40 ปีที่แล้ว ขณะดีไซเนอร์หัวกะทิกำลังระดมสมองกันอย่างเมามันในที่ประชุมของบริษัทออกแบบชั้นนำของโลก แพทริเชีย มัวร์ (Patricia Moore) นักออกแบบหญิงหนึ่งเดียวในนั้นโพล่งขึ้นกลางห้องประชุมว่า "ทำไมเราไม่ออกแบบที่เปิดตู้เย็นสำหรับคนที่เป็นโรคไขข้ออักเสบบ้างล่ะ"
คนในห้องประชุมกรอกตามองบน โยนปากกาแล้วบอกเธอว่า
"เราไม่ออกแบบเพื่อคนพวกนั้นหรอก!!" ...
"คนพวกนั้น?!" ดังก้องอยู่ในใจ และแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้มัวร์ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่แตกต่าง
ในตอนนั้น สังคมอาจเห็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ ไม่ชัดเจน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตอันใกล้ “คนพวกนั้น” ที่หลายองค์กรมองข้ามจะกลายเป็นคนกลุ่มหลักของสังคมอย่างแน่นอน มัวร์ไม่เคยมองว่าคนกลุ่มนี้ไร้ความสามารถ แต่ละกลุ่มก็มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตต่างกัน ฉะนั้นหน้าที่ของนักออกแบบคือ สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อให้คนทุกกลุ่มมีชีวิตที่ดีขึ้น
แปลงร่างเป็นหญิงชรา
นี่คือจุดเริ่มต้นให้มัวร์คิดการทดลองพิเศษขึ้นในปี 1979 - 1982 ตอนนั้นเธอเพิ่งจะเป็นเด็กสาวอายุ 26 ปี และไม่เข้าใจว่าคนสูงอายุต้องการอะไร เธอจึงปลอมตัวเป็นหญิงชราวัย 80 ปี แล้วเดินทางไปยัง 116 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นอกจากจะลงทุนแต่งหน้า-แต่งผิวจนเหมือนคนชราทุกกระเบียดนิ้วแล้ว มัวร์ยังลดทอนความสามารถด้านต่างๆ ของร่างกายเท่าที่จะทำได้ เธอใช้ที่อุดหูเพื่อให้ได้ยินเสียงคลุมเครือ ใส่แว่นตาเพื่อให้สายตาพร่ามัว เอาผ้าผูกรัดสะโพก หัวเข่า นิ้วและข้อพับต่างๆ จนทำให้เธอเดินไม่ถนัด ยกแขนก็ไม่ได้ เชื่องช้า และปวดเมื่อยตามตัวตลอดเวลา จนเธอต้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้าง แถมเธอยังโดนกลุ่มเด็กชายเกเรรุมแกล้งและทุบตีอีกตะหาก!!
...นี่คือเรื่องจริงของชีวิตคนชรา
มัวร์ใช้ชีวิตแบบที่เล่ามาอยู่ 3 ปี เธอพบว่าการบริการพื้นที่ ระบบโครงสร้างอาคาร-สาธารณูปโภค และระบบความปลอดภัยในสังคมนั้นไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุสักนิด ทำให้เธอต้องคอยพึ่งพาคนอื่น ทั้งที่อยากทำด้วยตัวเอง ประสบการณ์ตรงแบบนี้ทำให้มัวร์เข้าใจหัวอกผู้สูงวัยได้ลึกซึ้ง เธอจึงสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด
นั่นทำให้ผลงานของมัวร์มีตั้งแต่เครื่องใช้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน บรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มทุกวัย เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปจนถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน ที่พักอาศัยและยานพาหนะ ทั้งยังเป็นเรี่ยวแรงหลักในการวิเคราะห์ตลาดและเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อคนสูงอายุ ผลงานและแนวคิดของเธอถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย จนติดอันดับ 1 ใน 40 นักออกแบบที่ตระหนักถึงสังคมมากที่สุดในโลก
...และแล้ววงการออกแบบระดับโลกก็ต้องหันกลับมามองเธออีกครั้ง แต่ไม่ใช่ด้วยสายตาแบบเดิมอีกต่อไป ว้าว! ล้ำจริงๆ สำหรับแนวคิดของผู้หญิงคนนี้ที่ตั้งต้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว!!
คลิปการทดลองของมัวร์
ทำไมของใช้คนสูงอายุและผู้พิการต้องหน้าตาเหมือนเครื่องมือแพทย์ ทำไมเก้าอี้วีลแชร์จะกลายเป็นของเก๋ๆ ทันสมัยบ้างไม่ได้
คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวของมัวร์ จากการทดลองแปลงร่างใช้ชีวิตแบบหญิงชราอยู่ 3 ปี มัวร์เข้าใจความต้องการ และเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทุกสิ่งที่ตกตะกอนอยู่ในสมองเธอถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เน้นใช้งานง่าย เอื้อต่อสรีระและกำลังของผู้สูงวัย และคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก
ผลงานของมัวร์นั้นมีหลากหลาย แต่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้เธอจนได้รับรางวัลคือ “มีดปอกผลไม้” อาจฟังดูธรรมดา แต่คนชราและผู้ป่วยไขข้ออักเสบรู้ดีว่ามันใช้งานยากและอาจเกิดการบาดเจ็บได้ แต่มีดที่มัวร์ดีไซน์มีดีกว่านั้น! เพราะด้ามจับสอดรับกับมือผู้สูงอายุที่เริ่มเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แม้ว่ามือเปียกหรือลื่นก็ไม่หลุดง่ายๆ องศาและลักษณะใบมีดที่ออกแบบมาเพื่อผ่อนแรงกดโดยเฉพาะ
อีกชิ้นที่โดดเด่นคือที่เปิดกระป๋องสำหรับผู้ที่ถนัดทั้งมือซ้ายและขวา ด้วยสัมผัสเบามือแต่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังลบขอบแหลมคมของฝากระป๋องหลังจากเปิดเสร็จแล้ว ยังมีอุปกรณ์ครัวสำหรับเด็กๆ ที่อยากช่วยพ่อแม่เตรียมอาหาร ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะน้อยแบรนด์จะใส่ใจในรายละเอียดแบบนี้
Universal Design การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล
หลายคนอาจคิดว่าอุปกรณ์สำหรับคนสูงวัยนั้นราคาแพงและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง แต่มัวร์ก็พยายามลบข้อจำกัดนี้ด้วยงานออกแบบอย่างบันไดลาดเอียงรุ่นพิเศษสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่คำนวนองศาและวัสดุมาเพื่อความปลอดภัย สามารถเลือกโทนสี รูปแบบ และติดตั้งเองได้ไม่ยาก นอกจากนี้เธอยังออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีขนาดเล็กลงแต่ครบครันด้วยอุปกรณ์ที่สะอาด ใช้ง่าย และปลอดภัย
งานออกแบบตู้โดยสารรถไฟรางเบา ที่มีทางขึ้นและพื้นที่สำหรับรถวีลแชร์ งานบริการอุ่นของแช่แข็งภายในเวลาอันรวดเร็วก็ถูกใจผู้สูงวัยชาวอเมริกัน เพราะไม่วุ่นวาย ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และที่สำคัญราคาไม่แพง หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเล่าอาจมาดูเป็นเรื่องเล็กน้อยมากแต่นั่นแหละคือปัญหา มัวร์มักมีปากเสียงกับนายทุนและผู้ว่าจ้าง เพราะเธอไม่เคยปล่อยให้รายละเอียดเล็กน้อยผ่านไป เธอคิดว่าถ้าผลิตภัณฑ์ไหนทำให้ผู้ใช้ลำบากหรือเกิดการบาดเจ็บนั่นหมายถึงงานออกแบบผิดพลาด
มัวร์มองว่าในขณะที่อัตราการเกิดของคนทั่วโลกดูจะน้อยลงทุกที แต่จำนวนผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ท้ายที่สุดอาจไม่มีเด็กรุ่นใหม่เพียงพอที่จะดูแลพ่อแม่ นั่นคือเหตุผลที่ประเทศญี่ปุ่นตื่นตัวและพยายามพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง แต่มัวร์ยืนยันว่าเราต้องหาทางดูแลตัวเองให้ได้ ทั้งเรื่องการกิน สุขภาพ การเดินทาง ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยุคใหม่ที่มักใช้ชีวิตตัวคนเดียว งานของมัวร์ ส่วนใหญ่จึงเน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้แบบเบ็ดเสร็จโดยรบกวนผู้อื่นให้น้อยที่สุด และเมื่อทุกคนสามารถทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างง่ายดาย อนาคตเราอาจไม่เห็นภาพคนแก่นั่งซึมอยู่บนเก้าอี้เพื่อคอยให้ลูกหลานมาดูแลอีกต่อไป แถมการได้ขยับตัวขยับสมองบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุนั้น เบิกบาน...ลั้นลาขึ้นเป็นกอง
เครดิต :ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
www.sgiquarterly.org
www.bangkokpost.com
www.cu-tcdc.com
www.core77.com
https://youtu.be/cpNlBML2FFo?t=33