คอลัมน์ : Cover Story
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารโอ-ลั้นลาฉบับเดือนตุลาคม 2559
ปักษาวิปัสสนา
ชีวิตหลังเกษียณเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอพบกับความสุข ความลั้นลาในชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
"ดิฉันชอบสีสันและความสวยงามของนก” ดร.สมคิด ปิ่นทอง เริ่มต้นเล่าด้วยความเป็นกันเอง “เริ่มต้นดิฉันเพียงชอบเล่นกล้อง ถ่ายรูปแลนด์สเคปไปเรื่อย พอมีทักษะถ่ายภาพอยู่บ้าง มีกล้องอยู่ในตู้หลายตัว แต่เมื่อเกษียณแล้วก็เริ่มจริงจังสักที”
จากความประทับใจในภาพสีสันของนกหลากหลายชนิดตามหน้าเฟซบุ๊กของกลุ่มสาธารณะ เช่น กลุ่ม Bird Guide Tour หรือเว็บไซต์ www.Thaibirder.com เธอจึงพิมพ์ข้อความไปถามผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนักดูนกกลุ่มนี้ว่า หากอยากถ่ายภาพนกแบบนี้บ้าง ต้องทำอย่างไร
“ทางกลุ่มก็ถามว่าเรามีกล้องอะไรอยู่ในมือบ้าง มีไบลด์ไหม (อุปกรณ์อำพรางตัวขณะถ่ายนก) เราตอบไม่มี มีหัวกระทิงไหม (อุปกรณ์เสริมติดตัวกล้องและขาตั้งกล้อง) เราไม่มีสักอย่าง เขาก็หัวเราะเพราะอุปกรณ์ที่เรามีทั้งหมดจัดเป็นกล้องเด็กๆ หมดเลย (หัวเราะ) ทีมงานก็เลยพาเราไปซื้ออุปกรณ์เฉพาะสำหรับดูนก พอซื้อเสร็จปุ๊บ เย็นวันนั้นก็ออกทริปกับน้องๆ เลย เขาออกทริปประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว”
ทริปแรกของเธอเริ่มต้นที่ดอยสันจุ๊ จังหวัดเชียงใหม่ที่ใครๆ เล่าว่า นี่ละคือสวรรค์ของนักดูนก เดินทางไปเที่ยวท่องส่องนกลั้นลาได้ 3 วัน แต่กลับมาป่วยงอมแงมถึง 2 สัปดาห์ “เราอายุมากแล้ว แต่ไม่เจียมสังขาร”
ในกลุ่มนักดูนก ดร.สมคิดหรือพี่จ๊าของน้องๆ มีอายุมากที่สุด แต่เธอยังคงยกขาตั้งกล้องด้วยตัวเอง เดินเข้าป่าระยะทางหลายกิโลเมตรได้อย่างผ่านฉลุย ด้วยพื้นฐานการเป็นนักกีฬาตั้งแต่ยังเด็ก นักวิ่ง นักยิมนาสติก ครูสอนเต้นแอโรบิก และเวทเทรนนิ่ง ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว “อายุไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าเราดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี อยู่ที่ความตั้งใจจริงมากกว่า”
60 คิดเข้าป่า แล้วคนรอบข้างล่ะมีความเห็นหรือคำห้ามอย่างไร “สามีเลิกห้ามไปแล้วละ แรกๆ ก็เป็นห่วงเพราะเราเป็นคนทะเล เกิดที่ชลบุรี ไม่เคยเข้าป่าแบบนี้ แต่ทุกวันนี้เขาชื่นชม พอเห็นรูปถ่ายฝีมือเรา เขาเข้าใจ ทุกวันนี้เวลาไปกับแก๊งเพื่อนๆ ตีสามมารวมตัวกันที่บ้าน สามีจะออกมาส่ง ช่วยส่งของขึ้นรถ”
ส่วนลูกชาย แรกๆ ก็เป็นห่วงว่าการดูนกทำให้แม่ห่างจากการปฏิบัติธรรม แต่เธอกลับมองว่าการดูนกคือการทำสมาธิรูปแบบหนึ่ง “บางทริปไปแล้วนกไม่มา เราคอยทั้งวันจนเย็น ระหว่างรอ เรากำหนดลมหายใจไปด้วย ทำสมาธิไปด้วย เมื่อลูกชายเข้าใจ เขาแซวแม่ว่า นี่อาจเป็นวิปัสสนารูปแบบใหม่ ปักษาวิปัสสนา”
โรคร้ายแรงจากพงไพร
กิจวัตรประจำวันของ ดร.สมคิด วันจันทร์ถึงศุกร์ คือการทำหน้าที่เลขาธิการสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย หากมีการแข่งสำคัญ จะทำหน้าที่พานักกีฬาไปแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
...แต่เมื่อปฏิทินถึงวันหยุดสุดสัปดาห์เมื่อไร การดูนกของเธอคือการรอคอย หากเป็น “นกหมาย” ผู้เชี่ยวชาญจะนำคณะไปยังจุดหมายและเฝ้ารอตามช่วงเวลา นกบางชนิดจะมาช่วงหกโมงเช้า บางชนิดปรากฏกายตอนเที่ยงวัน แต่บางวันหากแดดจัดเกินไป นกก็อาจไม่มา อีกครั้งที่มีโอกาสเห็นนกคือช่วงเย็นที่นกจะมาอาบน้ำเตรียมเข้ารัง ในบรรดากลุ่มนักดูนก พวกเขาจะรู้เวลาและตื่นมาเฝ้าคอย เมื่อนกเหล่านั้นมาตามนัด ความสุขเหนือสิ่งอื่นใดคือการกดชัตเตอร์ด้วยใจที่เต้นระรัว
“หนึ่งในทริปที่ชอบที่สุดคือ เขื่อนศรีนครินทร์กาญจนบุรี เรานั่งอยู่ในเรือ สองข้างทางเป็นป่า ขณะที่เรือโคลงไปโคลงมา เราต้องซ่อนกล้องให้เตี้ยที่สุด เราถ่ายนกยูงบิน บางรูปมันถลามาจากท่อนไม้ บางคนบอกว่าถ้าถ่ายภาพนกบนเรือได้ ถ่ายภาพที่ไหนก็สวย” นกสายพันธุ์โปรดที่เธอชื่นชอบคือ นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ (Black-backed Kingfisher) สีสันเหมือน
ตัวการ์ตูน มองแล้วสดใส ความสุขหลังจากกดชัตเตอร์ได้ภาพมาแล้วคือการนำภาพมาเปิดดูหลังจบทริป บางทีสนุกที่ได้แบ่งปันกับกลุ่มเพื่อนในโซเชียล เป็นสังคมเล็กๆ ที่ช่วยเหลือกัน ทุกคนวางหมวกที่เคยสวมมาถ่ายภาพเพราะมีความสุข ในป่ามีแต่ความเท่าเทียม
“อากาศก็ดี ป่วยๆ เข้าป่าไปทีนี่หายป่วยได้เลย” เธอพูดติดตลกว่า โชคดีของการเป็นคนแก่คือ เมื่อลงจากรถ เด็กรุ่นน้อง รุ่นลูกจะวิ่งมาช่วยยกของ แต่หารู้ไม่ว่าบางทริปที่นกบินหนี ทุกคนวิ่งตาม มารู้ตัวอีกที เด็กๆถามหาว่าเธออยู่ไหน และพบว่าพี่จ๊าไปรออยู่ข้างหน้าก่อนแล้ว วิ่งเร็วกว่าเด็กๆ เสียอีก
ในวัยย่าง 64 ปี เธอยอมรับว่าตอนนี้เธอมีโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่งนั่นคือโรครักการถ่ายรูปนก โรคนี้ร้ายแรงมากเพราะแพร่กระจายเร็ว อาการเกิดขึ้นหลังเกษียณ วิธีบำบัดรักษามีวิธีเดียวคือพาตัวเองเข้าป่า แล้วกลับมาพร้อมภาพนกสวยๆ ที่ดูกี่ครั้งก็ร่าเริงใจ