ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพื่อนบ้านในเอเชียหลายประเทศ ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ก็เกาะไม้เท้ากระย่องกระแย่งเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงอายุไม่ต่างจากไทย หากประเทศใดขาดการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ ภาระอันหนักอึ้งของประเทศก็รออยู่ข้างหน้า
โชคดีที่สังคมไทยมีวัฒนธรรม 'ความกตัญญู' ที่เข้มแข็ง จึงเป็นเหมือนมือที่ทั้งแข็งแรงและอ่อนโยนที่ช่วยรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัยไว้
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติสาธารณรัฐเกาหลี เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2543 แต่ภายในปี 2569 นี้จะเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” (หมายถึง มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของประชากรประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20) ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงอายุ ไปสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ใช้เวลาแค่ 26ปีเท่านั้น ในขณะที่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นใช้เวลาในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ 36 ปี เยอรมันและอิตาลีใช้เวลาเปลี่ยนผ่านมากกว่า 70 ปี
ปัญหาของเกาหลีใต้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเผชิญกับความสั่นคลอนของรากฐานวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญเรื่อง “ความกตัญญู” เพราะเมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจพบว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว คนร้อยละ 90 เห็นว่าตนควรเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ตอนนี้คนที่ตอบว่าควรเลี้ยงดูพ่อแม่ เหลือเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น
ในส่วนระบบสวัสดิการของรัฐก็พบว่า ระบบบำนาญของรัฐไม่ครอบคลุม จึงมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่ได้รับบำนาญ ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้มีสัดส่วนผู้สูงอายุยากจนสูงจนน่าตกใจ คือสูงถึงร้อยละ 50ซึ่งเรียกได้ว่าสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว
ต่อมกตัญญูที่ชำรุดและสั่นคลอนนี้ ทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบาง และทำให้อัตราผู้สูงอายุที่เสียชีวิตตามลำพังในเกาหลีใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยพบว่าผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ราว 1.2 ล้านคนที่อาศัยตามลำพัง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
ลองนึกภาพตามว่า ในยามที่ลมหายใจสุดท้ายจะพรากไป แต่กลับไม่มีลูกหลานหรือคนที่รักอยู่ข้างกาย ช่างเป็นความรู้สึกที่มืดมนจริงๆ นอกจากนี้ ทางบีบีซียังเคยตีแผ่ปัญหาสังคมที่คาดไม่ถึง จากปัญหาความยากจนหลังเกษียณอายุของผู้สูงวัยเกาหลีใต้ที่ไม่ได้เตรียมพร้อมด้านเงินออม ผลักดันให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องหันมาขายบริการทางเพศ เช่นที่สวนสาธารณะจองเมียว สวนสาธารณะใจกลางกรุงโซล จะมีหญิงสูงวัยเร่ขายเครื่องดื่มชูกำลัง “แบคคัส” คุณย่าคุณยายบอกว่าเธอหาเงินได้ประมาณ 5,000 วอน หรือประมาณ 157 บาทต่อวันจากการขายเครื่องดื่มชูกำลัง แต่จะได้เงินมากกว่า คือประมาณ 20,000 -30,000 วอน ถ้าหากยินยอมขายเซ็กซ์ หรือขายบริการทางเพศแทน
เครดิต :สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2556 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
www.dailynews.co.th