นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Happy
นี่เป็นโชคดีครั้งหนึ่งของทีมงานโอ-ลั้นลา ที่ได้มาเยือนบ้านของ ครูแดง-ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทชั้นครูวัย 73 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครโทรทัศน์หลายต่อหลายเรื่อง เช่น ‘คู่กรรม’ ‘นางทาส’ ‘คือหัตถาครองพิภพ’ ‘สายโลหิต’ ฯลฯ ทางช่อง 7 และ ‘บุพเพสันนิวาส’ ทางช่อง 3
หนังสือจำนวนมากตามมุมต่างๆ ของบ้าน โดยเฉพาะแนวประวัติศาสตร์และนวนิยาย บ่งชัด ถึงนิสัยรักการอ่าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานด้วย สวนหลังบ้านร่มรื่นด้วยแมกไม้และสายน้ำที่ไหลผ่านช่วยเสริมบรรยากาศให้ทำงานคิดและเขียนได้อย่างเพลิดเพลินไม่น้อย
นอกจากจะเป็นนักเขียนบทมือทอง อาชีพที่แท้จริงนั้นก็เป็น ‘ครู’ มากว่า 30 ปี โดยหลังสำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้าสอนที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาตลอดกระทั่งเออร์ลี่รีไทร์ ขณะที่งานเขียนบทละครโทรทัศน์ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่ทำควบกันมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จากการชักชวนของไพรัช สังวริบุตร
คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นภาพชีวิตตอนเป็น 'ครู' เท่ากับการเป็น 'นักเขียนบท' อยากรู้ว่าอาจารย์ศัลยาเป็นครูแบบไหน
เป็นครูที่ลุยค่ะ (ยิ้ม) เพราะวิชาที่สอนคือวิธีการวิจัย (Research Methodology) สอนให้นักเรียนทำวิจัย ทุกรุ่นต้องออกพื้นที่จริง ลุยเก็บข้อมูลตามจังหวัดต่างๆ บางทีขึ้นไปหาชาวเขา ไปเก็บข้อมูลกับชาวบ้านในชนบท เป็นที่กล่าวขานกันว่า เป็นงานที่ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก ทั้งหัวเราะ ทั้งร้องไห้มีทั้งเสียใจ ความผิดหวัง ความร่าเริงบันเทิงใจ มีทุกอย่างอยู่ในการออกภาคสนามครั้งหนึ่ง เป็นตำนานที่เล่ากันมา (ยิ้ม)
งานสอนกับงานเขียนบทเหมือนเป็นคนละเรื่อง แต่จริงๆ มันเชื่อมโยงกันได้บ้างไหม
สิ่งที่ต่างกันคือเนื้อหา แต่สิ่งที่เหมือนกันมากๆ ก็คือ ต้องทำให้ผู้เรียนและคนดูละครเข้าใจ
การสอนหนังสือก็เหมือนการเล่าอะไรบางอย่างให้นักเรียนเข้าใจ การเขียนบทก็คือการเล่าเรื่องให้คนดูเข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องมีศิลปะในการเล่า มีการเรียงลำดับ เตรียมเรื่องเล่าว่าเราจะขึ้นต้น จะไปต่อยังไง
การสอนกับการเขียนบทเป็นอาชีพที่ต้องเพิ่มพูนทักษะการเล่าเรื่องอยู่ตลอดเวลา เราเองก็ต้องประเมินตัวเองอยู่ตลอด บทละครก็ดูจากการตอบรับของคนดู สอนหนังสือก็ดูจากปฏิกิริยาของนักเรียน
