Column : O-health
นิตยสารโอ-ลั้นลา ฉบับเดือนมกราคม 2559
'ความดันโลหิตสูง' เป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก จนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ความจริงแล้ว โรคนี้หากไม่รับการรักษา จะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคอัมพาต และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคอื่นๆ ตามมา
แพทย์หญิงวรนุช จุนพึ่งพระเกียรติ์ แพทย์ด้านอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพญาไท เล่าว่าแต่เดิมอาจจะมองว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีอายุน้อยลง จากเมื่อก่อนผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักมีอายุมากกว่า 40 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าคนวัยทำงานที่มีอายุ 20 ปลายๆ หรือ 30 ต้นๆ ก็เริ่มป่วยแล้ว
ระวัง! ความดันโลหิตสูงแบบไม่รู้ตัว
พญ.วรนุช อธิบายให้ฟังว่า คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคนี้มักไม่มีอาการ ถ้าไม่วัดความดันก็จะไม่ทราบ กว่าจะทราบความดันก็จะขึ้นสูงมากจนทำให้มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เจ็บหน้าอก และเหนื่อยง่าย หรือเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก อ่อนแรง อัมพาต หัวใจวาย
ดังนั้นถ้าอายุมากกว่า 30 ปีก็ควรจะตรวจปีละ 1-2 ครั้ง อาจจะตรวจเองที่บ้านด้วยเครื่องวัดความดัน ถ้าค่าความดันตัวบนมากกว่า 130 ตัวล่างมากกว่า 80 (130/80 มิลลิเมตรปรอท) ควรมาพบแพทย์ การอ่านค่าความดันใช้ค่าเฉลี่ยของการวัดความดันโลหิตในท่านั่งที่สบาย และควรวัดอย่างน้อย 2 ครั้งในระยะเวลาที่ห่างกัน
อันตราย ! หากหยุดยาเอง
สำหรับคนที่มีความดันโลหิตสูงไม่มากนัก แพทย์อาจแนะนำให้ควบคุมเรื่องอาหาร ลดปริมาณเกลือให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน ลดน้ำหนัก งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ กินอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้น ถ้าควบคุมความดันได้ก็อาจไม่ต้องรับประทานยา อย่างไรก็ตามคุณหมอให้ข้อมูลว่าสำหรับคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูงมากก็จำเป็นต้องรับประทานยา
“ยาที่คุณหมอให้จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละคน ถ้าคนไข้มีอาการผิดปกติหลังกินยา แพทย์ก็จะดูว่ามาจากสาเหตุอะไร ถ้ามาจากความดันโลหิตไม่ลด ทำให้เวียนศีรษะหน้ามืด แพทย์จะแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตัว แต่ถ้ามาจากยา แพทย์จะเปลี่ยนกลุ่มยาให้มีความเหมาะสม"
"หลังจากสั่งยารักษาโรคความดันโลหิตสูงให้คนไข้ แพทย์ต้องนัดมาตรวจเพื่อดูผลข้างเคียงจากการให้ยาด้วย แต่ถ้าคนไข้กินยาแล้วหยุดยาด้วยตัวเอง จะทำให้ผลการรักษาไม่ดี เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ที่สำคัญการหยุดยาจะทำให้ความดันโลหิตดีดตัวสูงจนเป็นอันตราย เพราะยารักษาโรคนี้บางกลุ่มไม่สามารถหยุดได้ทันที ต้องค่อยๆ ลดหรือกินยาตัวอื่นแทน“
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ นอกจากลดน้ำหนัก (ไม่ควรลงเร็วจนเกินไป) อาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญมาก แนะนำรับประทานอาหารไทยๆ ที่ไม่ใส่ผงชูรส ไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่มันจนมากเกินไป เน้นทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยานและเวทเทรนนิ่ง และอยากให้เข้าใจว่าการรักษาโรคนี้เป็นการรักษาแบบต่อเนื่องยาวนาน การรับการตรวจและติดตามผลเป็นสิ่งสำคัญ
“ถ้าดูแลตัวเองดีๆ การกินยารักษาโรคความดันโลหิตสูงก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคตับหรือโรคไตอย่างที่หลายคนกังวล เพราะแพทย์จะทราบว่ายาตัวไหนขับออกทางไตหรือทางตับได้ นอกจากนั้น ยารักษาความดันโลหิตสูง ถ้ากินต่อเนื่องยังช่วยให้โปรตีนในปัสสาวะลดลงทำให้ไตเสื่อมช้าลงด้วย
คุณหมอสรุปว่า ประเด็นสำคัญของการควบคุมความดันโลหิตสูง ก็เพราะหวังผลในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไม่ให้โรคความดันกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคอื่นๆ ตามว่า เพื่อคนไข้จะได้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น ไม่เป็นโรคหัวใจโตเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกนั่นเอง
ความดันเท่าไหร่ เรียกผิดปกติ
• ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ 120-129/80-84 มิลลิเมตรปรอท
• ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท
• ความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 และตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท
(แต่ถ้าตรวจเองที่บ้านคุณหมอแนะนำว่าถ้าได้ค่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควรมาโรงพยาบาลเพื่อเช็คให้แน่ใจ ถือคติปลอดภัยไว้ก่อน เพราะเครื่องวัดความดันโลหิตสูงที่ใช้ตามบ้านนั้น อาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย)