Column : Share&Care
นิตยสารโอ-ลั้นลา
เมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้นกับคนในครอบครัว การตัดสินใจที่ยากลำบากอย่างหนึ่งคือ “ควรบอกความจริงกับผู้ป่วยดีไหมนะ”
แล้วใครจะเป็นคนบอก คุณหมอ หรือ ญาติ ควรบอกวิธีไหนหรือแค่ไหนดี
นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาตามอาการและโรคลุกลามขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายระยะสุดท้าย ปอดระยะสุดท้าย อัลไซเมอร์ ฯลฯ
ด้วยเห็นถึงความสำคัญนี้ศูนย์ดูแลผู้ป่วย ระยะประคับประคองจึงร่วมกับฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดเสวนาเล็กๆ ในประเด็นนี้ - - หากวันหนึ่งญาติของเราเจ็บป่วย เราจะบอกความจริงกับเขาไหม
ผู้ร่วมเสวนาครึ่งหนึ่งตอบว่า “ไม่”
เอาล่ะ ถามใหม่
"หากวันหนึ่งเราเจ็บป่วย เราอยากให้หมอหรือญาติบอกความจริงกับเราไหม"
ผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดกลับตอบว่า “อยากให้บอกความจริง”
จากประสบการณ์ดูแลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่พบว่า “การรู้ความจริงเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่การรู้ว่าถูกหลอกอาจเจ็บปวดยิ่งกว่า”
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการรู้ข้อมูลการตรวจรักษา แต่ต้องการรายละเอียดแตกต่างกันไป - - และแม้ญาติหรือหมอจะไม่บอกผู้ป่วยว่าป่วยเป็นอะไร แต่ตัวโรคจะทำให้ผู้ป่วยรู้ว่ามีความผิดปกติในร่างกาย รวมถึงอากัปกิริยาของคนรอบข้าง เช่นสีหน้าที่เคร่งเครียด การเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ หรือการแอบพูดไม่ให้ผู้ป่วยได้ยิน
ข้อดีของการบอก"ความจริง"
- ช่วยให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งร้ายและดี
- สามารถวางแผนการดูแลล่วงหน้า โดยเฉพาะเมื่อมีอาการหนักจนไม่รู้สึกตัว ควรมีการพูดคุยล่วงหน้าในครอบครัวว่าจะมอบให้ใครเป็นตัวแทนในการตัดสินใจรักษากรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หากญาติตัดสินใจถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่หากคิดว่าไม่ถูกต้อง เกิดความผิดพลาด จะได้ไม่ต้องโทษกันให้เสียใจภายหลัง
- รักษาสัมพันธภาพที่จริงใจต่อกัน
- ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยตั้งความหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
- เปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ครอบครัว และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ปลดเปลื้องความรู้สึกที่ค้างคา ปรับความเข้าใจ ให้อภัย และค้นหาความต้องการด้านจิตวิญญาณของตัวเอง
- เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและครอบครัวเตรียมความพร้อม วางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สิ่งสำคัญในการบอก "ความจริง"
สิ่งสำคัญในการบอกความจริง ก็คือ "ท่าที" ควรบอกด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย น้ำเสียงนุ่มนวล ท่าทีเป็นมิตรและจริงใจ ให้ความหวังอย่างซื่อตรง ให้กำลังใจ และสังเกตอาการตอบสนองของผู้ป่วย หลังบอกผู้ป่วยให้รู้ความจริงแล้ว อาจช่วยปลอบโยนหากผู้ป่วยยังรับความจริงไม่ได้
นี่คือความจริงแสนละเอียดอ่อนในการดูแลผู้ป่วย
แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร บอกดี - ไม่บอกดี
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)