Advertorial
การจัดพอร์ตลงทุน เมื่อเรามีเวลาลงทุนได้ยาวนานก็จะรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนอื่นเพื่อหวังโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ถ้ามีเวลาลงทุนน้อยก็ไม่ควรนำเงินไปเสี่ยงเยอะ เพราะไม่ค่อยเหลือเวลาแก้ตัว
แต่คำว่า “มีเวลายาวนานหรือเหลือน้อยสำหรับการลงทุนนั้น” หมายถึงอะไร
เรื่องนี้ถ้าว่าตามทฤษฎีก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าว่าในทางปฏิบัติ ขอให้คำนิยามส่วนตัวว่า มันคือ “เวลาคงเหลือก่อนที่เราจำเป็นต้องใช้เงินแต่ละก้อนนั้น ไม่ว่าเราจะมีอายุเท่าไรก็ตาม”
แนวคิดส่วนตัวนี้ แม้จะดูนอกกรอบไปสักหน่อย แต่มันก็คือความจริง
เพราะแม้แต่คนเกษียณแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะต้องลดความเสี่ยงไปทั้งพอร์ตแล้วหันไปฝากเงินอย่างเดียว หรือมีตราสารหนี้ พันธบัตรไปทั้งหมด เนื่องจากไม่ใช่ว่าเกษียณปุ๊บจะตายปั๊บ บางคนอยู่ได้ถึง 90 ปี 100 ปีด้วยซ้ำ ดังนั้นเขาจึงสามารถแบ่งเงินเป็นก้อนๆ ได้ว่า ก้อนนี้จะไม่ใช้ภายใน 5-7 ปี ก้อนนี้ต้องใช้ภายใน 2-3 ปีนี้ ฯลฯ
เมื่อแบ่งก้อนเงินตามเวลาแล้ว เขาก็จะมีโอกาสในการลงทุนที่กว้างขึ้น ซึ่งหากไปแช่เงินทั้งหมดในเงินฝากด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ อย่างที่เป็นอยู่ น่าจะไม่พอใช้ในตลอดอายุขัย
ส่วนคนที่อายุน้อยๆ บางคนก็รับความเสี่ยงได้ไม่มากสำหรับก้อนเงินที่จะต้องใช้ในเร็ววัน เช่น เหลืออีก 1 ปี จะต้องใช้เงินในการดาวน์บ้าน แบบนี้ก็ไม่ควรนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในหุ้น
แต่เขาอาจมีเงินที่สะสมได้อีกก้อนหนึ่งที่จะใช้ยามเกษียณในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เงินส่วนนี้จึงรับความเสี่ยงสูงจากหุ้นได้
สรุปก็คือ เงินของแต่ละคน ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรก็ตาม สามารถจัดแบ่งได้ตาม “เวลาที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนั้น” และ “คนหนึ่งคนก็ควรจะวางแผนลงทุนกับระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่รับได้ โดยแยกก้อนเงินที่จะใช้ตามช่วงเวลา”
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นคือแนวคิดที่ใช้ในการวางแผนการเงินของตนเองมาโดยตลอด หากแยกตาม Generation มีคำแนะนำกว้างๆ ในการลงทุนแต่ละ Gen ดังนี้
Gen Baby (Generation Baby Boomer)
คน Gen นี้ผ่านความทุกข์ยากตามสภาพเศรษฐกิจมาก่อนหลายวัฏจักร มีนิสัยทุ่มเท ทำงานเก็บเงินเก็บทอง เห็นคุณค่าของเงิน จึงไม่ชอบการขาดทุน นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นในตัวเองสูง และหากเชื่อใครรักใครแล้วเปลี่ยนใจยาก
วันนี้ Gen Baby เกือบทั้งกลุ่มได้เกษียณแล้ว ดังนั้น การจัดพอร์ตจำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเงินเก็บเงินออม แต่ขณะเดียวกันก็อย่าไปกลัวว่าจะขาดทุนเงินต้นจนไม่กล้าลงทุน
ให้จัดพอร์ตหรือเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับวัยเกษียณ เน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสัก 70-80% แล้วนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในหุ้น กองอสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน REIT ที่มีรูปแบบการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
ทำให้เงินในกระเป๋าโดยรวมสามารถงอกเงยได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินเฟ้อ ป้องกันไม่ให้ค่าเงินลดลงจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เงินเก็บเงินออมในส่วนปลอดภัย ต้องกระจายเก็บกระจายฝาก อย่ามั่นใจอะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะสหกรณ์ หุ้นกู้ ธนาคาร ต้องจัดสรร ถ้าทำไม่ถูกก็ให้กองทุนดูแล เพราะกองทุนมีการกระจายอยู่แล้ว
มีคำเตือนพิเศษคือ วัยนี้จะมีเงินก้อนจากการทำงานมาทั้งชีวิต จึงต้องระมัดระวัง ต้องพึงระลึกเสมอว่า เงินก้อนนี้คือเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต อย่าหวังน้ำบ่อหน้าให้ลูกหลานดูแล ต้องป้องกันไว้ก่อน
ห้ามใจดีกับลูกหลาน อย่าไปให้เงินก้อนกับเขาจนตนเองไม่เหลือพอใช้ และอย่าเผลอหลงหลาน พากินพาเที่ยว จ่ายเงินซื้อของให้หลานตัวน้อยด้วยความรักจนเกินพอดี
ต้องคิดคร่าวๆ ก่อนว่า แต่ละเดือนเราต้องใช้จ่ายเท่าไร โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลนี่สูงมาก
(ตอนต่อไปจะพาคุณมาทความรู้จักกับการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับ Gen X)
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)