นิตยสารโอ-ลั้นลา
คอลัมน์ O-update
ตามสถิติ โรคอ้วนในผู้สูงอายุเป็นปัญหาใหญ่ของอเมริกา โดยพบว่ามีมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
ทว่าจากงานวิจัยล่าสุดได้พบปัญหาใหญ่สองประการที่คุกคามความสุขในชีวิตของผู้สูงอายุเสียยิ่งกว่าโรคอ้วนนั่นคือ “ความเหงา” และ “ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม”
งานวิจัยของ มหาวิทยาลัยบีวายยู (Brigham Young University : BYU) เผยให้เห็นว่าความเหงาและความโดดเดี่ยวทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันควรมากถึง 50% โดยนักวิชาการอธิบายว่า ภาวะสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน
ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) คือการขาดการติดต่อกับผู้อื่น ส่วนความเหงาคือความรู้สึกที่เหมือนถูกตัดขาดจากผู้อื่น แปลไทยเป็นไทยอีกที ก็คือ Social Isolation คือกลุ่มที่มักปลีกวิเวก แยกตัวออกจากสังคม ไม่คบหาเพื่อน แต่ Loneliness หรือ กลุ่มขี้เหงาจะรู้สึกตัวเองถูกตัดขาดแม้ในความจริงจะอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงญาติพี่น้องก็ตาม
แฮร์ริสโพล ทำวิจัยในปี 2016 กับผู้สูงอายุกว่า 2,000 คน พบว่า...
ผู้สูงอายุประมาณ 72% จะรู้สึกเหงาในบางช่วงของชีวิต
ส่วน 31% ความรู้สึกเหงามักจะมาเยือนสัปดาห์ละครั้ง
งานวิจัยอื่นๆ ยังระบุว่าความเหงาสามารถเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ และอาการเจ็บออดๆ แอดๆ ส่วนความโดดเดี่ยวทางสังคมทำให้ผู้ป่วยมะเร็งทรวงอกมีอัตรารอดน้อยลงด้วย
ผลวิจัยที่เกิดขึ้นคล้ายกันหลายแห่งทั่วโลกนี้ น่าขบคิดต่อว่าการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสูงอายุขั้นสุดยอดในอนาคตนั้น ทั้งครอบครัวและนโยบายรัฐจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เกิดภาวะความเปลี่ยวเหงาที่บั่นทอนสุขภาพเช่นนี้ ทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยมีแหล่งพบปะที่ปลอดภัยและมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ นอกเหนือจากการไปนั่งเล่นตามห้างสรรพสินค้าเพื่อฆ่าเวลา
อย่าปล่อยให้ "ตัวเหงา" อยู่ข้างกาย
มาเป็นเพื่อนกันที่ olunlaclub >> http://bit.ly/olunlafriends (คลิก link จากมือถือเท่านั้นจ้า ^-^)
ที่มา : usatoday.com