นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Cover Story
“สมัยเรียน ม.ศ.3 ผมบอกแม่ว่าอยากเรียนหมอ คุณแม่หน้านิ่งมากเลย เพราะบ้านผมทั้งตระกูลไม่มีใครเรียนหมอเลย คุณแม่ไม่พูดอะไร แค่บอกว่า ‘พยายามสิ’”
ศ. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าฉากชีวิตสมัยมัธยมด้วยใบหน้าเกลื่อนยิ้ม ในใจของเด็กหนุ่มตอนนั้นไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า ‘เรียนหมอ’ เพราะไม่อยากทำธุรกิจของครอบครัว
หลังกลับจากดูประกาศผลสอบที่ศาลาพระเกี้ยว เด็กหนุ่มวิ่งเข้าบ้านไปบอกแม่ ราวกับแม่รู้อยู่แล้ว ท่านยื่นจี้เล็กๆ ให้อันหนึ่ง พร้อมถ้อยคำที่ตราตรึงไปตลอดชีวิต ถ้อยคำทรงพลังที่สร้างแพทย์ผู้มี ‘หัวใจ’ ของแพทย์เต็มเปี่ยม
“แม่เล่าว่าขอกับเจ้าแม่กวนอิมไว้ตั้งแต่ตอนท้อง อยากให้ลูกคนนี้เป็นแพทย์ แต่แม่ไม่เคยพูดกับผมเรื่องนี้เลยนะ ไม่เคยคอนวินซ์ วันที่ผมเดินไปหาคุณแม่แล้วบอกว่าอยากเรียนแพทย์ คุณแม่มั่นใจว่าผมต้องสอบติด เลยไปทำจี้นี้ไว้ก่อน
“จี้รูปหัวใจมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นไก่กำลังขัน มีพระอาทิตย์ขึ้น คุณแม่ถามรู้ไหมแปลว่าอะไร ผมตอบว่าเพราะผมเกิดปีระกาไง คุณแม่บอกไม่ใช่ คุณแม่ต้องการให้ ‘ปลุกโลก’ ผมขนลุกเลย ส่วนอีกด้านเป็นคำภาษาจีนสื่อความหมายว่า ‘เยียวยาพลโลก’”
คุณหมอเล่าพลางดึงสร้อยคอผ่านสาบเสื้อให้เห็น ‘จี้’ ที่ระลึกถึงแม่ ซึ่งน้อยครั้งจะให้ผู้อื่นเห็น แต่คุณหมอพกแนบกาย... แนบใจ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
ปลุกสังคมกับ Aged Society
ในวัย 61 ปี คุณหมอยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง มีวินัยในการดูแลตัวเอง และเดินวันละหมื่นก้าวทุกวัน ด้วยงานที่รับผิดชอบ หลายครั้ง ศ. นพ.ประสิทธิ์ ต้องออกสื่อเพื่อไขความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ท่านจึงเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ที่พอปพิวลาร์ที่สุด สังเกตได้จากระหว่างที่ทีมงานโอ-ลั้นลาถ่ายภาพท่านบริเวณด้านล่างหน้าตึกอำนวยการ มีแฟนคลับส่งยิ้มและขอถ่ายรูปเดี่ยวบ้าง รูปคู่กับท่านบ้างเป็นระยะๆ ตลอดเวลา
ไม่กี่ปีมานี้ เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ‘สังคมสูงอายุ’ ถี่ครั้งและหนาหูขึ้น แต่สำหรับศิริราชนั้นได้เตรียมการเพื่อรองรับเรื่องนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 แล้ว โดยส่งบุคลากรไปศึกษาทางด้าน Genetic Medicine หรือเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
“เราเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่บุคลากรจบบอร์ดด้านผู้สูงอายุ และปัจจุบันเราเป็นสถาบันที่มีบอร์ดจบ Full Training สำหรับผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย”
วัยผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสรีรวิทยาอวัยวะต่างๆ ทำงานถดถอยลง ดังนั้น แม้เป็นโรคเดียวกัน แต่การรักษาต้องปรับลดขนาดยาลง ประเด็นซับซ้อนไปกว่านั้นคือ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเป็นหลายๆ โรคพร้อมกัน ทำให้ได้รับยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ซึ่งยาแต่ละตัวอาจจะดีต่อโรคหนึ่ง แต่เกิดผลกระทบเชิงลบต่ออีกโรคหนึ่ง ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุจึงถือเป็นอีกศาสตร์หนึ่งซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงในตัวเอง
“เราส่งสัญญาณให้สังคมตื่นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องจำเป็น ศิริราชเราเตรียมพร้อมในเรื่องวิชาการส่งบุคลากรไปเรียนรู้แล้วนำมาเผยแพร่ต่อสังคม เพียงแต่ในอดีต เรื่องผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้ถูกสังคมไฮไลต์”
การปลุกสังคมและเตรียมการเรื่องนี้ทำในหลายระดับ ในระดับแพทย์มีการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในศิริราชมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ในส่วนพยาบาล ศิริราชเปิดอบรมพยาบาลสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งได้ดำเนินการมามากกว่า 10 ปีแล้ว และเพื่อเตรียมการเรื่องนี้ให้กับประเทศไทยยังได้เปิดหลักสูตรนี้สำหรับบุคคลภายนอก รวมถึงเปิดหลักสูตรผลิตผู้ช่วยพยาบาลด้วย