ครูคิดเสมอว่า ละครที่ออกอากาศอยู่ในขณะนี้ คนดูเป็นคนจ่ายเงินนะ มันมาในรูปของสินค้าต่างๆ ที่คนดูซื้อ เงินค่าเขียนบทที่เราได้นี่ประชาชนเป็นคนจ่ายให้เรา เพราะฉะนั้นเราควรทำอะไรที่ตอบแทนเขาให้มากที่สุด ครูแคร์กับความสุขของคนดูนะ อยากทำให้เขามีความสุขที่สุด
เวลาออกฟิลด์ไปทำวิจัยกับชาวบ้าน ครูจะย่องๆ ไปบ้านเขาตอนกลางคืน ตอนที่เขากำลังดูละครเราออกอากาศ ทำเป็นไปคุย ไปเยี่ยมเขา แล้วก็ไปนั่งดูกับเขา (ยิ้ม) ดูปฏิกิริยาเขา หัวเราะตรงไหน ร้องไห้ตรงไหน สนุกสนานหรืองุนงงไม่เข้าใจตรงไหน เราก็รู้แล้วว่าเราเล่าอะไรที่มันไม่ชัดเจน
ข้อดีของการเขียนบทแบบถ่ายไปออนแอร์ไป คือเราจะคิดต่อได้ง่าย ตรงนี้นักแสดงเล่นดีนะ น่ารัก มีเสน่ห์เราก็จะมาขยี้ เหมือนวัดอุณหภูมิของละครได้ตลอดเวลา
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้การเขียนบทยากขึ้นกว่าเมื่อก่อนไหม
ไม่ได้รู้สึกชัดเจนว่ายากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ความยากเกิดเฉพาะเรื่อง เช่น เขียนเรื่องที่ต้องค้นมากมาย หรือเขียนเรื่องที่พล็อตหลวม เขียนเรื่องที่เหตุผลอ่อนมากและสุดท้ายเขียนเรื่องที่ไม่สนุก
แต่ถ้าพูดถึงการเล่าเรื่องนี่เหมือนกับเราทำโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ไม่มีสูตร แต่มีหลักในใจว่ามันไปตามเส้นทางนี้ ต้องทิ้งช่วง ทิ้งปมฉากนี้แล้วคนดูจะต้องอยากดูต่อ แล้วค่อยไล่ไปอีกฉากหนึ่ง และก่อนจะถึงฉากสำคัญเราต้องปูพื้นให้คนดูอยากรู้ไปจนถึงฉากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่างฉากโล้สำเภาใน ‘บุพเพสันนิวาส’ คนอยากดูมาก เราก็ต้องปูว่าจะไปให้ถึงฉากนี้ยังไงต้องลากความรู้สึกคนดูให้ไปกับเรา
ตอนเริ่มเขียนบทใหม่ๆ เรานึกว่าไดอะล็อก การวางพล็อต หรือการหักมุมนี่สำคัญ แต่เดี๋ยวนี้มาตระหนักแล้วว่า...การเล่าเรื่องนี่ล่ะสำคัญที่สุด อย่างเบรกหนึ่งถ้ามี10 ฉาก ในฉากต่อฉาก ทำยังไงให้คนดูอยู่กับเราทั้งเบรก โดยไม่กดรีโมตเปลี่ยนไปที่ไหน
ความสุขในวัย 73 ปีของครูคืออะไร
ความสุขในวัย 73 เหรอคะ เอ้อ... คืออะไร (นิ่งคิด) คือการที่ไม่มีความทุกข์ ไม่รู้ว่าตอบกำปั้นทุบดินไปหรือเปล่า แต่มันเป็นเรื่องจริง เพราะคุณแม่ (บรรเจิดศรี ยมาภัย) เป็นอย่างนั้นเป็นคนที่อารมณ์ดีที่สุด ไม่เคยว่าใคร ไม่เคยโกรธใคร ครูได้รับมาทางอ้อมโดยเขาไม่ได้มานั่งสอนเรานะ
ตัวครูเองนี่แทบไม่เคยโกรธใครแรงๆ แล้วพอเราไม่โกรธ ก็เลยไม่อารมณ์เสีย และก็เลยไม่ทุกข์
อีกอย่างคือเราไม่เคยมีความทุกข์จากการที่ไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ เพราะเราไม่เคยมีความอยากได้ในสิ่งที่สุดปัญญาจะหามาได้ ไม่อยากได้อะไรที่เป็นวัตถุเพชรนิลจินดา กิเลสจะน้อยมากสำหรับตัวเอง ครูก็เลยมีชีวิตที่มีความสุขมาตลอด
