คอลัมน์ : Cover Story
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารโอ-ลั้นลา ฉบับเดือนตุลาคม 2559
“เราก็นั่งรอดูนกไป แล้วแต่นกตัวไหนจะเมตตาบินผ่านมาให้เราได้ถ่ายรูป” ประพจน์ รักรื่นเริง เล่าพลางอมยิ้มบนเก้าอี้ตัวโปรดที่เขาใช้อาศัยนั่งพักในป่าเพื่อรอนกอยู่เป็นประจำ เพียงแต่วันนี้เก้าอี้ตัวนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีตในซอยสุขุมวิท 27 แต่ถึงกระนั้นบ้านเขาก็เต็มไปด้วยแมกไม้ที่บางครานกกินปลีแวะมาแอบกินน้ำหวานอยู่หลังดอกพู่ระหง
นกแอบคน คนก็แอบนกและกดชัตเตอร์ด้วยความสุข
ประพจน์ในวัย 64 ปี ผูกพันกับกล้องถ่ายภาพมาตลอดชีวิต จบวิชาการถ่ายภาพจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และได้รับบรรจุเข้าทำงานสำนักข่าวกรองแห่งชาติและทำงานในหน่วยงานนี้ยาวนาน ก่อนจะลงชื่อเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด
ประพจน์เปรียบเทียบการถ่ายภาพบุคคลและเหตุการณ์เพื่อความมั่นคงของประเทศกับถ่ายภาพนกในธรรมชาติว่า งานข่าวกรองเหมือนหนังเจมส์ บอนด์ บางครั้งต้องซุ่มนิ่งอยู่ในรถ บางครั้งต้องซ่อนตัวในที่แคบ บางครั้งรออยู่ค่อนวันครึ่งคืน หรือแม้แต่หลายวันเพื่อติดตามบุคคลที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ การถ่ายนกก็อาศัยความอดทนสูงเช่นกัน
บางทริปได้ภาพนกสวยสมใจ บางทริป “กินแห้ว” ก็มี “อย่าว่าแต่รอวันเดียว ทั้งทริปไม่ได้นกตัวที่ต้องการเลยก็มี หนหนึ่งตั้งใจไปถ่ายนกแต้วแร้วที่มีถิ่นอยู่หิมาลัย เขาจะมาที่อุทยานภูสวนทราย ชายแดนไทย-ลาว ไป 3 คืนไม่เห็น คณะอื่นมาเฝ้าต่ออีก 3 คืนก็ไม่เห็น มีคนบอกว่างวดนั้นเขาหายไปสิบวันถึงกลับมา”
ธรรมชาติรักษา
จุดเริ่มต้นกิจกรรมดูนกเริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2532 เขาป่วยแบบหาสาเหตุไม่ได้ ท้องอืด เฟ้อ เรอเปรี้ยว ไม่สบายตัว หมอวินิจฉัยว่าเกิดจากความเครียด เมื่อหลานชวนเที่ยวป่าแก่งกระจานเพื่อพักผ่อน เขาจึงไม่รีรอ “พอได้ทำอะไรสนุกสนาน คุณจะลืมความเจ็บปวด แม้ไม่ทั้งหมด แต่รู้สึกว่าดีขึ้น”
เขากลับมาด้วยความผ่อนคลาย รู้สึกสบายตัว แม้แต่การขับถ่ายก็ไม่เป็นปัญหา แถมยังได้ถ่ายภาพนกและธรรมชาติซึ่งเขาชอบเป็นทุนเดิมตั้งแต่สมัยเรียน จากนั้น ยามว่างเขาก็ส่องไพรดูนกอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดเมื่อหลายปีก่อน ได้รับเงินก้อนหนึ่งมาซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพนกอย่างจริงจัง โดยเลือกซื้ออุปกรณ์มือสอง และมีเงินบำนาญให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ
ทุกครั้งที่ออกทริป ประพจน์จะบรรจุการ์ดกล้องให้พร้อมทั้ง 2 สล็อต เขาไม่เน้นการถ่ายรัว ต่อเมื่อมั่นใจจึงกดชัตเตอร์ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดตัวมาจากการใช่้ฟิล์มมาค่อนชีวิต ส่วนเสื้อผ้าไม่ต้องมากชุดเพราะใส่ซ้ำหลายวันได้ไม่ผิดกติกาสำหรับคนเที่ยวป่า ที่สำคัญต้องมีบัดดี้เดินทางด้วยเสมอ และจะไม่ขับรถเอง ด้วยอายุอานามไม่ใช่หนุ่มๆ
เมื่อไปถึงจุดดูนก จะมองหาที่เหมาะแล้วปักหลักนั่งรอบนเก้าอี้สนาม รอนกอย่างใจเย็นที่จะบินเข้ามาใกล้ หลักการในการถ่ายภาพนกและสิ่งมีชีวิตของเขาคือต้องจับภาพให้เห็น “ดวงตา”
ปีๆ หนึ่งเขาจะเดินทางประมาณ 20 ทริป ภาพที่ได้มาจะแบ่งปันให้เพื่อนฝูงชื่นชมในโลกเฟซบุ๊ก Prapoj Rakruenreang ใครขอภาพไปใช้หากเป็นประโยชน์กับประเทศเขาให้โดยไม่คิดมูลค่า
“แหม...ถ้านกพูดได้ แล้วจ้างผู้จัดการดูแลลิขสิทธิ์พวกเราคงจะถูกเรียกเยอะ เพราะถ่ายกันอีลุ่ยฉุยแฉก ทุกวันนี้ถ่ายภาพนกมีหลายกลุ่ม กลุ่มละหลายร้อยคน ผมเองถ่ายเพื่อความเพลิดเพลิน รูปที่ผมถ่ายก็เหมือนธนบัตรแหละ” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี “ธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์มา อยู่ในกระเป๋าคุณก็คือของคุณ อยู่กระเป๋าคนอื่นก็ของคนอื่น แค่ได้ถ่ายภาพ ผมก็มีความสุขแล้ว”