นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Life Matter
การวิ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการออกกำลังกาย มีประโยชน์ช่วยพัฒนาหัวใจ ตลอดจนระบบการไหลเวียนโลหิตและการหายใจ แต่ก่อนจะออกวิ่ง เราควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมเป็นอันดับต้นๆ
ปัจจุบันกระแสการวิ่งได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากจำนวนงานวิ่งที่มีทุกสัปดาห์ รวมถึงสวนสุขภาพต่างๆ ที่ผู้คนนิยมมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากขึ้น
ยิ่งการวิ่งได้รับความนิยมมากเท่าไร เราจะพบกับข้อจำกัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บและอันตรายอื่นๆ ที่เพิ่มมา โดยเฉพาะผู้สูงอายุกับการวิ่ง จึงต้องใส่ใจกันเป็นพิเศษ
ลองมาดู 6 แนวทาง ในการออกกำลังกายด้วยการวิ่งกันดีกว่าครับ เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี
1. เช็กร่างกายก่อนออกวิ่ง
เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจ ถ้ามีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดอันตรายควรพบผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เช่น มีโรคประจำตัว มีปัญหาการหายใจ เจ็บหน้าอก มีปัญหากระดูก กล้ามเนื้อ รวมไปถึงต้องกินยา สมุนไพร ที่นอกเหนือจากอาหารปกติ เคยประสบอุบัติเหตุ มีน้ำหนักตัวมาก อาจรวมถึงกิจกรรมประจำวันหรืองานที่ทำ
2. เช็กอุปกรณ์และสถานที่ก่อนวิ่ง
อุปกรณ์ในที่นี้ เช่น การสวมใส่ชุดออกกำลังกายให้เหมาะสมเพื่อลดผลเสียจากการออกกำลังกาย อาทิ เสื้อผ้าควรระบายความร้อนได้ดี มีความยืดหยุ่น เคลื่อนที่เคลื่อนไหวสะดวก รองเท้ารับแรงกระแทกได้ดี ช่วยประคองทรงตัวได้ ขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
สวมใส่ถุงเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดสีของเท้ากับรองเท้า รวมถึงอาจมีหมวกในกรณีที่ต้องสัมผัสแดดที่มากเกินไป สำหรับเรื่องสถานที่ควรปลอดภัย เคลื่อนไหวสะดวก การระบายอากาศดี แสงสว่างเหมาะสม ไม่มีสิ่งกีดขวาง
3. วิ่งอย่างสม่ำเสมอ ค่อยเป็นค่อยไป
อาจเริ่มด้วยออกกำลังกายหนึ่งวัน เว้นสลับหยุดหนึ่งหรือสองวัน แต่ให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายมีการกระตุ้น ปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างสัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
วิ่งเท่าที่เราทำได้โดยไม่รู้สึกหนักหรือเหนื่อยเกินไป อาจสังเกตได้จากเวลาที่เราออกกำลังกายยังคงสามารถพูดคุยโต้ตอบได้เป็นประโยค และพยายามเริ่มจากเบาๆ ช้าๆ ก่อน เช่น เริ่มจากเดิน มาเดินเร็ว เดินสลับจ๊อกกิ้ง จ๊อกกิ้งแล้วค่อยวิ่ง หรือในบางท่านอาจแบ่งเป็นสองช่วงเวลา ตอนเช้าหนึ่งช่วงและเย็นอีกหนึ่งช่วง
ในขั้นนี้ให้พึงระลึกว่าความสามารถแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่ควรเปรียบเทียบกับใคร ให้ฟังร่างกายเราเป็นหลัก
4. วิ่งนานเท่าไรดี
ให้ดูตัวเราเป็นหลัก ถ้าในแต่ละวันเรามีการใช้ร่างกายเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ค่อยนั่งอยู่กับที่ ก็ออกกำลังกายต่อเนื่อง 20-30 นาที โดยประมาณ
แต่หากในแต่ละวันของเรานั่งเฉยๆ เสียส่วนใหญ่ อาจต้องออกกำลังกายให้นานกว่า 30 นาทีขึ้นไปเพื่อชดเชยในแต่ละวัน
5. วิ่งแบบไหนดี
ข้อจำกัดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกาย เพศ อายุ น้ำหนักตัว รวมถึงประสบการณ์ในการออกกำลังกายและดูแลตัวเอง ฉะนั้น ทุกท่านอาจไม่ต้องวิ่งเหมือนกันหมด
บางท่านอาจวิ่งเมื่อพร้อม ส่วนท่านที่ยังไม่พร้อมก็ใช้การเดินก็ได้ เดินแล้วค่อยปรับให้เดินเร็วขึ้น การออกกำลังกายด้วยลู่วิ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยอำนวยความสะดวก ปลอดภัย หรือลองสลับกับการออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อจะได้รับวิตามินดี ส่งเสริมการถนอมกระดูก
6. วิ่งอย่างเป็นขั้นตอน
การออกกำลังกายทุกอย่างย่อมมีลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากวอร์มอัปและยืดเหยียด ตามด้วยช่วงการเสริมสร้างฝึกออกกำลังกายนั้น และปิดท้ายด้วยการคูลดาวน์
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งกับขั้นตอนทั้ง 6 ข้อนี้ จะทำให้เหล่าสูงวัยมีสุขภาพที่ดี วิ่งอย่างปลอดภัย แล้วอย่าลืมเติมเต็มด้วยอาหารที่เหมาะสม และการพักผ่อนที่สมบูรณ์ด้วยนะครับ
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)