งเพจ Kawai-i by Suree
Kawaii เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าน่ารัก ซึ่งเธอเคยใช้ชื่อนี้สมัยเปิดร้านดอกไม้เมื่อหลายปีก่อน
“เราคงชอบศิลปะอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ตัว สมัยเด็กๆ เราทำงานเย็บผ้าตามที่ครูสอน งานได้ไปแสดงตลอด เราเล่นกีฬาและซนด้วย เพื่อนยังแซวว่า ม้าดีดกะโหลกมานั่งเย็บผ้าได้ยังไง”
แต่จริงๆ แล้วเธอเห็นว่า “ศิลปะการเย็บผ้า” อยู่ในตัวตนคนไทย เธอเป็นสาวลำปาง สมัยเด็กก็ต้องเรียนวิชาเย็บผ้าในรั้วโรงเรียน และเติบโตมาในยุคที่เห็นพ่อแก่แม่เฒ่ารู้จักการเย็บ ซ่อม ปะ ประดิษฐ์งานจากผ้าในชีวิตประจำวัน ต่างจากเด็กและหนุ่มสาวปัจจุบันที่ห่างเหินงานเย็บปักถักร้อยไปมาก
“เรามีฉันทนา* ในตัวทุกคน” สุรีย์พรเอ่ยขึ้นระหว่างที่อาจารย์จูนมาสมทบวงสนทนา “ใช่ รุ่นพ่อแม่เราเย็บผ้ากันเป็นทั้งนั้น และทุกคนก็มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว นอกจากสอนเทคนิค เราจะเน้นการสอนให้สร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง งานแต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกัน” อาจารย์จูนอธิบาย
สุรีย์พรชี้ชวนให้ดูผลงานที่นำมาแสดง “อย่างงานบางชิ้น ทำๆ ไปบังเอิญผ้าหมด เราก็เปลี่ยนไปใช้อีกสีแต่ดูลงตัว เราไม่ได้คิดไว้ก่อน คนมาถามว่า มีแรงบันดาลใจยังไง... แรงบันดาลใจอะไร ไม่มี อย่ามาถามหา (หัวเราะ) ลูกชายคนเล็กเคยบอกว่า ของบางอย่างอยู่ในตัวแม่ แต่แม่ไม่รู้ตัว”
งานแฮนด์เมดสำหรับเธอจึงเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนสมาธิ ฝึกสายตา ซึ่งการมองเห็นยังดีเยี่ยม เพราะผ่านการลอกต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์ตาแล้วทั้งสองข้าง หลังไม่มีอาการปวด แต่ต้องรู้จักประมาณตนเอง เมื่อทำงานแฮนด์เมดได้สักพัก ต้องลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย
งานควิลท์ก็เหมือนงานศิลปะ ศิลปินใช้สีแต้มบนกระดาษ เธอใช้ผ้ามาเรียงต่อและเนาเย็บติดกันจากชิ้นเล็ก ต่อเป็นผืนใหญ่ ดัดแปลงลายแต้มแต่งผ้าให้น่ามอง
เคยมีบ้างไหมที่รู้สึกไม่สวยงามถูกใจตัวเอง
“มีค่ะ งานควิลท์จะมี Free Motion คือการเนาไปตามใจ ตามมือเรา ไม่มีแพตเทิร์น เป็นฟรีสไตล์ ตามหลักไม่ต้องเลาะ แต่พอเราเห็นไม่สวย ไม่ชอบ ยากแค่ไหนก็จะเลาะ”
ยิ่งทำยิ่งสนุก ปีใหม่ที่ผ่านมาเธอเย็บกระเป๋านับร้อยใบเป็นของชำร่วยให้ลูกชายแจกเพื่อนในออฟฟิศ และขายกระเป๋าใบเล็กใบน้อยได้ผ่านหน้าเพจ
“ชิ้นใหญ่ยังไม่เคยขาย เราเคยเห็นของที่อเมริกาชิ้นใหญ่อย่างที่เราทำ บางผืน 50,000 บาท บางผืน 80,000 เลยนะ ของเราจะขายได้ไหมเนี่ย (หัวเราะ) ขายได้ชิ้นแรกคงดีใจตายเลย...
“ถ้าขายไม่ได้ไม่เป็นไร สามีบอกจอง จะซื้อที่ทำไว้ทั้งหมด (ยิ้ม) ขายคนในบ้านก่อนเลย”
เธอไม่ได้จริงจังกับการขาย แต่ทำเพราะเห็นประโยชน์ และเชิญชวนคนวัย 60 ที่ยังมีไฟและอยากฝึกทักษะตัวเองลองหางานอดิเรกที่ชอบทำสม่ำเสมอ
“ถ้าคนที่ไม่กังวลเรื่องหารายได้ก็ทำเรื่อยๆ ให้สมองไม่อยู่นิ่ง ได้ฝึกเรียน เรียนแล้วลืมก็ไม่เป็นไร เรียนใหม่ เหมือนคนไปร้องเพลง ฝึกร้อง ฝึกเพลง เขาพูดกันว่าจะป้องกันเป็นอัลไซเมอร์
“ใครชอบแฮนด์เมดก็ทำงานแฮนด์เมด เริ่มจากชิ้นเล็กๆ จานรองแก้วก็ได้ แต่ถ้าคนที่อยากทำเป็นอาชีพก็ลองได้ ขายได้ ใช้มือทำทั้งหมดก็ได้ ยังไม่ต้องลงทุนซื้อจักร”
ถ้านึกสนุกอยากทำงานแฮนด์เมดตามคำเชิญชวนของเธอ ก็น่าลองดูสักครั้ง แล้วจะพบศักยภาพภายในตนเองที่คุณเองอาจนึกไม่ถึงมาก่อน
เยี่ยมชมผลงาน www.facebook/kawaibysuree
..........
*ฉันทนา มีที่มาจากเพลง “ฉันทนาที่รัก” ประพันธ์โดย สุชาติ เทียนทอง ขับร้องโดย รักชาติ ศิริชัย เพลงลูกทุ่งดังช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจไทยในยุคที่ธุรกิจทอผ้าและการ์เมนท์รุ่งเรือง
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)