นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Cover Story
“คนเราเรียนรู้ได้ตลอด อายุมากขึ้นก็แค่เรียนได้ช้าลง ต้องอดทนกับตัวเอง”
จอห์น ลี ผู้บริหารชาวสิงคโปร์วัย 74 ปี ยังคงเดินหลังตรง สมาร์ท ท่วงท่ากระฉับกระเฉง ทุกๆ เช้า ทีมงานของเขาจะได้รับข้อความทักทายพร้อมภาพสวยๆ (แน่นอน...ส่วนใหญ่เป็นภาพที่เขาถ่ายเอง) ด้วยความน่ารัก เป็นกันเอง ในมาดคุณปู่ใจดี เขาจึงเป็นที่รักของเหล่าพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน
วันที่ทีมงานนิตยสารโอ-ลั้นลาได้พบกับจอห์น ลี เขาเล่าเรื่องการถ่ายภาพอย่างไม่รู้เบื่อ นิ้วสไลด์เลื่อนไปมาเพื่อหารูปบนไอแพด ความสุขแสนสามัญของเขาคือการได้ชมตะวันขึ้นและตะวันรอนจากคอนโดย่านสาทร Sunset & Sunrise ฉากบนท้องฟ้าไม่เพียงให้กำเนิดภาพสวยๆ แต่แฝงด้วยปรัชญาชีวิต
'ภาษา' หน้าต่างสู่โลกกว้าง
จอห์น ลี พูดภาษาไทยคล่องแคล่ว เพราะฝึกภาษาไทยตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ เมื่อครั้งมาสอนวิชาสาธารณสุขศาสตร์ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก ที่จังหวัดสระบุรี
“ผมจำได้แม่นเลย ผมเริ่มเรียนภาษาไทยวันที่ 2สิงหาคม 1969 ที่ Union Language School ตรงสาทรใต้ นายจ้างสปอนเซอร์ให้ผมเรียน ครูที่สอนชื่อครูปรีดา เก่งมาก สอนด้วยการให้จำคำ เสียง และอัดเทป ครูบอกให้เราทำ 4 อย่าง หนึ่ง ฟังชาวบ้านสอง อ่านเดลินิวส์ สาม อ่านสยามรัฐ และสี่ ดูตลกล้อต๊อกเพื่อให้เข้าใจสังคมไทย”
ยังไม่พอ หลังวัย 70 เมื่อราวสองปีที่ผ่านมา เขาฝึกพิมพ์ดีดภาษาไทยเพื่อเพิ่มทักษะด้านการสะกดคำและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้สะดวกขึ้น
“นอกจากภาษาไทย ผมยังพูดและอ่านภาษาญี่ปุ่นได้ด้วย เพราะต้องบินไปญี่ปุ่นบ่อยจึงเรียนรู้ไว้พอที่จะไม่อดตาย ก่อนไปญี่ปุ่นทุกครั้งก็จะอ่านเพื่อเตรียมตัว คุยได้ สั่งอาหารได้ ผมเคยเรียนมลายูเมื่อนานมาแล้ว เมื่อคืนผมนอนดึกมาก เพราะฟังข่าวการเมืองมาเลเซีย ลองฟังมลายูดูว่าเราพอจำได้ไหม ก็พบว่าเราฟังเข้าใจ เลยคิดว่าอีกไม่นานจะกลับไปเรียนภาษามลายูเพิ่ม แล้วจะนำไปใช้ที่อินโดนีเซีย” จอห์นเล่าไปยิ้มไปด้วยแววตาเป็นประกาย
“คนเราเรียนรู้ได้ตลอด อายุมากขึ้นก็แค่เรียนได้ช้าลง ต้องอดทนกับตัวเอง”
เขาให้คำแนะนำที่โดนใจหลายคนที่อยากเรียน อยากรู้สิ่งใหม่ แต่เลิกเรียนกลางคัน อาจเพราะไม่อดทนกับตัวเองมากพอคุณปู่วัย 74 ไม่เพียงเข้าใจโลก แต่เข้าใจผู้คนในสังคมที่ตนทำงานด้วย เพราะเขาเข้าใจหลายภาษา ภาษาที่เป็นหน้าต่างสู่หัวใจผู้คน และยังเป็นหน้าต่างสู่โลกกว้างด้วย
เลนส์-ดวงตา-ชีวิต
จอห์นเรียนปริญญาตรีด้านศาสนศาสตร์ ปรัชญา แรกจบมาเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาประจำโรงพยาบาล
“โรงพยาบาลเต็มไปด้วยความสุขและความทุกข์ ไม่มีที่ไหนเห็นได้มากเท่าโรงพยาบาล และทำให้เห็นว่าชีวิตของเรานั้นสั้น จึงควรอยู่อย่างมีความสุข”
จากการทำงานในเครือโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายอยู่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ สมัยหนุ่มๆ จอห์นจึงต้องบินไปยังโรงพยาบาลในเครือปีละหลายๆ ครั้ง จนเกิดหลงใหลการเดินทาง กลับมาก็มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังทำอย่างไรล่ะที่จะให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพอย่างที่เขาเห็น ใช่ละ... เขาหัดถ่ายภาพ และตัดสินใจซื้อกล้องฟิล์มสไลด์ (chrome) ในราคากว่า 20,000 ดอลลาร์ ฟิล์มแต่ละม้วนต้องส่งไปล้างถึงออสเตรเลีย และรอรูปส่งกลับนานนับเดือน จนเมื่อโลกหมุนสู่ยุคดิจิทัล จอห์นก็เปลี่ยนอุปกรณ์ตามยุคสมัย รวมถึงใช้แท็บเล็ตโทรศัพท์มือถือ เป็นเครื่องช่วยบันทึกความทรงจำ
จอห์นเล่าว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาหวนกลับไปใช้กล้องแมนวล เพราะต้องการให้สมองได้เรียนรู้ ช่วยในเรื่องความคิดและจดจำ
“ผมชอบถ่าย Sunrise กับ Sunset เพราะเป็นภาพธรรมชาติซึ่งทุกวินาทีที่ผ่านไปนั้นจะไม่เหมือนกัน เป็นปรัชญาชีวิตว่า อะไรที่อยู่ในธรรมชาติ เราหวังจะให้มันไม่เปลี่ยน... เป็นไปไม่ได้”
สุขบั้นปลาย
จากการทำงานยุคแรก เขากลับสิงคโปร์และศึกษาต่อปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์และกลับมาเมืองไทยอีกครั้งตอนอายุ 55 ปี หลังเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก2540 และเข้าอบรมหลักสูตรการเป็นผู้บริหาร เรียนรู้การบริหารโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข ทั้งในเชิงบุคลากร โครงสร้างองค์กร ตลอดจนโครงสร้างทางการเงิน ได้โอกาสปิดดีลควบรวมกิจการโรงพยาบาลสำคัญๆ ก่อนวางมือเกษียณ
เขากลับมาไทยอีกเป็นรอบที่ 3 จากการตกปากรับคำชวนจากนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เมืองแนวคิดใหม่เพื่อ วัยเกษียณ ให้มานั่งเป็นประธานกรรมการ บริษัทพรีเมียร์ โฮม เฮลท์ แคร์ จำกัด (เครือโรงพยาบาลธนบุรี) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เพื่อใช้ประสบการณ์ที่เขามีจากการใช้ชีวิตในประเทศที่มีระบบการจัดการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุมาสร้างสรรค์ให้เกิด Smart Senior City ในสังคมไทย
จอห์นเล่าว่าบ้านเกิดของเขา สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว เขาจึงได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคม การตระเตรียมทั้งเชิง สาธารณปู โภค นโยบายและธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองคุณภาพชีวิตของสังคมสูงวัย
“ผู้สูงวัยห่วงว่าชีวิตจะยาวกว่าเงินในกระเป๋า จึงควรเตรียมตัวให้ตัวเองได้ทำอะไรที่เหมาะสมกับวัย เราจึงจัดการในด้านความมั่นคงให้ เพราะเราอยากทำให้จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เป็นสถานที่แห่งวาระสุดท้ายผู้สูงวัยที่สามีหรือภรรยาเสียชีวิตไปอาจมีเพื่อนใหม่หรือมีความรักครั้งใหม่ที่นี่ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีค่ามากขึ้นก็อยากอยู่ต่อมากขึ้น”
โครงการของจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ย่านรังสิต เป็นอาคาร 7 ชั้น 13 อาคารออกแบบอย่างพิถีพิถัน มีพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่เหมาะสม การออกแบบการใช้สอยภายในห้องและภายในโครงการผ่านการวิจัย วิเคราะห์และใคร่ครวญมาแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น อาคารชุดโดยทั่วไปมีความสูงประมาณ 8 ชั้น แต่โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ สร้างเพียง 7 ชั้น เพราะต้องการให้เพดานโปร่ง อากาศถ่ายเทสบาย หรือเมื่อเปิดประตูไปภายในห้อง พื้นที่ที่ติดกับประตูจะเป็นพื้นที่โล่งกว้างพอเพียงสำหรับผู้พักอาศัยที่ต้องใช้รถเข็น หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ลิงก์กับทีวีเพื่อคอยรายงานสภาวะสุขภาพของผู้อยู่อาศัยประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนไทยล้วนมีโครงการในลักษณะนี้แล้ว การทำโครงการเมืองผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้มีศักยภาพที่จะทำต้องถึงพร้อมทั้งครอบครองที่ดินผืนใหญ่ในมือ และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ โครงการต้นแบบนี้จึงจุดไฟแห่งความกระชุ่มกระชวยให้เขาอีกครั้ง
“ผมอยู่กับภรรยามา 50 กว่าปีแล้ว มีคนบอกว่าหลังเกษียณ ถ้าอยู่บ้านก็จะทะเลาะกัน ผมจึงตกลงกับเขาว่าจะไปทำกิจกรรมที่ทำด้วยกันได้ เช่น ไปดูซากุระที่ญี่ปุ่นด้วยกันทุกปี ไปกินอาหารแปลกใหม่ การใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีความสุข คุณต้องวางแผนล่วงหน้า อย่างน้อยก็ตั้งแต่อายุ 50 กว่า แล้วก็หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความหมายอยู่เสมอ” จอห์นทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม