นิตยสารโอ-ลั้นลา
Column : O-health
“คุณแม่เป็นอะไรก็ไม่ทราบค่ะคุณหมอ บ่นว่าปวดหัว ปวดตัวอยู่บ่อยๆแถมยังหงุดหงิดง่ายอีกด้วย”
ลูกสาวในวัย 40 กว่าๆ พาคุณแม่ในวัยใกล้ 70 มาพบจิตแพทย์ เพราะรับรู้ได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของบุพการี แต่คนเป็นแม่กลับบอกหมอว่า “ฉันสบายดี ฉันไม่เป็นอะไรเลย”
แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร จิตแพทย์ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 เล่าว่าในสังคมไทยซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (คนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522) ต้องรับบทหนักในการทำงานหาเลี้ยงชีพ การดูแลครอบครัวของตัวเอง รวมไปถึงการดูแลพ่อแม่ที่กำลังเจ็บป่วย แต่สิ่งที่แตกต่างกันไปของลูกแต่ละคน คือ“สามัญสำนึก” ลูกบางคนอาจมองว่าความเจ็บป่วยของพ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ต้องใส่ใจ แต่ลูกบางคนอาจมองว่าความไม่สบายกายไม่สบายใจของพ่อแม่เพียงนิด อาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยร้ายแรงได้
โรคเครียด (Psychosomatic Disorders) ของผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกัน หากคนเป็นลูกไม่สังเกต ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพามาพบแพทย์หรือหาทางแก้ไขก็อาจไม่เห็นความจำเป็นต้องรักษา
คุณหมอเรขาเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียดว่าเป็นเพราะความสามารถหลายด้านลดลงบางคนสูญเสียอวัยวะ บางคนสูญเสียความทรงจำ บางคนเปลี่ยนจากคนที่เคยไปทำงานกลายเป็นต้องมานั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน ความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองลดลง ทำให้มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลตามมา
ส่วนอาการของความเครียดที่แสดงออกในแต่ละคนก็แตกต่างกันไป มีตั้งแต่ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดตัว ปวดตามข้อ ปวดเนื้อตัวแบบหาสาเหตุไม่ได้ นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายมีเลือดสีดำปน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
ที่ว่าต้องรุนแรงถึงในระดับที่แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคเครียด สำหรับวิธีการรักษาโรคนี้จะบำบัดด้วยยา2 กลุ่ม คือ ยาต้านอาการซึมเศร้า และยาคลายกังวล ซึ่งแพทย์จะค่อยๆ ปรับขนาดยาให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยการรักษาที่ว่านี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 2 ปีเลยทีเดียว
คุณหมอเรขาแบ่งปันประสบการณ์ที่พบจากคนไข้ให้ฟังว่า คนที่ต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเครียด หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังมักจะมีความเครียดเช่นเดียวกัน ดังนั้นอันดับแรกต้องยอมรับให้ได้ว่าพ่อแม่ของเรานั้นเจ็บป่วย รู้จักปล่อยวาง ทำเท่าที่ทำได้ และตั้งสติในการดูแล ที่สำคัญรู้สึกเหนื่อยล้าก็ต้องรู้จักให้คนอื่นมาช่วยผลัดเปลี่ยน หรือช่วยดูแลแทน เพื่อตนเองจะได้มีเวลาคลายเครียดด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเพิ่มผู้ป่วยโรคเครียดในบ้านขึ้นอีกคน
"เคยได้ยินมั้ย กตัญญูร้อยลี้" คุณหมอตั้งคำถาม ก่อนเฉลยว่า "คือลูกหลานหรือคนที่อยู่ไกล ไม่ได้มาดูแลใกล้ชิดพ่อแม่หรือผู้ป่วย แต่ขยันให้คำแนะนำ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ซึ่งหลายครั้งคำแนะนำเหล่านั้น เพิ่มความกดดัน ความรู้สึกผิด และความเครียดให้กับลูกหลานที่รับหน้าที่ดูแล" หากพบสถานการณ์เช่นนี้ ควรพิจารณาตามหลักเหตุผล สิ่งใดทำได้-ไม่ได้ เหมาะสม-ไม่เหมาะสม ไม่นำมากดดันตัวเอง
“โรคเครียดไม่ใช่โรคทางกรรมพันธุ์ แต่ติดต่อกันได้ทางบรรยากาศ” คุณหมอเรขาทิ้งท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
วิธีรับมือ
- หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเครียดที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูง ผู้ดูแลควรส่งผู้ป่วยเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาลที่มีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายอาจจะมีความพยายามซ้ำๆ จนทำสำเร็จได้ในที่สุด จึงควรมีผู้ดูแลตลอดเวลา
- พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด เช่น เสียงดัง การทะเลาะวิวาท กลิ่นที่ผู้ป่วยไม่ชอบ พยายามพาไปพักผ่อนให้ท่านได้ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง ร้องเพลงคาราโอเกะ การพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง
- เมื่อผู้ป่วยเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ผู้ดูแลควรตั้งสติไม่โต้ตอบ และแยกตัวไปจากสถานการณ์นั้นเมื่อผู้ป่วยอารมณ์เย็นลงค่อยกลับมาพูดจากัน
- ระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของผู้ป่วยโรคเครียด เพราะจะทำให้เกิดการเสพติดและเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นตามมา
- เมื่อต้องพาผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเครียดเดินทางควรเตรียมความพร้อมต่างๆ เช่น ยารักษาโรคประจำตัว รวมถึงต้องคำนึงถึงการขับถ่ายด้วย