เราไม่ทำอะไรให้ชีวิตต้องมีเรื่องยุ่งยากเยอะแยะ ของกินเราก็จะกินในปริมาณเท่านี้ ที่อ้วนนี่ไม่ได้กินเยอะนะ เป็นเพราะนั่งมาก (หัวเราะ) ไปงานใหญ่ๆ ก็ไม่ต้องไปเลือกหาหยิบข้าวของประดับ ถึงรู้ว่ามีคนมอง แต่เราไม่แคร์ เราไม่ได้สวยงามด้วยเครื่องประดับเหล่านั้น และเราก็ไม่สวยอยู่แล้ว เครื่องประดับเท่าไหร่ก็ไม่พอ (หัวเราะ)
อยากเห็นภาพกิจวัตรประจำวันของคนทำงานที่บ้าน
เวลาครูนี่เป็นคนที่ทำอะไรเรื่อยเปื่อยมาก ไม่มีระเบียบอะไรในชีวิตเลย ถ้าอยากเขียนนะ ก็เขียนทั้งวันทั้งคืน
ที่ไม่เขียนนี่คือคิดไม่ออก เพราะเราต้องคิดให้ทะลุก่อนว่ามันต้องสนุก ถ้าไม่สนุกเราไม่เขียน ที่เขียนบทช้าเพราะต้องใช้เวลาคิดเยอะ ไม่ว่าจะนั่ง เดินในสวน ไปทำอะไรต่ออะไร สมองคิดอยู่ตลอด อย่างซีเควนซ์ที่ต้องเขียนพระยาโกษา (เหล็ก) ตาย โกษาเหล็กต้องอยู่ในหัวจากต้นไปจนจบ ต้องสนุกด้วย จากนั้นค่อยลงมือเขียน ซึ่งถ้าคิดทะลุซีเควนซ์นี้แล้วนะ เขียนแป๊บเดียวเสร็จ
ในฐานะที่ต้องดูแลคุณแม่วัย 90 กว่า อยากบอกอะไรกับครอบครัวที่มีผู้สูงวัยในบ้าน
ครูโชคดี คุณแม่ (บรรเจิดศรี ยมาภัย อายุย่าง 94 ปี) เป็นแม่ที่เชื่อฟังลูก ไม่ดื้อ เพียงแต่ความจำสั้นหน่อย เพราะสมองเสื่อมตามวัย พูดอะไรไปก็จะลืม พอลืมก็จะถามซ้ำ ซึ่งเราก็ต้องบอกซ้ำช่วงแรกๆ ครูมีอารมณ์ในการตอบนะ คือพอได้ยินแล้วมันจี๊ด บอกแล้วทำไมถึงถามอีก
วันหนึ่งเห็นเลยว่าเวลาที่พูดกับแม่อย่างนี้ สีหน้าของแม่ลู่ลง เหี่ยวลงเลยน่ะ ใจเขาคงวูบอ่อนล้าลงไปเลย ซึ่งครูคงทำบ่อยโดยไม่รู้ตัว แล้วเขาคงจิตตกอยู่เรื่อยๆากนั้นเมื่อไรก็ตามที่แม่ถามซ้ำ ครูจะตอบทุกครั้งไม่ว่าจะถามวันละ10 หน เราจะตอบเหมือนเป็นการถามครั้งแรกทุกครั้งแบบไม่มีอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้าทำได้แล้วจะดีมากกับคนป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์
ครูสังเกตนะคะ พอครูปลดจากภาวะทางอารมณ์แบบนั้นได้นี่ แม่สดชื่นขึ้นมาก (เน้นเสียง) ร่าเริง ยิ้มแย้ม เพราะฉะนั้นการดูแลคนป่วยสูงวัยในบ้านนี่ต้องดูแลหัวใจเขาสำคัญที่สุด อย่าไปนึกว่าดูแลร่างกายเขาอย่างเดียว เพราะบางทีใจก็ส่งผลให้ร่างกายไม่ดีขึ้น
ครูมองว่าถ้าเราปลดปล่อยทุกอารมณ์นะ รัก โลภโกรธ หลง ต่างๆ ได้คงจะดี สมัยก่อนอายุน้อยกว่านี้ก็ยังมีอารมณ์มากกว่านี้ พออายุปูนนี้ รู้เลยว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เป็นไปตามหลักศาสนาคือปล่อยวาง มีชีวิตเป็นกลางทุกอย่างอยู่ในสายกลางแล้วใจจะสบายมากเลย