และอีกไม่เกิน 3 ปี คนไทยจะเห็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ‘ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ’ บนเนื้อที่ 25 ไร่ ที่จังหวัดสมุทรสาคร บทบาทของศูนย์ฯ นี้ เน้นการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะกลาง (Intermediate Care) หน้าที่หนึ่งของศูนย์นี้ที่วางไว้คือการทำ Public Education ให้ความรู้แก่สังคม รวมถึงการผลิต Care Taker เพื่อทำงานร่วมกับชุมชน
Care Taker คือใคร คุณหมออธิบายอย่างใจดีว่า การดูแลผู้สูงอายุไม่ได้อาศัยบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก ยังมีญาติ และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Care Taker คือ คนที่อยู่ในชุมชนแต่ได้รับการฝึกอบรมให้มีความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ เมื่อ Care Taker เข้าไปมีส่วนร่วมดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หลายๆ กรณีก็อาจไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล
ขณะเดียวกันศูนย์ฯ นี้มีภารกิจด้านงานวิจัยเพื่อลดปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคมสูงอายุอีกด้วย เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคกระดูก ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีอาคารที่จะเป็นจุดฝึกอบรมให้กับผู้ป่วยและญาติที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้ดูแลได้อย่างถูกต้อง โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก NCGG (National Center for Geriatrics and Gerontology) สถาบันที่วางระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมออกแบบบริบทสังคมไทยให้พร้อมสำหรับสังคมสูงอายุ
โดยรวมคือการส่งต่อองค์ความรู้ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของไทยในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเราๆ ท่านๆ ผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้ทุกคน
โรงพยาบาลของแผ่นดิน
หากใครมีธุระปะปังหรือต้องพา สว. ที่รักไปศิริราชในช่วงหลายปีมานี้ จะเห็นพื้นที่ล้อมรั้ว ด้วยมีตึกใหม่กำลังเร่งก่อสร้าง โรงพยาบาลศิริราชรวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้ระดมสรรพกำลังร่วมจัดกิจกรรมสาธารณกุศลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำรายได้มาสมทบการสร้างอาคาร ‘อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา’ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นอาคารที่มีเครื่องมือการแพทย์ที่ครบครันและทันสมัย รองรับการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสอย่างเสมอภาค
ศ. นพ.ประสิทธิ์ ชี้ชวนให้มองจากตึกอำนวยการผ่านช่องประตูทิศตะวันตกจะเห็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ หากลากเส้นตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยามายังตึกอำนวยการและตรงไปยังตึกนวมินทรฯ จะผ่านลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ถัดไปด้านหลังเป็นศาลาศิริราช 100 ปี ซึ่งมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอยู่ และเห็นยอดอาคารนวมินทรบพิตรโผล่พ้นเหนือตึกอื่นๆ ทาบเป็นแนวเดียวกัน
“ความตั้งใจตั้งแต่สร้างอาคารหลังนี้ การรณรงค์ของเราคือเชิญชวนคนไทยทุกๆ ระดับมาช่วยกันสร้างนี่คืออาคารที่คนไทยกับล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้น และจะเป็นสัญลักษณ์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
“ตึกนี้จะมีผลงานศิลปะจากศิลปินแห่งชาติที่มาร่วมสร้างมาจัดวางไว้ที่นี่ อีก 20 ปีข้างหน้า เด็กไทยเวลานั้นอาจไม่เคยเห็นรัชกาลที่ 9 แล้ว แต่อย่างน้อยได้มาเห็นประติมากรรม พระบรมสาทิสลักษณ์ ได้มาเห็นตึกแห่งนี้ ผมเชื่อว่านี่เป็นวิธีการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่ดีที่สุด
