นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Health
ผู้ป่วยติดเตียงเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยทางระบบสมอง หรือพูดง่ายๆ คือผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่บนเตียงตลอดทั้งวัน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่างๆ มากขึ้น เช่น แผลกดทับ ข้อต่อต่างๆ ติดแข็ง ปอดอักเสบ เป็นต้น
ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง นายแพทย์พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลว่า การฟื้นฟูและการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีขั้นตอนในการดูแลหลักๆ 3 ข้อ และเน้นในส่วนของผู้ดูแลเพื่อปฏิบัติกับผู้ป่วยได้ถูกต้อง คือ
ต้องดูแลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตให้ดีที่สุด ไม่มีแผลกดทับ ไม่มีข้อติด เรื่องอาหาร การขับถ่ายต้องคำนึงถึงความสะอาดและความเหมาะสม
ต้องลดภาระที่จะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพราะครอบครัวและผู้ดูแลสามารถดูแลได้ดีเหมือนกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปโรงพยาบาล เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายและมีความยากลำบาก และ
ผู้ป่วยต้องเป็นภาระของผู้ดูแลให้น้อยที่สุด การดูแลสุขลักษณะและกายบำบัดที่บ้านอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ภาระของผู้ดูแลก็จะลดน้อยลง
นอกจากนั้นการดูแลในด้านต่างๆ ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เช่น
-
การจัดห้องนอนของผู้ป่วย ควรโปร่งสบาย อากาศถ่ายเท ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น แสง เสียง กลิ่น
-
ดูแลเรื่องความสะอาดอย่างเคร่งครัด เช่น การอาบน้ำ การสระผม การทำความสะอาดที่นอน การทำความสะอาดร่างกายหลังขับถ่ายทุกครั้ง และการป้องกันแผลกดทับ
-
อาหารที่เหมาะสมควรเป็นอาหารอ่อน อาหารเหลว และอาหารเฉพาะโรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเจ็บป่วยของแต่ละบุคคล ที่สำคัญผู้ดูแลควรป้อนอาหารอย่างนุ่มนวล ระวังการสำลัก คอยพูดคุย ปลอบโยน ให้กำลังใจ
-
หากผู้ดูแลเป็นไข้หวัดหรือโรคที่เสี่ยงจะติดต่อคนไข้ ให้ป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
การป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ
สาเหตุของการเกิดแผลกดทับ คือ การที่ผู้ป่วยนอนนานๆ ทำให้บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่างๆ ถูกกดทับจนขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้ผิวหนังตายจนเป็นแผลไปเรื่อยๆ การป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ เช่น
-
หมั่นตรวจเช็กในบริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับทุกวันว่าผิวบริเวณนั้นมีอาการแดงหรือไม่ ถ้ามีถือว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นแผลกดทับ
-
หมั่นตรวจสอบการขับถ่ายอยู่เป็นระยะ เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ทาโลชั่นหรือวาสลีนเพื่อความชุ่มชื้น
-
ต้องนอนในท่าทางที่เหมาะสม และเปลี่ยนท่าพลิกตัวทุกๆ 2 ชั่วโมง
-
ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ยกตัวของผู้ป่วยแทนการลากถู เพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังกับพื้นเตียง
-
ที่นอนต้องไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป นอกจากที่นอนลมจะช่วยลดความเสี่ยงจากแผลกดทับแล้ว (ที่นอนลมไม่ได้ทดแทนการพลิกตัว ญาติต้องช่วยพลิกตัวด้วย) ปัจจุบันมีนักประดิษฐ์คิดค้นที่นอนป้องกันและลดแผลกดทับ ซึ่งผ่านการทดสอบและวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สามารถเข้าไปชมได้ที่ http://www.sawakit.com
แนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ดูแล
-
วางแผนการดูแลให้ดี อย่าให้เป็นภาระตกหนักที่ใครเพียงคนเดียวตลอดเวลา
-
ถ้าเป็นไปได้ อาจจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้งๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง
-
แบ่งหน้าที่ด้านต่างๆ ให้ญาติพี่น้องคนอื่นได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันบ้าง เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
-
หาเวลาพักผ่อนไปทำกิจกรรมที่ตนเองชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด
-
พูดคุยพบปะสังสรรค์ เข้าสังคมบ้าง นอกจากบรรเทาความเครียดแล้ว อาจได้รับคำแนะนำในการแก้ปัญหาของตนเองได้
-
ดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
-
รู้จักปล่อยวาง อย่าคาดหวังกับสิ่งรอบตัวสูงจนเกินไป เช่น อยากให้ผู้ป่วยหายขาดจนลุกมาเดินได้ กินเองได้ อยากให้ญาติทุกคนมาช่วยดูแลกันพร้อมหน้าตลอดเวลา
-
แบ่งเวลาให้กับบุคคลอันเป็นที่รักและบุคคลในครอบครัวของตนเองบ้าง แทนที่จะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ผู้ป่วยคนเดียว
-
สำหรับบางกรณี อาจจำเป็นต้องไปฝากผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลบ้าง หากผู้ดูแลติดธุระหรือรู้สึกเกินกำลังแล้ว
ไม่เพียงแค่ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลและใส่ใจ แต่ผู้ที่เป็นคนดูแลผู้ป่วยนั้น ก็ต้องได้รับการดูแลและใส่ใจเช่นเดียวกัน -- ดูแลผู้ป่วยแล้ว ก็อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยนะคะ
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)