นิตยสารโอ-ลั้นลา
Cover Story
ตอนที่โอ-ลั้นลาหมายมั่นปั้นมือจะทำธีมเรื่องโอกินาวาเมืองไทย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ แต่ระหว่างที่ยังคลำทางอยู่ว่าจะติดต่อท่านได้อย่างไร จู่ๆ คำตอบก็เดินทางมาถึง
วันนั้นทีมงานนัดพบอาจารย์ทัศนีย์ โรจนไพบูลย์ วัย 81 ปี เพื่อเรียนเชิญท่านมาเป็นวิทยากรในงานหนึ่ง อาจารย์ทัศนีย์เล่าว่าเคยเรียนวิชาสถิติกับ ดร.ประเสริฐมาก่อนพร้อมแนะนำหน่วยงานที่น่าจะมีหมายเลขติดต่ออาจารย์ได้
เมื่อติดต่อประสานไป อาจารย์ท่านยินดีให้มาเยือนถึงบ้าน ทีมงานรอถึงวันนัดด้วยความตื่นเต้น และการพบกันวันนั้นก็แสนประทับใจ เมื่อได้พบราชบัณฑิตวัย 100 ปี (ท่านเกิดปี 2461) ผู้ใจดี และรอบรู้ท่านร้องเพลงและเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังมากมาย น่าทึ่งมากว่าเหตุใดความทรงจำและความสามารถทางสติปัญญาท่านยังดีเยี่ยม ใครอยากรู้เคล็ดลับ ต้องอ่านให้ถึงบรรทัดสุดท้าย
โดยทั่วไปเราคุ้นเคยกับชื่อเสียง ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา การอ่านศิลาจารึกหลักต่างๆผู้ประพันธ์เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ เช่น ใกล้รุ่ง แว่ว ชะตาชีวิต และยังได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำเพลง “ฝากรัก” ในฐานะผู้ประพันธ์เนื้อร้อง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแห่งราชบัณฑิตยสภา
...แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่คนรุ่นหลังอาจไม่ได้สัมผัส
ทุกวันนี้ท่านยังไปทำงานที่ราชบัณฑิตยสภาทุกวัน ออกจากบ้านตอนเช้า ติดรถลูกเขยไปลงย่านสามเสน จับแท็กซี่ต่อไปราชบัณฑิตฯขากลับหากเสร็จงานพอดีเวลากันลูกก็รับกลับหรือไม่ก็นั่งแท็กซี่กลับถึงบ้านราวหนึ่งทุ่ม
ดร.ประเสริฐสืบสายสายเลือดเจ้าเมืองทางใต้ แต่ด้วยต้นตระกูลเคยแพ้ศึกจึงลี้ไปอยู่จังหวัดแพร่ เมื่อเล็กศึกษาที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยก่อนมาต่อโรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อด้านเกษตรวิศวกรรมที่ University of the Philippines at Los Banos ประเทศฟิลิปปินส์ และกลับมาสอนหนังสือที่วิทยาลัยเกษตรกลาง บางเขน (ชื่อเดิม ก่อนมาเป็น "มหาวิทยาลัย") และวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้
ต่อมาสอบได้ทุน ก.พ. ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโทและเอกทางสถิติจาก Cornell University สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2500 เป็นคนไทยคนแรกที่จบดอกเตอร์ด้านสถิติ และกลับมาสอนวิชานี้ให้นิสิตของเกษตรศาสตร์ทุกคณะและยังสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยมหิดลเนื่องจากเป็นวิชาพื้นฐานในการทำงานภาคนิพนธ์
“ผมมีลูกศิษย์อยู่ทุกจังหวัด ไปถึงจังหวัดไหนลูกศิษย์มักเอาถั่วต้มกับเป๊ปซี่มาให้ คงเพราะตอนผมสอนหนังสือชอบถือถุงถั่วต้มกับเป๊ปซี่มังครับ”
ดร.ประเสริฐได้ร่วมบุกเบิกและปูรากฐานให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลายประการ ทั้งการเริ่มนำระบบหน่วยกิตมาใช้ การผลักดันให้มีการโอนหน่วยกิตได้ หรือการเริ่มต้นใช้ข้อสอบกลางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น
“อันที่จริง ผมชอบวิชาคณิตศาสตร์ คำนวณ สถิติ สมัยไปเรียนฟิลิปปินส์ ผมต้องทำรังวัด วิธีการอย่างง่ายคือเขาให้ก้าวขายาวๆ 3 ก้าวเท่ากับ 2 เมตร ก็ได้ฝึกสมาธิไปด้วยในตัว ผมก็นับ 002-004-006-008 ก็เหมือนท่องยุบหนอ พองหนอนั่นเอง”
"เครื่องคิดเลข" จึงเป็น “ของเล่น” ยามว่าง เพื่อช่วยขบโจทย์ที่วงการคณิตศาสตร์เรียกกันว่า The Famous Unsolved Problem
“เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เล่น ผมมีข้อเสียคือถ้าได้คิดแล้วจะไม่ยอมวาง” น้ำเสียงเล่าถึงของเล่นโปรดอย่างมีความสุข
ส่วนสมาธิกับความจำที่ดีเยี่ยม น่าจะเป็นเพราะการฝึกฝนแต่วัยเยาว์ ตามแนวทางในหนังสือ “หลวงวิจิตรวาทการ” เช่น วิชชา 8 ประการ มหาบุรุษ เทคนิคเพิ่มความจำและฝึกสมาธิ จำของ 16 สิ่งได้ ส่วนความเอกอุด้านศิลาจารึก อาจารย์มาเรียนรู้เพิ่มเติมภายหลัง
“เมื่อก่อนเวลาเจอจารึกหลักใหม่ ไม่มีใครอ่านได้ต้องทำสำเนาส่งไปให้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ อ่านที่ปารีส ผมคิดว่าถ้าอีกหน่อยไม่มีท่านจะทำอย่างไรผมเลยศึกษาจารึกอย่างจริงจัง ซึ่งหม่อมเจ้าสุภัทรดิศดิศกุล ท่านชวนให้ผมไปสอนอ่านศิลาจารึกที่ศิลปากร”
อาหารการกินของอาจารย์เรียบง่าย ที่บ้านมีอะไรก็รับประทานอย่างนั้น ออกนอกบ้านก็รับประทานเส้นหมี่น้ำลูกชิ้น ยาปัจจุบันที่ต้องรับประทานประจำมีเพียงยาบำรุงกระดูกและยาลดไขมัน
ตอนอายุ 90 เคยเกิดอุบัติเหตุ ขึ้นรถแล้วรถปิดประตู อาจารย์ตกลงมา ก้นกระแทกกระดูกร้าว หมอต้องเฉือนเนื้อออกและใส่เหล็กดามไว้ และรับประทานยาบำรุง พักรักษาตัวและกายภาพจนหายดี ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อหัวใจที่ยังอยากออกไปทำงานทุกวัน
“ผมทำงานเพราะคิดถึงประเทศชาติ” น้ำเสียงอาจารย์หนักแน่นจริงใจ
“ตอนอายุ 94 มีคนชวนไปเขากบ ผมยังขึ้นบันได120 ขั้นได้ ไม่เหนื่อยเลย ส่วนความจำที่ยังดี อาจเพราะผมชอบบวกเลข เวลานั่งรถไปไหนเห็นทะเบียนรถ ผมก็จะบวก พอคันนี้แล่นไป คันใหม่เข้ามา ผมก็บวกอีก ผมชอบหาเลขร่วมของชุดเลขนั้นๆ ผมได้ยินว่าท่านอาจารย์สุกิจ (นิมมานเหมินท์) ท่านชอบถอดเลขรูทเล่น”
สมองยิ่งลับ ยิ่งคม...นี่เอง เคล็ดลับความฟิตของสมอง เห็นทีจะต้องฝึกเล่นเกม Sudoku เสียแล้ว