“ศิริราชคือโรงพยาบาลของแผ่นดิน เราชาวศิริราชจะสืบสานสิ่งนี้ จากพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดา ได้พระราชทานวัสดุต่างๆ ที่ใช้สร้างพระเมรุให้มาสร้างโรงผู้ป่วย ต่อเนื่องมาถึงพระราชปณิธานของพระราชบิดา และรัชกาลที่ 9 ผมจะตั้งใจทำงานจนถึงวันที่เปิดอาคารนี้ ผมอยากมีส่วนร่วมในการเปิดอาคารนี้ด้วยมือผมเอง”
เยียวยาพลโลก
ในการดูแลสุขภาพที่ดีของคนในประเทศไม่ใช่ทำงานเชิงรับอยู่ภายในขอบเขตรั้วโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ต้องทำงานเชิงรุกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ศิริราชทำมาโดยตลอด
“ย้อนนึกถึงตอนสมัยเราเด็กๆ ยังเจอคนไข้ที่เป็นโรคคอพอก แต่ตอนนี้โรคนี้หมดไปแล้ว เพราะงานวิจัยที่ศิริราชทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันการเติมไอโอดีนเข้าไปในน้ำปลา ง่ายๆ เพียงแค่นี้ ทำให้โรคคอพอกในคนอีสานหายไป
“อีกตัวอย่างที่เหมือนเล็กน้อยแต่จริงๆ ไม่เล็กน้อย ประเทศไทยเวลานี้มีเชื้อวัณโรคดื้อยา กินยารักษาวัณโรคทั่วไปไม่หาย ไม่หายไม่พอยังแพร่เชื้อดื้อยาออกไปด้วย เดี๋ยวนี้ศิริราชมีเทคโนโลยี Genome Sequencing เพื่อดูพันธุกรรม ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็สามารถบอกได้แล้วว่าเป็นเชื้อดื้อยาหรือไม่ ร่นระยะเวลาจากเมื่อก่อนที่ต้องเพาะเชื้อเป็นเดือน
“ตอนนี้ ศิริราชกำลังจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งเป็นศูนย์เรื่องวัณโรคดื้อยาของอาเซียน นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยในบทบาทการช่วยพัฒนาประเทศเข้าสู่ความเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับนานาชาติ (Medical Hub) ของประเทศไทย”
สูงวัยคือ ‘พลัง’
“ผมสนุกกับการทำงาน เพราะฉะนั้นสำหรับผมการทำงานก็คือการพักผ่อน”
คุณหมอเล่าต่อให้คนฟังแอบทึ่งว่า เดือนที่แล้วเพิ่งลงวิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร สุขภาพที่ฟิตปั๋ง แข็งแรงเป็นผลมาจากการดูแลสุขภาพตัวเองมาตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เวลาอยู่โรงพยาบาล ทีมงานรายล้อมรอลิฟต์ แต่ท่านเลือกเดินขึ้นลงบันได ไปตรวจงานที่ไหนก็ใช้สองขาเป็นหลัก ข้อมือมีแอปเปิลวอตช์เช็กระยะเดินให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือวันละ 13 กิโลเมตร กินแคลเซียมเพื่อรักษามวลกระดูก แถมที่บ้านยังมีภรรยาที่คอยทำน้ำผักปั่นให้ดื่มทุกเสาร์-อาทิตย์
“ตอนนี้ผมอายุ 61 ปี จริงๆ ก็เข้าเกณฑ์ผู้สูงวัยไปเรียบร้อยแล้วนะ” คุณหมอตอบยิ้มๆ เมื่อทีมงานถามถึงเรื่องการเกษียณ
“การดูแลสุขภาพต้องทำก่อนจะสูงอายุ ไม่ใช่เพียงแค่ลดการเจ็บป่วย แต่หากร่างกายแข็งแรง ผู้สูงอายุก็ยังสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศได้ ถ้าเตรียมการเรื่องผู้สูงอายุดีพอ เราสามารถดีเลย์เรื่องสมองเสื่อม (Cognitive Impairment) ได้ นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ โรคเดียวนะ
“เราต้องสื่อให้สังคมตระหนักว่าผู้สูงอายุสามารถ contribute อะไรได้อีกมากมายให้กับประเทศ แต่เราต้องช่วยเตรียมพร้อมให้เขา อนาคตปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นแน่นอน แต่เรายังมีผู้สูงอายุที่ทำงานได้ เป็นพลังให้ประเทศได้ ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องคิดแบบนี้แล้ว”
เมื่ออรุณรุ่งของปี พ.ศ. 2564 เดินทางมาถึง ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ
คุณได้ยินเสียง ก ไก่ ปลุกโลกหรือยัง
บริจาคร่วมสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา
โอนผ่านธนาคาร เข้าบัญชี “ศิริราชมูลนิธิ”
ธ.ไทยพาณิชย์ ศิริราช 016-437544-4
ธ.กสิกรไทย ศิริราช 638-200888-8
ธ.กรุงไทย ปิ่นเกล้า 031-0495520
ธ.กรุงเทพ รพ.ศิริราช 901-702699-9
ธ.ออมสิน ศิริราช 050-58114865-2
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)