นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Cover Story
หลังวัย 60 ที่คนจำนวนไม่น้อยรามือจากงาน ถวิลหาการพักผ่อน แต่ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน กลับเริ่มฝันครั้งใหม่ ฝันเล็กแต่ยิ่งใหญ่ เพราะคืองาน 'สร้างคน' กับ 'โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน' ซึ่งครูเล็กบริหารโรงเรียนนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว
พื้นที่กว่า 100 ไร่กับเด็กนักเรียนเกือบ 80 คน
“แดดมันร้อนแต่ลมมันเย็น เทียบกับอากาศกรุงเทพฯ แล้วคนละกลิ่น...สองสามเฮือกแรกของลมหายใจทำให้รู้สึกขึ้นมาเลยว่า…น่าจะมาอยู่หัวหิน”
“มาอยู่หัวหินจะทำ อะไรดี...ครูนึกถึงแม่ แม่สอนไว้ว่ามีกินมีใช้แล้วให้ทำงานเพื่อแผ่นดิน...แล้วก็อยากทำงานเพื่อแผ่นดินถวายในหลวง ครูเคยสัญญากับแม่ว่าจะทำโรงเรียน เราก็ 60 ไม่ต้องทำมาหากินอะไรมากมายแล้ว ทำตามสัญญาดีกว่า ก็ยกมือไหว้แม่นึกในใจบอกแม่ว่า ‘จะทำโรงเรียนแล้วนะ’”
เด็กหญิงในบทคุณครู
ครูเล็กเล่ากลั้วเสียงหัวเราะถึงตัวเองในวัยเด็กว่า ชอบฟังนิทานและวรรณคดีมาก เอาชฎามาสวมเล่นสมมติเป็นตัวละครต่างๆ ที่ได้ฟังได้อ่านมา เล่นเองไม่พอ ยังบังคับเพื่อนในละแวกซอยวัดระฆังโฆสิตารามให้มาเล่นลิเกด้วย เป็นคนช่างสอน ช่างกำกับมาตั้งแต่เด็ก
นอกจากชอบร้องรำ เด็กหญิงภัทราวดียังชอบวาดรูป ซึ่งเส้นสายที่สื่อออกมาหลายต่อหลายครั้งเป็นรูปโรงเรียน
“ออกแบบโรงเรียนประจำของตัวเองว่าตึกไหนควรอยู่ตรงไหนมาตั้งแต่แปดขวบ”
คุณแม่ของครูเล็ก (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) คงสังเกตอุปนิสัยของลูกจึงสร้างโรงเรียนสุภัทราไว้ให้ ซึ่งระหว่างเรียนอยู่ที่อังกฤษ ครูเล็กจะกลับมาสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนภัทราวดีทุกๆ ปิดเทอม คุณหญิงตั้งใจไว้ว่าจะฝากโรงเรียนนี้ไว้ให้ลูกดูแล แต่เมื่อครูเล็กกลับเมืองไทยจริงๆ กลับปฏิเสธเส้นทางที่แม่ปูไว้ให้ เลือกเส้นทางการเป็นศิลปิน เป็นนักทำละครเวที จนประสบความสำเร็จท่ามกลางเสียงชื่นชมและลูกศิษย์ลูกหามากมาย
น่าเสียดายที่ภัทราวดีเธียเตอร์ที่เธอปลุกปั้นถูกน้ำท่วมเสียหายไปมากเมื่อปี 2554 จึงรื้อและสร้างใหม่เป็นโรงแรม ไล่เลี่ยกันกับที่เธอคิดว่าจะสร้างผลงานใหม่ในบั้นปลายชีวิต
“ที่ดินโรงเรียนผืนนี้แม่เคยพามาดูตอนยังเด็กๆ แม่บอกว่าแล้ววันหนึ่งแกจะชอบ ครูเถียงว่าไม่เห็นชอบเลย ร้อนจะตาย ไม่มีอะไรเลย มีแต่ทรายกับแย้ แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วตอนกลับมาที่นี่อีกครั้ง ครูขนลุกซู่เลยเพราะว่าชอบ”
“เปิดโรงเรียนได้ไม่นาน วันหนึ่งหม่อมดุษฎี บริพัตรมาที่นี่ ได้ยินว่าภัทราวดีทำโรงเรียนเลยแวะมาดู เราดีใจมาก ไม่รู้จักท่านมาก่อน แต่รู้จักหนังสือของท่านที่เราเคยอ่านตอนเด็ก พอมาดูแล้วท่านชอบ ก็เลยโอนครูอนุบาลที่ท่านฝึกมาทั้งหมดให้มาเป็นครูที่นี่ ครูแต่ละคนสุดยอดมาก”
ตัวครูเล็กเองก็ร่วมสอนและบริหารโรงเรียนแบบเต็มเวลา และสร้างสรรค์การเรียนที่สนุกและแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นเสมอ
...เป็นอันว่าภาพที่คุณแม่เคยมองครูเล็กเอาไว้สวมทับกันสนิทกับสิ่งที่ครูเล็กเป็นในวันนี้
คนสร้างละคร ละครสร้างคน
การนำศาสตร์การแสดงมาใช้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของโรงเรียนนี้ แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เด็กเป็นนักแสดง แต่นำความชำนาญที่ครูเล็กมีมาเป็นเครื่องมือการเรียนการสอน การฝึกฝนคน ฝึกคิด ฝึกวางแผนฝึกสื่อสาร ฯลฯ
“เด็กๆ จะเรียนรู้ทักษะต่างๆ ผ่านการฝึกฝน ที่นี่จะให้เด็กเล่นละครเวทีทุกปีและเด็กทุกคนก็อยากเล่น แต่ถ้าคนไหนไม่ทำการบ้านเราก็จะบอกเขาว่าท่านี้ยากไม่เป็นไร ตัดท่านี้ออกไป หรือบทนี้ยาวให้คนอื่นพูด เขาได้ยินแค่นี้ก็เจ็บปวด รีบกลับไปซ้อมเพราะกลัวไม่ได้เล่น นั่นคือได้ฝึกวินัยแล้ว หรือถ้าถึงวันจริงเพื่อนทำพลาดจะทำยังไง เพราะจะโกรธก็ไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องแสดงอีก จะให้อภัยเพื่อนยังไง ให้อภัยตัวเองยังไง”
นอกจากการละครแล้ว ครูเล็กยังนำโครงงานและศิลปะอีกหลายแขนงมาบูรณาการในการเรียนการสอน เช่น การถ่ายรูป การทำภาพยนตร์ การทำอาหาร การทำวงดนตรี ฯลฯ
ครูเล็กบอกว่า เด็กๆ ที่นี่ไม่มีใครต้องเป็น 'badcitizen' เพราะเรียนหนังสือไม่เก่ง มนุษย์แตกต่างกันถ้าทำสิ่งนี้ไม่ได้ก็ไปทำสิ่งนั้น ให้เขามีโอกาสค้นหาตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ สำคัญคือเด็กต้องสมาร์ทเดินเหินสง่างาม พูดชัด เป็นตัวของตัวเอง มีเหตุผลมีสามัญสำนึก มีวิจารณญาณ แก้ปัญหาเป็น มีมารยาท มีสติ มีคุณธรรม รู้จริงในสิ่งที่ทำ มีความเป็นไทย และในขณะเดียวกันก็เข้ากับสากลได้ ซึ่งครูเล็กเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า 'ราก'
ครูเล็กชี้ไปต้นไม้ใหญ่ใกล้โรงอาหาร (เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่แต่ใบกลับโกร๋น) แล้วเล่าว่า
“ดูต้นไม้ต้นนี้สิ มันก็โตได้เท่านี้แหละเพราะมันไม่มีราก แล้วดูต้นข้างๆ ต้นมะขามเทศ ตอนครูมาที่นี่ใหม่ๆ ต้นเล็กนิดเดียว แต่นี่แป๊บเดียวโตแซงไปแล้วเพราะมันมีราก แปลว่าอะไร...แปลว่าคนไม่มีประวัติศาสตร์ไม่มีวัฒนธรรม มันก็โตได้แค่นี้ ให้ร่มเงาใครไม่ได้”
ความผิดพลาดและธรรมะ ครูที่ดีที่สุด
แม้แต่คนที่มีความรู้กว้างขวาง มีประสบการณ์ มีเงิน มีมิตร มีชื่อเสียงอย่างครูเล็กก็ยังเคยประสบกับความทุกข์ชนิดที่เกือบเอาตัวไม่รอด แต่ครูเล็กบอกว่าความผิดพลาดนี่เองที่ทำให้คนเราเรียนรู้มากที่สุด และสิ่งที่มาช่วยครูไว้ก็คือธรรมะ
“ตอนอายุ 40 กว่าๆ ดิฉันเป็นโรคประสาท ซึมเศร้าจากความเครียด ตอนนั้นอยากหายเพื่อนก็พาไปหาหมอผี หมอเสน่ห์ เสียเงินไปเยอะแยะแต่ไม่ได้ผล จนวันหนึ่งเพื่อนพาไปเข้าค่ายสมาธิ กลับบ้านมาคนที่บ้านทักว่า ‘คุณเล็กเป็นอะไร ทำไมวันนี้หน้ายิ้ม’ สำหรับคนที่ไม่เห็นเรายิ้มมาเป็นปี มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา เราก็ผ่องใสขึ้น จึงสนใจธรรมะมากขึ้น"
“มาเริ่มจริงจังตอนหลังงานศพแม่ เพื่อนๆ คุยกันว่าเขาจะไปนั่งสมาธิกับอาจารย์วสิษฐ เดชกุญชร เป็นค่ายแปดวันที่เชียงใหม่ เพื่อนถามว่าเล็กไปไหม ไปเถอะ แม่จะได้บุญ แต่เมื่อกลับออกจากค่ายธรรมะ เราบอกกับแม่เลยว่า ‘คนที่ได้บุญไม่ใช่แม่หรอก...แต่เป็นฉัน’ นี่ไงฉันเข้าใจแล้ว อิทธิพลของแม่น่ะ ตอนมีชีวิตก็ทำให้ลูกมีชีวิตที่ดี ตายไปแล้วยังทำให้ลูกได้ดี นี่คือแม่
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครูของแผ่นดิน
“การเป็นครูไม่ต้องยืนหน้าชั้น แค่ให้คนฟัง อ่าน หรือมองมาที่เราแล้วได้ประโยชน์ นั่นถือว่าเป็นครูแล้ว”
ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือครูคนสำคัญอีกท่านสำหรับครูเล็ก และครูเล็กยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณเมื่อพระองค์ท่านทรงส่งทหารมาช่วยทำฝายในบริเวณพื้นที่โรงเรียนร่วมกับชาวบ้าน
“ก่อนทำฝาย ถึงหน้าฝนน้ำท่วมหนักมากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ทหารมาสอนทำฝาย เวลาน้ำท่วมคนส่วนใหญ่จะนึกถึงเขื่อน แต่ในหลวงทรงสอนว่า ถ้าสร้างคันเขื่อนกั้น น้ำก็จะไปท่วมชาวบ้าน ทรงบอกว่าไม่ต้องกั้น แต่ให้นำน้ำเข้ามาทำฝายเก็บน้ำที่เขาไม่เอาแล้วไว้ใช้ แล้วฝายก็แก้ปัญหาได้หมด ทั้งน้ำท่วม น้ำไม่พอใช้ ตอนนี้เรามีน้ำใช้ในโรงเรียนอุดมสมบูรณ์ เพราะทำฝายก็ได้แก้มลิงมาพอถึงหน้าน้ำ น้ำก็จะค่อยๆ ไหลเป็นทอดๆ ไม่ท่วม”
“ในหลวงไม่ได้สอนแค่เรื่องทำฝาย แต่สอนให้เราเปิดใจให้เขาก่อนแล้วประโยชน์ที่ได้กลับมามันมหาศาล อย่างเราให้ฝรั่งเช่าที่ดินทำคอกม้า เขาก็มาช่วยดูแลถางหญ้าปรับพื้นที่ ทำให้ที่ดินมีประโยชน์ เราเก็บค่าเช่าแค่เล็กน้อย แต่สิ่งที่ได้รับคือเด็กเราได้ขี่ม้า เขาเฝ้าที่ดินให้เราเด็กได้เล่นกับแพะแกะเป็ดไก่ เราไม่ต้องลงทุนสักอย่างเดียว ถึงได้บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวสอนตรงนี้ เรื่องเปิดใจให้กว้าง บางทีไม่ใช่เรื่องเงินทอง แต่เราจะได้เพื่อนดีๆ”
ครูเล็กบอกว่าโรงเรียนภัทราวดีเป็นแรงขับที่อยากทำให้ตื่นเช้าทุกวัน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และเป็นงานที่ทำเพื่อแผ่นดินตามความหมายในความรู้สึกของตัวเองที่สุด และน่าจะเป็นโปรเจ็กต์สุดท้ายในชีวิต สมคำที่ครูเล็กเคยบอกว่า 'ฉันจะเป็นครูไปจนวันตาย'