นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Happy
“เราทุกคนล้วนมีหนังสือหนึ่งเล่มอยู่ในตัวเอง”
เป็นประโยคจากครูรัตน์-วิรัตน์ สมัครพงศ์ เจ้าของเพจ "เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ? By KruRat.com" เฟซบุ๊กเพจที่ให้แรงบันดาลใจคนวัยเกษียณ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ก่อตั้งคอมมิวนิตี้ออนไลน์ “ชมรมผู้เชี่ยวชาญชีวิต (ชชช.)” ที่มีสมาชิกหลักหมื่นแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างอบอุ่น
หนังสือของครูรัตน์คงมีหลากหลายรสชาติ มีสุข มีทุกข์ ล้ม ลุก สนุก เศร้า เขาเคยเป็นทั้งครูสอนเด็กเล็กๆ ก่อนหันหลังจากงานที่รักเข้าป่าในยุคขัดแย้งทางการเมือง ถูกสอนให้คับแค้นและเรียกร้อง เคยพบกับพิษเศรษฐกิจชีวิตแทบไร้หนทาง และเคยพบกับแสงทองแห่งศรัทธาที่เปลี่ยนเขาเป็นครูรัตน์คนใหม่และโน้มนำให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วย “ความรัก” จนนำมาสู่งานในโลกออนไลน์ที่เขาทำอย่างมีความสุขทุกวันนี้
ชีวิตบทแรกๆ ของครูเป็นอย่างไร
ผมเป็นเด็กชนบทมาอาศัยอยู่ในเมือง ฐานะครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย วัดคือบ้าน คือที่หล่อหลอมและสั่งสอนให้ยึดถือด้านความกตัญญู ในยุคที่สังคมไทยเผชิญการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนหนุ่มสาวจากบ้านเพื่อเข้าป่าและค้นหาคำตอบของชีวิต ผมเป็นคนหนุ่มสาวในกลุ่มนั้น การไปอยู่ป่าทำให้ผมไม่มีศาสนา ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ภายหลังออกจากป่าตามนโยบาย 66/23 ผมกับภรรยาก็ช่วยกันทำธุรกิจ ประสบความสำเร็จ มีเงินทอง แต่ชีวิตครอบครัวเกือบพังทลาย ชีวิตของผู้ชายในสังคมไทยมันไม่น่าสรรเสริญ คือหนึ่งเป็นผู้สั่ง สองคือรักสนุก ซึ่งท้ายที่สุดผมมองว่ามันไม่เวิร์ก ก็คือเบื่อชีวิตแบบนั้นเหมือนกัน มันไม่ใช่ความสุขแต่เป็นความสนุกมากกว่า เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำไปบางเรื่องไม่ถูก มันขัดกับจิตสำนึกภายในของเรา
ภรรยาของผมเป็นคริสเตียนมาก่อน แต่ผมเองไม่เคยเปิดใจและมีศรัทธาแบบเขา แต่วันหนึ่งที่ผมพบว่าชีวิตทุกข์ที่สุด วันนั้นเป็นวันคริสต์มาส มีคนมาร้องเพลงที่บ้านเหมือนทุกปี ผมก็ปิดประตูเข้านอน แต่ถึงจะปิดประตู ผมก็ยังแอบฟังอยู่นะ
ตอนนั้นผมมีหนี้สิน คิดว่าพระเจ้าไม่ได้มาปลดหนี้หรอกนะ แต่คืนนั้นเพลงที่ได้ฟังทำให้ผมเห็นความรักและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมไปเรียนพระคริสตธรรมอย่างจริงจังและเป็นคริสเตียนในที่สุด
ความเชื่อในความรัก ความมีศรัทธา คือการปรับจูนทัศนคติบางอย่าง และสร้างนิสัยใหม่โดยมีศาสนาเป็นสื่อกลาง การสร้างนิสัยในชีวิตของเรา ทำได้สองอย่างก็คือ
หนึ่ง ซึมซับหรือเลียนแบบพระศาสดา
สอง เขาเรียกว่าพระเจ้าสร้างโลกโดยการตรัส เราสร้างตัวเองด้วยคำพูดหรือทัศนคติ เปรียบดังการป้อนโปรแกรมให้พลิกชีวิตตัวเองโดยมี GPS ใหม่คอยบอกทาง
จากที่เคยตำหนิ แอบกล่าวโทษคนรอบข้างในใจ ก็ได้คิด ได้ทบทวนใหม่ว่าข้อผิดพลาดหลายอย่างเกิดจากเราเอง เราก็บกพร่องและปรับตัวใหม่ และปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก
ความรักนี้นำมาสู่การทำางานเชิง Social Media ในปัจจุบันอย่างไร
เมืองไทยเรามีค่านิยมว่าต้องเรียนเก่งๆ ทำอาชีพดีๆ จะได้มีตังค์เยอะๆ หรือแม้กระทั่งเรียนเพื่อได้เป็นเจ้าใหญ่นายโต หรือนั่งทำงานในห้องแอร์สบาย แต่สิ่งที่เราไม่เคยนึกเลยก็คือว่าแล้วชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร แล้วเราเป็นใคร ซึ่งคำถามนี้ตอบยากมากนะสำหรับคนวัยผม
ถ้าอธิบายได้ว่า Who you are แล้วคุณจะตอบต่อไปได้ว่า What you act แล้วการทำอะไรของคุณก็จะเป็นคำตอบ นี่เป็นคำถามเชิงความเป็นมนุษย์เลย คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า
Who am I?
