นิตยสารโอ-ลั้นลา ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560
คอลัมน์ : Cover Story
“วังบูรพา” แหล่งแฮงก์เอาท์ของวัยรุ่นสมัยเมื่อ 60 ปีก่อน รายรอบด้วยโรงภาพยนตร์ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น คือ โรงภาพยนตร์คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์ (ทำพิธีเปิดเมื่อ พ.ศ.2497) ใกล้ๆ ยังมีศาลาเฉลิมกรุง ตลาดมิ่งเมืองแหล่งช้อปปิ้งสุดฮิตของสาวๆ แถมยังมีศูนย์การค้าทันสมัยและหรูหราที่สุดในยุคนั้น ที่เรียกกันว่า “ศูนย์การค้าวังบูรพา”
เวลาผ่านไป อดีตอันเจิดจรัสเหลือเพียงความทรงจำ ย่านวังบูรพาค่อยๆ เงียบเหงา โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่งปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย ศาลาเฉลิมกรุงเท่านั้นที่ยังคงอยู่ ด้านตลาดมิ่งเมืองก็เปลี่ยนโฉมมาสู่ห้างสรรพสินค้าร่วมสมัยในอาคารโคโลเนียลสีเหลืองที่มีเนื้อที่กว้างขวางถึง 14 ไร่ พร้อมชื่อใหม่ว่า “ดิโอลด์ สยาม พลาซ่า”
“ดิ โอลด์ สยาม” แหล่งแฮงก์เอาท์ สว. วัยลั้นลา ในวันนี้
ชุมชนที่เต็มไปด้วย 'เพื่อน'
“สมัยผมหนุ่มๆ ไม่มีที่อื่นอีกแล้ว หนุ่มๆ สาวๆ ต้องมารวมกันที่วังบูรพาเท่านั้น ขับรถคันโก้มาดูหนังอินเดีย พาสาวมากินไอศกรีม มีโรงภาพยนตร์ให้เลือกดูถึงสามโรง ไม่ว่าจะกลางวัน กลางคืน คึกคักมาก ส่วนที่ตรงนี้ เดิมคือตลาดมิ่งเมือง เป็นตลาดขายเสื้อผ้ามาเปลี่ยนเป็นดิ โอลด์ สยาม ราวยี่สิบกว่าปี แต่รุ่นผมก็ยังมากันอยู่นะ มาร้องเพลง มานั่งคุยกับเพื่อนๆ ส่วนผมก็มาร้านขายปืน ที่นี่เป็นห้างเดียวที่รวมร้านขายปืนไว้เยอะมาก ร้านเก่าๆ ในย่านนี้ก็มาอยู่ที่นี่หมด และโก๋หลังวังตัวจริงสมัยนั้นก็เดินอยู่ย่านนี้ด้วยเหมือนกัน”
สุมิตร์ ศิริไข นักเขียนและคอลัมนิสต์วัย 72 ปีแห่งนิตยสาร Guns World ย้อนเล่าถึงความรุ่งเรืองของย่านเก่าวังบูรพา
สุมิตร์กับเอกลักษณ์หมวกแบเรต์สีดำคือหนึ่งในสมาชิกชุมชน ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า ที่แวะเข้ามาใช้บริการอยู่ไม่ได้ขาดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี ยามเช้าสุมิตร์จะแวะไปร้านขายปืนที่อยู่ชั้นล่าง เพื่ออัพเดตข่าวสารใหม่ๆ เกี่ยวกับวงการปืน จากนั้นยามบ่ายก็ตรงมาเช็กแฮนด์ทักทายเพื่อนเก่าบริเวณศูนย์อาหาร ก่อนจะนั่งฟังเพลงเพลินๆ พร้อมกับบรรเลงงานเขียนเกี่ยวกับปืนเพื่อส่งต้นฉบับให้ทางนิตยสาร
“ลูกค้าดิ โอลด์ สยาม มีทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เดินช้อปปิ้งอยู่ด้านล่าง ซื้ออาหาร เสื้อผ้า แต่ลูกค้าเก่าๆ เขาจะตรงมายังศูนย์อาหารเลย เพราะศูนย์อาหารของที่นี่ไม่ได้มีแต่อาหาร แต่เป็นเหมือนชุมชนที่เต็มไปด้วยเพื่อน” สุพัตรา โพธิขำ ให้สัมภาษณ์พร้อมหันไปกล่าวทักทายลูกค้าที่กำลังเดินเข้ามาใหม่ เธอทำงานที่นี่ตั้งแต่วันแรกที่พลาซ่าเปิดในตำแหน่งพนักงานบัญชี กระทั่งขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายศูนย์อาหาร
“ที่นีไม่เหมือนศูนย์อาหารทั่วไป ความเป็นชุมชนคือจุดขาย คนส่วนใหญ่เข้ามาเพราะต้องการที่สังสรรค์พบปะเพื่อนฝูง มาร้องเพลง กินอาหาร เต้นลีลาศ รำวงบ้าง แต่ทางเราไม่ได้จัดให้นะ ลูกค้าเขาจัดเอง และจะรู้เองว่าวันนี้จะมีกิจกรรมอะไร เช่นวันจันทร์ก๊วนที่ชอบลีลาศจะมา เพลงวันนั้นก็จะออกแนวเต้นรำ ทำงานมาตั้งแต่ปี ’36 เรารู้ว่าลูกค้าเราเป็นอย่างไร"
