นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Health
เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังจากเข้ารับการรักษา ซึ่งนอกจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยวิธีเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ซึ่งคนไข้จำนวนไม่น้อยได้รับผลข้างเคียงของการรักษา คือรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ผมร่วง เม็ดเลือดต่ำ ซีด ติดเชื้อง่าย
อันที่จริง ปัจจุบันมีวิธีการรักษามะเร็งหลังการผ่าตัดอีกหลายวิธีที่ก้าวหน้ากว่าเคมีบำบัดและรังสีรักษา แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทยนัก
เมื่อแรกที่ทีมงานโอ-ลั้นลาได้ยินคำว่าการรักษามะเร็งแบบ “การแพทย์แม่นยำ” และ “อวตาร” จึงรู้สึกสะดุดและชวนให้หาคำตอบว่าคืออะไร และคนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษานี้ได้ในราคาที่ถูกลงได้หรือไม่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SiCORE-PM-Siriraj Center of Research Excellence in Precision Medicine) ได้ไขคำตอบในเรื่องนี้
“เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ในตัวเราที่เกิดกายพันธุ์ในดีเอ็นเอส่วนที่เรียกว่ายีน จนกลายเป็นเซลล์ที่มีความสามารถพิเศษ โตเร็ว แย่งกินอาหาร เบียดบังเซลล์ปกติและเนื้อเยื่อรอบๆ รวมถึงแพร่กระจายได้ ซึ่งการที่เรารู้ว่ายีนส่วนไหนกลายพันธุ์จะพัฒนาไปสู่การหาวิธียับยั้งเซลล์นั้นได้”
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาวิธีทำลายเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งการตัดเฉือนออก การใช้รังสีรักษา การใช้เคมีบำบัด และยังมีการคิดค้น “ยามุ่งเป้า” (Targeted Therapy) ที่เข้าโจมตีเซลล์มะเร็งในส่วนยีนกลายพันธุ์โดยตรง ไม่ทำลายเซลล์ดีอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันยามีราคาแพง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีปัญหาว่าไม่ใช่เซลล์ของผู้ป่วยมะเร็งทุกคนจะตอบสนองต่อตัวยาเดียวกัน
ช่องว่างในการรักษานี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ ได้พยายามวิจัยและสร้างองค์ความรู้ “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine) เพื่อใช้ในการรักษามะเร็งในคนไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายจะเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมะเร็ง แต่ละคนจำนวน 2,000 ราย ภายในปี 2565 เพื่อนำมาวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่
ฐานข้อมูลนี้จะนำไปสู่
- การป้องกัน หากตรวจพบดีเอ็นเอหรือยีนกลายพันธุ์ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง จะสามารถหาวิธีคัดกรองแต่เนิ่นๆ หรือป้องกัน เช่น เลือกผ่าตัดอวัยวะนั้นออกก่อนกลายเป็นมะเร็ง อย่างในกรณีของดาราฮอลลีวูด แองเจลีนา โจลี เมื่อตรวจสอบประวัติครอบครัวและตรวจดีเอ็นเอจากเลือด พบว่า เธอมีการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็งเต้านมอยู่ จึงตัดสินใจผ่าตัดกลุ่มเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมออกก่อนเกิดโรค และต่อมายังผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกด้วย ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้มากกว่า 90%
- การรักษา เมื่อมีการตรวจพบเนื้อเยื่อหรือก้อนมะเร็งก็ตาม แพทย์จะทำการผ่าตัดรักษาตามมาตรฐาน จากนั้นจึงนำชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดออกนั้นมาถอดรหัสพันธุกรรมและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ เลือกวิธีการรักษาที่ตรงจุดและจ่ายยาให้ได้ผลแม่นยำขึ้น
“การแพทย์แม่นยำเหมือนระบบนำวิถีของจรวดเพื่อชี้ว่ามะเร็งของคนไข้รายนี้ต้องใช้อาวุธอะไรถึงจะเหมาะสมกับเป้านี้ ซึ่งปัจจุบันมียารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าในท้องตลาดกว่า 30 ชนิด และยาเคมีอื่นๆ รวมถึงยาต้านมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการวิจัยอีกนับร้อยชนิด
“ที่ผ่านมาแพทย์จะให้ยาสูตรหนึ่งกับคนไข้มะเร็งไปก่อนสัก 3-4 รอบ จากนั้นจึงค่อยเช็ก เจาะเลือด อัลตราซาวนด์ หรือทำการสแกนตรวจว่าก้อนมะเร็งมีการตอบสนองต่อยากที่ให้หรือไม่ เช่น ให้แล้วก้อนมะเร็งยุบลง หรือไม่โตขึ้น” คุณหมอมานพอธิบายพร้อมเล่าถึงความก้าวหน้าไปอีกขั้นของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
นั่นคือ การทำโครงการวิจัยที่มีชื่อเรียกไม่เป็นทางการว่า “อวตาร” (avatar) คือการนำเนื้อเยื่อมะเร็งที่ผ่าตัดออกมาแล้ว มาเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งในห้องแล็บจนเติบโตขึ้นเป็นก้อน 3 มิติ คล้ายอวัยวะเล็กๆ หรือ “ออร์กานอยด์” (organoid) แล้วใช้เซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงนี้ทำการทดสอบกับยาในหลอดทดลอง ว่าเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยนั้นไวหรือดื้อต่อยารักษามะเร็งชนิดไหนบ้าง ก่อนจะให้ยารักษามะเร็งกับคนไข้จริงๆ เปรียบได้กับร่างอวตารของผู้ป่วย
ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้รายนั้นเองแล้ว ยังรวบรวมเป็นฐานข้อมูลสำหรับรักษามะเร็งในผู้ป่วยรายอื่นได้ด้วย
โครงการการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง ทำการเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งและถอดรหัสพันธุกรรมเฉพาะบุคคลของผู้ป่วยมะเร็งคนไทย ได้รับทุนวิจัยเป็นปีที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศิริราชมูลนิธิ ซึ่งในการเก็บและถอดรหัสดีเอ็นเอมะเร็งแต่ละบุคคลมีค่าใช้จ่ายราว 1 แสนบาท/ราย จึงยังต้องการทุนสนับสนุนอีกมาก
“คนไทยเป็นคนใจบุญ เราได้ยินข่าวการบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วย สนับสนุนอาคารและเครื่องมือให้กับโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เสมอ แต่นอกเหนือจากการบริจาคเพื่อสร้างอาคารและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว เราอยากเชิญชวนให้มาช่วยกันสนับสนุน ‘งานวิจัย’ ด้วย เพราะหากงานวิจัยสัมฤทธิผล จะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายนี้ได้เป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งของคนไทย ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนายา วิธีรักษา และการป้องกันที่เหมาะกับคนไทยเอง”
ร่วมบริจาคในโครงการวิจัยดังกล่าวผ่านธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี “ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง” เลขที่บัญชี 901-7-05999-0
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานวิทยามะเร็งศิริราช โทร. 0 2419 4471-4 (ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้)
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)