ในช่วงชีวิตของคนเรา ช่วงเวลาที่เรียกว่าเป็นวัยทำมาหากิน ประกอบด้วย 3 ระยะหลักๆ คือ
ระยะสะสม คือช่วงหลังเรียนจบแล้วเริ่มทำงานใหม่ๆ เฉลี่ยอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่รายได้ยังน้อย การออมจึงน้อยตามไปด้วยและแนวโน้มเป็นหนี้สูง
ระยะมั่นคง ประมาณ 30-40 ปีทำงานได้ระยะหนึ่งแล้ว สะสมประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน มีรายรับมากกว่ารายจ่าย จึงเริ่มมีการเก็บออม หรือสะสมสินทรัพย์
ระยะอุทิศ ประมาณ 50+ หมายถึงช่วงวัยก่อนเกษียณจนถึงวัยเกษียณอายุซึ่งน่าจะมีฐานะทางการเงินมั่งคง มีการเตรียมพร้อมสำหรับตนเองมาในระดับหนึ่งแล้ว มีเงินเก็บ เงินออมเพื่อใช้ดำรงชีวิตหลังจากไม่ได้ทำงาน เพราะในวัยผู้สูงอายุนั้น แม้ไม่ได้ทำงานแล้ว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญควรมีสำรองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไว้ด้วย หากไม่มีการเตรียมพร้อมก็อาจจะกลายเป็นภาระหนักในอนาคต
สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ทำวิจัยไว้ตั้งแต่ปี 2555) จึงได้สำรวจการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปี และพบว่าคนทำงานส่วนใหญ่มี 7 ข้อผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้มีเงินออมไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
7 ข้อผิดพลาดที่พบ คือ
- การเริ่มวางแผนช้าเกินไป อายุเฉลี่ยที่ผู้ตอบเริ่มต้นวางแผนเพื่อการเกษียณคือ 42 ปีซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับผลการศึกษาของประเทศอื่นๆ
- วางแผนด้วยความมั่นใจมากเกินไป ร้อยละ 71 ของผู้ตอบไม่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณแต่กลับมั่นใจว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปัจจุบัน
- วางแผนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม ผู้ตอบจำนวนไม่น้อยคิดจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีอายุมากขึ้นความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจะน้อยลง และจำนวนไม่น้อยวางแผนการเงินโดยไม่ได้คิดเผื่อปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบของเงินเฟ้อ
- ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร
- ประมาณอายุขัยตัวเองไว้น้อยเกินไป ทำให้มีโอกาสที่เงินออมจะไม่พอใช้ กรณีถ้าอายุยืนยาวกว่าที่คาดไว้ และด้วยการแพทย์ที่เจริญขึ้นทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ
- มีการออมเงินไว้น้อยเกินไป เมื่อถามถึงเงินออม ณ วันเกษียณที่ต้องการกับจำนวนที่มีอยู่ตอนนี้จริงๆ พบว่าส่วนใหญ่มีจำนวนเงินออมไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้
- คิดให้ดี ถ้าจะเกษียณอายุก่อนกำหนด ผู้ตอบร้อยละ 28 ต้องการเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งพบว่าผู้ที่ต้องการเกษียณก่อนกำหนดส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณเพราะถ้ายืดอายุการทำงานออกไปได้ ก็เท่ากับเพิ่มระยะเวลาและความสามารถในการหาเงินนั่นเอง
เครดิต :สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ภาพ : pixabay