Who are you?
จนกระทั่งผมได้ฟังคุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรระดับโลกที่ทำหนังสือเสียงออกมาชุดหนึ่งชื่อ “หาตัวเองให้เจอ” กล่าวถึงคนหนึ่งคนควรหา The Best Version ของตัวเองให้ได้ และดึงสิ่งนั้นออกมาพัฒนา
ผมค้นพบว่าชีวิตของผมเกิดมาเพื่อเป็นครู มีอยู่ช่วงหนึ่งผมมีความสุขมาก ตอนที่ผมเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนประถม ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี แล้วอยู่กับเด็กทั้งวันตั้งแต่เช้า 9 โมง - 3 โมงครึ่ง เด็กเขาเล่นสนุกทั้งวัน เราก็อยู่กับเขาได้ทั้งวัน เวลามีปัญหาเด็กเขามาเรียก ครูรัตน์... ครูรัตน์
บทบาทครูคืออะไร ครูต้องสอนและต้องเป็นผู้ให้ ต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้ได้ก่อนแล้วจึงไปสอนคนอื่น แนวคิดนี้เองเป็นที่มาของเว็บไซต์ krurat.com เว็บที่ถ่ายทอดและช่วยเหลือคนได้ด้วยการเขียนและการสื่อสาร
อีกหนึ่งคนที่ผมได้เรียนรู้คือ คุณบอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ ผมไปอบรมกับท่าน และได้ฟังว่าโลกยุคนี้มีธุรกิจหนึ่งที่เรียกว่า Infopreneur (ธุรกิจให้ความรู้) คนเราแต่ละคนมีหนังสืออย่างน้อยหนึ่งเล่มอยู่ในตัว มีเรื่องราวที่ขายได้ มีเรื่องราวของเราที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นเรื่องราวที่จะช่วยคนอื่นได้
เมื่อค้นพบว่าตัวเองรักที่จะเป็นครู และอยากแบ่งปันข้อคิดความเห็นทางโลกออนไลน์ ตอนอายุ 63 ผมเลยไปเรียนด้านการเขียน และโซเชียลมีเดียเพิ่มเติม
คนไทยถูกโปรแกรมมาไว้ว่าเกษียณแล้วต้องพักผ่อน ไปเข้าวัดเข้าวา ทำใจให้สงบปล่อยวาง ชีวิตพอเพียงแค่นี้ บางคนเปิดร้านอาหาร... เจ๊ง บางคนไปเปิดร้านเกม... เจ๊ง แล้วการที่เจ๊งทำให้เขาเข็ด เพจ “เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ? By KruRat.com” จึงเริ่มต้นจากคำถามตรงนี้ คำถามปลายเปิดนี้เป็นพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวและแรงบันดาลใจ
ส่วน “ชมรมผู้เชี่ยวชาญชีวิต” เน้นสื่อสารแลกเปลี่ยนแง่คิด มุมมองหลังวัยเกษียณซึ่งกันและกัน บางคนเรียนโยคะ ปั่นจักรยาน โดยมีกฎที่รู้กันว่าจะไม่มีการบ่นว่าความไม่พอใจ เราจะไม่โยนขยะใส่บ้านคนอื่น
ทุกวันนี้คนต้องการคำตอบสำเร็จรูปซึ่งไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เราต้องตอบตัวเองได้ก่อนว่า อยากจะทำอะไร คนเกษียณส่วนหนึ่งรับราชการ ส่วนหนึ่งทำงานเอกชน ส่วนหนึ่งยังทำอาชีพเดิมได้อยู่ ส่วนหนึ่งไม่สามารถทำอาชีพเดิมได้แล้ว อะไรบ้างที่คาใจคุณแล้วในชีวิตนี้คุณไม่มีโอกาสได้ทำและอยากทำ นั่นแหละให้คุณลงมือทำ โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่คุณมี
ถ้าชีวิตของคุณคือ “หนังสือ” และคุณเป็น “ผู้แต่ง”
เล่มเก่าจบไปแล้ว เวลาที่เหลือคือเล่มใหม่
คุณจะเขียนว่าอย่างไร?
ช่วยตอบหัวใจหน่อยครับ
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)