Advertorial
เรื่องเกษียณเป็นเรื่องที่ดูไกลตัวมากสำหรับคนที่เพิ่งออกจากรั้วมหาวิทยาลัยและก้าวเข้าสู่รั้วมนุษย์เงินเดือน ยิ่งตอนได้รับเงินเดือนใหม่ๆ น้อยคนนักที่จะคิดถึงการลงทุนหรือการเก็บออมสำหรับเกษียณ มีแต่จะเตรียมซื้อรถ ซื้อทัวร์
กว่าจะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าที่ผ่านมาใช้จ่ายเงินหมดไปกับสิ่งต่างๆ จนเลขในบัญชีแทบไม่เหลือ จะเหลืออยู่ก็คงเป็นเงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมเท่านั้น
ใครโชคดีหน่อยก็มีเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่บ้าง น้อยคนนักที่จะสะสมเงินสำหรับการเกษียณอย่างจริงจัง พอตั้งสติได้จะเริ่มเก็บเงินเข้าหน่อย สุขภาพก็เริ่มแย่ ต้องใช้เงินรักษาพยาบาลอีก
สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องยึดหลักธรรมทางศาสนา อยู่แบบประมาณตน เหลือแค่ไหนก็แค่นั้น คงพอประทังชีวิตหลังเกษียณไปได้
เมื่อก่อนไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีใครวางแผนเกษียณ แต่เดี๋ยวนี้บอกได้เลยว่า ถ้าไม่วางแผนไว้ก่อน ความลำบากจะมาเยือนอย่างแน่นอน เพราะคนไทยเป็นผู้โชคดีที่แก่ก่อนรวย แถมคนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาลูกหลาน
สำหรับคนไทยในยุคใหม่ก็อยู่เป็นโสดกันมาก ดังนั้น หากไม่มีลูกหลานที่จะพึ่งพาได้และไม่อยากลำบาก คงต้องพึ่งตัวเองแล้ว
ลองหันกลับมาคิดดูว่าตอนนี้อายุเท่าไหร่ (ส่วนใหญ่จะเริ่มฉุกคิดได้เมื่ออยู่ที่หลักสี่ หรือไม่ก็ใกล้แซยิดแล้ว)
ดังนั้น ถ้าอยู่แถวหลักสี่ช่วงที่รถไม่ติดมาก ลองสำรวจดูว่าบริษัท ที่เราทำงานอยู่ให้เราทำถึงอายุเท่าไหร่ ถ้าแค่ 55 ปี ก็ต้องเร่งสปีดให้แรง แต่ถ้าบริษัทให้ทำงานถึงแซยิด (60 ปี) ก็ยังพอมีเวลาอยู่บ้าง อย่างน้อยๆ ก็อีก 10 ปีกว่าๆ แล้วแต่ว่าอยู่หลักสี่ที่เท่าไหร่
จากนั้นสำรวจดูว่ายังมีหนี้สินอะไรอีกบ้าง ปิดภาระหนี้ที่มีทั้งหมดได้ไหม เอาแบบลดต้นลดดอก ถ้าต้นไม่ลด ดอกไม่ลง ก็ไม่ต้องปิด ผ่อนไปเรื่อยๆ แล้วเอาเงินที่จะปิดมาลงทุน
อาจจะแบ่งเงินมากหน่อยมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% เพราะหากลงทุนแต่ในตราสารหนี้หมด โอกาสที่เงินจะเติบโตได้มากค่อนข้างยาก
หากไม่ถนัดซื้อหุ้นรายตัว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ลงทุนก็ลองมาลงทุนผ่านกองทุนรวม แล้วเลือกนโยบายที่ถูกจริตกับเรา แต่ถ้าไม่รู้จะเลือกลงทุนยังไง การเลือกในกองทุนผสมก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
นอกจากนี้เพื่อไม่ให้ความมั่งคั่งต้องลดลง อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วย เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มนับถอยหลัง หากยังรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่ได้ก็จะประหยัดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไปได้มากเลยทีเดียว ที่สำคัญ อย่าลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำรองเผื่อฉุกเฉิน
สำหรับใครที่อยู่แถวห้าแยก ควรจะต้องจัดการหนี้สินที่มีให้หมด และแบ่งเงินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรายได้มาลงทุน หากที่ผ่านมายังไม่เคยจริงจังกับการวางแผนเกษียณเลย เงินที่มีอาจไม่เพียงพอ และการแบ่งเงินครึ่งหนึ่งของรายได้ กับช่วงอายุการทำงานที่เหลืออีกไม่มากนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนในตราสารหนี้มากสักหน่อย
แม้ว่าอยากจะลงทุนในหุ้นเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้เสมอไป ไม่อย่างนั้นใครๆ ก็คงนำเงินมาลงทุนในหุ้นกันหมดและรวยกันทั่วหน้าทุกคนแล้ว
ช่วงอายุตรงนี้ หากลงทุนในกองทุนรวมก็ต้องเลือกให้เหมาะสม หากยังไม่แน่ใจ แนะนำให้ทดลองโดยการนำเงินลงทุนก้อนเล็กๆ ลองลงทุนก่อนแล้วค่อยทยอยลงทุน ให้ลงทุนแล้วยังนอนหลับสบาย ไร้กังวลก็เป็นอันใช้ได้ แต่ถ้าหากลงทุนแล้วเครียดนอนไม่หลับก็แสดงว่าต้องสับเปลี่ยนการลงทุนใหม่เพื่อให้เข้ากับตัวเอง
การวางแผนเกษียณ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งมีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณได้เร็วได้ดี แถมด้วยการมีอิสรภาพทางการเงินได้ก่อนเกษียณเสียอีก ที่สำคัญต้องมีวินัยในการลงทุน
ดังนั้น หากสามารถลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้สูงสุดตามสิทธิ และเพิ่มเติมอีกสักหน่อย รวมๆ แล้วให้ได้ 20% ของรายได้ และเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงโดยมีระยะเวลาในการลงทุนยาวนาน จะช่วยให้แผนเกษียณสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจ
แต่ถ้าใครที่รับความเสี่ยงไม่ได้ หวังออมเงินกับการฝากเงิน หรือลงทุนแต่ในกองทุนรวมตราสารหนี้เท่านั้น บอกได้เลยว่า โอกาสที่เงินจะเติบโตแซงเงินเฟ้อนั้นยากมาก “ยิ่งรับความเสี่ยงไม่ได้ ยิ่งมีความเสี่ยง”
ที่สำคัญ เมื่อรู้แล้วต้องลงมือ อย่าได้แต่รู้อะไรไม่สู้ รู้อย่างนี้ ลงมือก่อน ลงทุนก่อนอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจ
โดย อรพรรณ บัวประชุม CPF®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
Line ID :@bsenior
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)