นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Happy
ในวัย 73 ปี อาจารย์พร้อมจิต ศรลัมพ์ อดีตผู้จัดการอุทยานธรรมชาติวิทยา ศูนย์สิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง และยังใช้ความรู้อันเอกอุด้านสมุนไพรให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ล่าสุดท่านตอบรับเทียบเชิญจากโอ-ลั้นลา มาเป็นนักเขียนประจำในนิตยสาร คอลัมน์ Herb&Happiness
อาจารย์จำสมุนไพรได้แทบทุกชนิด ตลอดการสัมภาษณ์ท่านตอบคำถามด้วยแววตาเปล่งประกาย ท่านตอบชัดเจนว่ายังหลงรักศาสตร์ด้านสมุนไพร และจะทำงานที่มีประโยชน์ต่อผู้คนต่อไป - - เท่าที่ยังทำไหว
“จะทำอะไร ทำให้จริง งานที่ทำต้องรัก” อาจารย์บอกหลักประจำใจ
อะไรเป็นเหตุผลให้หลังเกษียณอาจารย์ยังรักที่จะทำงานต่อ
อาจารย์เกษียณแล้วต่ออายุราชการจนถึง 65 ปี พอปี 2554 รับมาดูเรื่องการก่อสร้างอาคารอุทยานธรรมชาติวิทยา ศูนย์สิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลแบบฟรีแลนซ์ คือไม่มีเงินเดือน มาด้วยใจรัก ช่วยดูเพราะการสร้างที่นี่ไม่เหมือนการสร้างตึกทั่วไป ที่นี่มีต้นไม้กว่า 800 ชนิด ซึ่งนักวิชาการของเราต้องดั้นด้นเดินทางไปยังภาคต่างๆ ของประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี เพื่อสำรวจ เก็บข้อมูลและนำมาปลูกเพื่อต่อยอดงานด้านวิชาการ
จุดประสงค์ของการก่อตั้งอุทยานธรรมชาติวิทยา ศูนย์สิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
เดิมอาจารย์สอนสมุนไพรไทยที่คณะเภสัชศาสตร์หลักสูตรปริญญาตรี แต่ไม่มีวัตถุดิบให้เด็กเรียน ถึงเวลาเข้าแล็บ เราก็จะตระเวณไปตามที่ต่างๆ เพื่อไปเก็บต้นไม้ พันธุ์ไม้ ผักพื้นบ้าน ตามข้างทางบ้าง ตามบ้านคนบ้าง ซึ่งบางต้นนั้นหายาก
ตอนเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ปี พ.ศ. 2524 อาจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ อดีตหัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ท่านแนะนำว่า มหิดลเราน่าจะมีสวนสมุนไพรอยู่ที่นี่เพื่อเป็นต้นแบบด้านการศึกษาและการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช จึงได้รับการอนุมัติที่ดิน ประมาณ 12 ไร่
ต่อมาในสมัยของ อาจารย์ณัฐ ภมรประวัติ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เราทำการรวบรวม ผลิตและทดลองพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา อาจารย์ณัฐได้ขอพระราชทานชื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทรงพระราชทานนามว่า 'สิรีรุกขชาติ' และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531
หลังจากนั้นได้พัฒนามาเรื่อยๆ ขยายพื้นที่จาก12 ไร่ เป็น 38 ไร่ นอกจากได้รับงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่งแล้ว เราพยายามบริหารจัดการ สร้างกิจกรรมต่างๆ หาเงินมาช่วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ขอสปอนเซอร์บ้าง ผลิตหนังสือขายบ้าง บางเล่มขายดีมาก
ต่อมา ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีขณะนั้นก็เล็งเห็นว่า พื้นที่เรามีอีกตั้งเยอะ ทำไมไม่ขยายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ก็เลยขยายเป็น 140 ไร่ทุกวันนี้
ต้นไม้คือต้นธารอาหารและยา
ตอนหลังวงการเภสัชพัฒนาไปจนรู้โครงสร้างเคมี ปัจจุบันแอสไพรินเป็นเคมีสังเคราะห์หมดแล้ว การทำงานของอาจารย์อยากให้คนมีสติยั้งคิดจาก ‘ความรู้’ เข้าใจเรื่องของการใช้สมุนไพรได้อย่างถูกต้อง ได้ประโยชน์จริงจัง ไม่ถูกหลอกเวลาที่มีกระแสปั่นเรื่องสมุนไพรขึ้นมา
อะไรทำให้สนใจสมุนไพรไทย
ดิฉันเป็นคนกาญจนบุรี มาอยู่กรุงเทพฯกับคุณป้าตั้งแต่เด็ก ไม่ค่อยได้เห็นต้นไม้สักเท่าไร (ยิ้ม) จนกระทั่งเมื่อมาเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ทำให้ได้ศึกษาวิชาเกี่ยวกับสมุนไพรมากยิ่งขึ้น
เมื่อเรียนจบเป็นอาจารย์ที่นี่ตอนแรกๆ ไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจนัก จนได้พบทีมนักวิจัยจากเดนมาร์กสามคน เป็นหมอแผนปัจจุบัน เภสัชกร และนักสังคมวิทยา สามคนนี้เข้าไปฝังตัวเรียนรู้อยู่กับหมอพื้นบ้านทางเหนือ พอคนไข้มา หมอพื้นบ้านก็จะวินิจฉัยโรคตามตำราแพทย์แผนไทย คนที่เป็นหมอแผนปัจจุบันก็ตรวจด้วย พอหมอจ่ายยาสมุนไพร เภสัชกรก็จะคอยจดบันทึกว่ากินอะไร นักสังคมวิทยาก็ไปติดตามผลที่บ้าน ตามไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ไปสัมภาษณ์ว่าได้ผลไหม
ณ วันนั้น วงการเภสัชกรรมบ้านเรายังสอนกันอยู่บนกระดาษ ยังไม่ได้ออกป่า ยังไม่สนใจหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนไทยเลย ทำให้มีความรู้สึกว่า ถ้าของของเราไม่ดีแล้วเขาจะบากบั่นมาอยู่ที่นี่ทำไม เราสิกลับไม่เคยเก็บข้อมูลเลย นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ตอนนั้นเรายังเป็นเด็ก นักวิจัยเดนมาร์ก 3 คนต้องการสมุนไพรตัวไหน เราทำหน้าที่ไปล้าง ไปตัด ทำสมุนไพรตากแห้งให้เขาจากกรุงเทพฯ
วงการสมุนไพรบ้านเราในยุคนั้นเป็นอย่างไร
โอ๊ย... (ลากเสียงยาว) ตอนเป็นอาจารย์ช่วงปี 2513 เวลาสอนนักเรียน เขาถามเราว่า “อาจารย์ ที่สอนมานี่...ผีบอกหรือเปล่า” เพราะตอนนั้นงานวิจัยก็ไม่มี สมุนไพรบางตัวใช้รักษาได้ตั้งเยอะ ทั้งขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้กระษัย ไตพิการ เยอะมากเลย
ต่อมากระแสของสังคมโลกเปลี่ยน องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ว่า ปี ค.ศ. 2000 ประชากรทั่วโลกจะมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยให้แต่ละประเทศไปดูภูมิปัญญาเก่าของตัวเอง บ้านเราก็ขานรับนโยบาย มีกลุ่มโครงการสมุนไพร GTZ จากรัฐบาลเยอรมันให้ทุนสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข นำสมุนไพรมาใช้ในโรงพยาบาลและมีการวิจัยอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากสมุนไพรหลัก 5 ตัวคือ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ พญายอ ว่านหางจระเข้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลง
ความสุขของอาจารย์ในการทำงานปัจจุบันคืออะไร
เคยมีนักข่าวถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่อาจารย์ภูมิใจมากที่สุดในชีวิต ตอบทันทีเลยว่า “ลูกค่ะ” (หัวเราะ) ไม่ใช่งานนะ แต่เป็นลูก
อาจารย์มีลูกชายสองคน เราไม่เคยตั้งเป้ากับลูกมาก เคยตั้งเป้าไว้แค่ว่าให้เขามีความสุข ดูแลตัวเองได้ก็พอ แต่ว่าทั้งสองคนไปไกลเกินกว่าที่เรามองเป้าหมายเอาไว้
ลูกชายคนโตเป็นอัครราชทูตอยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ลูกชายคนเล็กเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา แตกต่างไปคนละแนว นี่คือความภูมิใจ สมัยก่อนมีทุนวิจัยต่างประเทศมาเสนอ เราก็ไม่ไป เพราะอยากอยู่กับลูก ในขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นได้ทุนกลับมา ตำแหน่งก้าวหน้า
เราเลือกลูกมากกว่าการเรียน ก็เลยเรียนปริญญาโทในเมืองไทย คิดว่าความรู้หาเอาในเมืองไทยก็ได้ เพียงแต่เราไม่มีดีกรี ก็ไม่ซีเรียสตรงนี้
สามีอาจารย์เคยถามว่า ทำไมไม่รู้จักเลิกสักที แก่ก็แก่แล้ว เราก็เลยบอกไปว่า เราไม่ได้ร่ำรวยนะ เราไม่มีเงินที่จะทำบุญ ก็ขออนุญาตทำบุญสร้างบารมีให้ตัวเอง ด้วยการทำงานที่มันเป็นประโยชน์กับคน
วันนี้ยังพอมีแรงยังพอมีความคิดก็ทำไปก่อน ถ้าเราคิดดี ทำดี ก็เป็นบารมีให้เราในชาตินี้หรือชาติต่อไป
ดิฉันคิดว่าเราทำอะไรไป เราได้เสมอ โดยที่เราไม่รู้ตัว หนึ่งเราได้ความชำนาญ สอง เราได้สะสมบารมีของเราไว้ มันอาจย้อนกลับมาในรูปแบบของสิ่งดีๆ ที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งเรามั่นใจว่าผลตอบแทนในที่นี้คือความสำเร็จของลูก คือสุขภาพของเรา คืออะไรดีๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จากการที่เราไม่ได้หวังอะไร ทำไปด้วยความคิดบวกเท่านั้นเอง