เสน่ห์เสียงเพลง
ศูนย์อาหารดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า จึงไม่ได้มีเพียงร้านอาหารเจ้าเก่าย่านวังบูรพา แต่ยังได้จัดเวทีเล็กๆ พร้อมเปียโนหลังใหญ่ และมีดีเจคอยให้บริการความบันเทิงด้านเสียงเพลง และตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ศูนย์อาหารเปิด ก็มีลูกค้าหมุนเวียนกันขึ้นไปร้องเพลงไม่ได้ขาด ตุ๋ย ดิโอลด์ หรือ อัธยา ใจซื่อ หนึ่งในลูกค้าเก่าแก่วัย 56 ปีได้ให้รายละเอียดถึงความแตกต่างทางดนตรีที่ทำให้ศูนย์อาหารดิ โอลด์ สยาม พลาซ่ากลายมาเป็นที่หนึ่งในใจว่า
“ถ้าไปศูนย์อาหารอื่นบรรยากาศมันไม่ได้ เป็นคาราโอเกะบ้าง บรรยากาศทึมๆ บ้าง แต่ที่นี่เป็นดนตรีสด ใช้เปียโน ฟังแล้วเพราะกว่า มีดีเจคอยจัดคิวเพลง นั่งสบาย ราคาอาหารติดดิน จากที่เพื่อนแนะนำให้มาเมื่อสิบปีก่อน ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่าผมเป็นคนแนะนำให้เพื่อนๆ มา และเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของคนที่มาที่นี่มาเพราะเสียงเพลง”
พูดจบก็ขึ้นก้าวขึ้นเวทีไปร้องเพลง บุพเพสันนิวาสและ รักคุณเข้าแล้ว เพื่อเป็นการการันตีถึงที่มาของฉายาเงาเสียงสุเทพ ที่เพื่อนๆ ในศูนย์อาหารมอบให้ก่อนจะตามมาด้วยบทเพลงสนุกๆ จากก๊วน มานิตย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่มานั่งสังสรรค์ตั้งแต่บ่ายถึงเย็นย่ำในทุกวัน และในวันที่มากันครบทีม บทเพลงลูกกรุงอันเนิบช้าก็จะเริ่มเปลี่ยนมาเป็นชะชะช่า พร้อมกับการเปิดฟลอร์ลีลาศอย่างไม่เป็นทางการ
สังคมสูงอายุกับการจัดพื้นที่นันทนาการ
“ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า” จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดพื้นที่นันทนาการสำหรับคนสูงอายุให้ได้เข้ามาหัวเราะพูดคุย เล่าความหลัง ให้หัวใจกระชุ่มกระชวย
ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า เป็นห้างที่บุกเบิกการจัดพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันทั้งนโยบายรัฐ และสังคมได้ตื่นตัวและรับรู้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ (AgingSociety) และจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นลำดับถัดไป
ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนคำนึงถึงการจัดพื้นที่ให้สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ที่มุมหนึ่งของศูนย์อาหาร ชั้น 5 จะมีคณะ สว. มาร้องเพลง เล่นดนตรี และโชว์ลีลาลีลาศ หรือศูนย์การค้าบิ๊กซี ร่มเกล้า ก็จัดพื้นที่ศูนย์อาหารให้มีเวทีเพื่อความสำราญของ สว. เช่นกัน
ในส่วนของต่างจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเห็นความสำคัญ เช่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองบึงยี่โถ (บ้านฟ้ารังสิต) โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลพลับพลาไชย จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น และคาดว่าในอนาคตเทศบาลต่างๆ จะมีการจัดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุภายในโรงเรียนกันมากขึ้น