Advertorial
อายุของการเกษียณในสังคมไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 60 ปี ซึ่งด้วยวิทยาการทางการแพทย์ คนวัย 60 ยังคงแข็งแรงสมองยังคงสดใส ความจำยังดี และเป็นผู้มีไฟ อยากทำงาน
แม้ด้วยข้อจำกัดของระบบที่มีการกำหนดตัวเลขเกษียณชัดเจน เช่น 60 ปีให้ถึงเวลาหยุดทำงาน แต่ปัจจุบันองค์กรจำนวนมากมีการต่ออายุผู้เกษียณออกไป เนื่องจากเสียดายประสบการณ์และความรู้ของบุคคลเหล่านั้น แต่ก็เป็นลักษณะ case by case และก็มีองค์กรอีกมากที่มีผู้มีความรู้ความสามารถในวัย 60 อยู่คู่กับองค์กร แต่จำเป็นต้องให้เกษียณเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นถัดไปได้ขยับขึ้นตามความรู้ความสามารถ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เกษียณที่ยังมีไฟและมีประโยชน์ต่อประเทศ ต่อสังคม รวมถึงยังมีความสามารถในการหารายได้ ประกอบอาชีพ โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ทำมาตลอดหรือไม่ก็ตาม อาชีพที่แนะนำไว้หารายได้สำหรับคนวัยเกษียณ อาจแบ่งได้เป็น 3 แบบ
แบบที่ 1 อาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสามารถด้านวิชาชีพ
งานที่เคยทำผู้ที่ทำงานมาทั้งชีวิตย่อมมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ในวัยที่ยังพอมีแรง สมองยังสดใส ก็อาจรับงานที่ปรึกษาในธุรกิจที่เคยทำงาน หรือเป็นกรรมการบริษัท คอยให้คำแนะนำผู้บริหาร โดยใช้ประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถของตน โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับบริษัท คือออกมาทำอิสระ เช่น ครูที่เกษียณแล้ว รับจ้างสอนพิเศษเด็กๆ ในละแวกบ้าน ซึ่งกรณีนี้สามารถบริหารเวลาและภาระงานได้ง่าย สามารถควบคุมปริมาณงานตามความเหมาะสมที่ทำได้ ทำให้มีความสุขและยังสร้างรายได้ให้กับตัวเอง
หลายคนที่เป็น specialist ประกอบอาชีพอิสระ อาจใช้ความสามารถสอนคนอื่นได้ เช่น จิตรกร ช่างภาพ อาจเปิดสอนวาดรูป อบรมถ่ายภาพ
สำหรับผู้ทีมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ อาจลองเปิดเฟซบุ๊กเพจให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ๆ ในวิชาชีพของตนเอง เช่นกฎหมาย วิทยาศาสตร์ พฤติกรรมคนสมัยนี้ไม่ชอบอ่านข้อมูลยาวๆ เน้นแต่ข้อสรุป ซึ่งการเน้นสรุปบางครั้งขาดที่มาที่ไปในเชิงลึกหรือแก่นจริงๆ ของเนื้อหานั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้ใหญ่วัยที่มีประสบการณ์ มาช่วยย่อยในมุมลึกให้ง่ายต่อการเข้าใจ แล้วแบ่งปันเรื่องราวได้รับรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ง่ายที่สุดก็ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นที่ที่คนยุคใหม่ใช้กันมากที่สุด
การได้แบ่งปัน ให้คนเข้าใจในความรู้ต่างๆ เป็นการฝึกทักษะการสื่อสารของเรา
แบบที่ 2 ความชำนาญเฉพาะด้านสามารถนำมาหารายได้ให้กับตัวเองในวัยเกษียณได้โดยเพิ่มเติมเรื่องมุมมองธุรกิจประกอบ
แบบที่ 2 นี้จะทำให้กิจกรรมหารายได้หลังเกษียณสนุกและเป็นจริงมากขึ้น เช่น สังคมปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง ไม่ค่อยทำอาหารเอง มักซื้อรับประทานแต่คนรุ่นก่อน ทำกับข้าวเก่ง กินข้าวบ้านมากกว่าไปกินข้างนอก คนรุ่นใหม่ก็อยากกินข้าวบ้านอร่อยๆ แต่ทำไม่เป็น ก็เป็นช่องทางให้วัยเกษียณปัจจุบันสามารถทำอาหารขายในหมู่บ้านได้ สามารถทำอาหารขายในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือทำเป็นข้าวกล่อง ผูกปิ่นโตส่งทุกเย็น มีรายการอาหารกำหนดไว้วันละ 3-4 อย่างให้เลือก แล้วส่งในหมู่บ้าน คิดราคาไม่แพง
ถ้าเรามีฝีมือ ทำอร่อย สะอาด ก็หาลูกค้าได้ไม่ยากหรือแทนที่จะทำอาหารขาย ก็เปิดคอร์สสอนทำอาหาร วันหยุด วันอาทิตย์ คนรุ่นใหม่จำนวนมากทำไม่เป็นแต่ไม่ใช่ไม่อยากทำ เอาความเก๋าของเราสอนเขา คิดถูกๆ เอาค่าแรงนิดๆ หน่อยๆ แต่ทำให้เราสนุกไปด้วย
แบบที่ 3 การหารายได้จากเงินเก็บเงินออมที่มีอยู่ซึ่งทุกคนสามารถทำได้และควรทำ
อย่างน้อยๆ ให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ อาจซื้อกองทุนรวมก็ได้ สำหรับคนที่มีความสามารถด้านการลงทุนอาจจะนำเงินบางส่วนมาลงทุนเองในหุ้น แบ่งสัดส่วนให้ดีว่ารับความเสี่ยงได้สูงสุดเท่าไร อย่านำเงินเก็บทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรง แม้จะเก่งแค่ไหนก็ตาม
สำหรับบางคนที่ไม่ชอบเล่นหุ้น อาจลงทุนในสิ่งที่ตนเองถนัด บางคนเก่งด้านจัดการ ก็อาจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า คอยเก็บค่าห้องพัก รายวัน รายเดือน ถ้าบ้านเราอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ถนนข้าวสาร ปรับบ้านบางส่วน แยกสัดส่วนให้ชัด กันบางชั้นเป็นห้องพักให้ต่างชาติเช่าได้เช่นกัน
คนทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง วันที่เกษียณ เราก็ยังเป็นเราอยู่ ยังสามารถใช้คุณค่า ใช้ความรู้ความสามารถทำอะไรให้สังคม ให้ครอบครัวได้ นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ จึงควรทำอะไรที่เป็นประโยชน์ พึ่งพิงตนเองได้ ไม่เป็นเป็นภาระลูกหลานหรือสังคม
เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
กองทุนบัวหลวง
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)