นิตยสารโอ-ลั้นลา ฉบับเดือนกันยายน 2560
คอลัมน์ : Cover Story
หลบหน่อย...บอยแบนด์ มา
ดึกดำบรรพ์ Boy band
กลุ่มนักดนตรีบอยแบนด์ผู้ไม่ยอมเกษียณ สามเพื่อนสนิทจากรั้วรามคำแหง
ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์ แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมณ์ และปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ซึ่งทุกคนอายุ 66 เท่ากัน และตัวเลขมิตรภาพ ที่ยาวนานกว่า 46 ปี
แรงดึงดูด
O-lunla ถ่ายปกฉบับนี้ แบบไม่น่าจะลั้นลาเท่าไหร่ เพราะต้องแบกกล้องและอุปกรณ์ขึ้นไปถึงดาดฟ้าชั้นสามอันเป็นทั้งห้องซ้อมของวงและเป็นบ้านพักของตุ่น โปรดิวเซอร์ประจำวงผู้เป็นศูนย์รวมของสมาชิก แต่ขอโทษ...เหล่านักดนตรีวัย 66 ไม่มีใครบอกว่าไม่ไหวเลย ถือกีตาร์ทะมัดทะแมง ไปไหน-ไปกัน
“ถ้าใครคิดว่าเราพบกันเพราะดนตรี จริงๆ เราก็แค่ไปเรียนรามฯ แล้วเดินมาเจอกันเท่านั้นเอง” ตุ่นเปิดฉากความทรงจำ “นึกภาพเด็กเข้าเรียนรามฯ ปีแรก ร้อยพ่อพันแม่ในมหาวิทยาลัย คนที่ชอบฟังเพลง เล่นดนตรี ก็จะมีการแต่งตัวในลักษณะเดียวกัน กินข้าวก๊วนเดียวกัน มันคือแรงดึงดูด”
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2514 สมัยที่ทั้งสามเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง แต๋ม-ชรัสเป็นนักร้องนำวงร็อก ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เคยเล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา
ปั่นและตุ่น-พนเทพ เคยตั้งวงดนตรีเล่นตามร้านอาหาร ส่วนตุ่นและแต๋มเคยร่วมวง RU Band ด้วยกัน ก่อนที่ตุ่นจะออกไปเล่นดนตรีอาชีพตามไนต์คลับ และผันตัวเป็นนักดนตรีกลางคืนเต็มตัว และตั้งวงชื่อ Flash
มิตรภาพและเส้นทางสายดนตรีไม่เคยห่างกันไปไหน เมื่อปั่นไปศึกษาต่อที่ประเทศสเปน และกลับมาทำงานในบริษัททัวร์ของครอบครัว
ส่วนแต๋มไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาทำงานธนาคารกรุงเทพ ระหว่างทำงานธนาคาร แต๋มก็ยังคงไปเป็นนักร้องนำของวง Flash ของตุ่น ส่วนตุ่นก็รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ เรียบเรียงดนตรีให้แต๋มทำเพลงประกวดและออกอัลบั้ม จนกระทั่งมีศิลปินท่านอื่นๆ ตามมา ภายใต้การทำดนตรีของทั้งคู่ อาทิ ผุสชา โทณะวณิก มาลีวัลย์ เจมีน่า และสร้างชื่อให้ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว เป็นที่รู้จักในวันนี้
เรื่อง (ไม่) ธรรมดาของชีวิต
คุณเคยตั้งคำถามไหมว่าชีวิตเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว…จะเป็นอย่างไรต่อ คำถามนี้ก็เคยเกิดกับพวกเขามาแล้ว “พอพวกเราพ้น 60 เราอยากจะทำอะไรที่สนุกบ้าง” ปั่นเล่าความในใจ (ระหว่างนี้มีเสียงตะโกนแซวมาจากท้ายห้องอัดว่า หลังวัย 60 ปั่นมีละครไม่ขาดสาย จนเจ้าตัวตอบกลับไปว่า “เยอะมากก บทพ่อตลอด” (ฮา)
ฟากแต๋ม ชรัส เขาทำงานในบทบาทนักการเงินการธนาคารมาจนถึงวัยเกษียณ พร้อมเปิดธุรกิจร้านอาหาร Tam Tam (แทม แทม)
ความเป็นเพื่อนก็คือแม่เหล็กที่ดึงให้พวกเขาเข้ามาหากันอีกครั้ง “ดึกดำบรรพ์ Boy band” มีจุดเริ่มต้น จากความบังเอิญ ในคอนเสิร์ต รักนิรันดร์ของตุ่น เมื่อ ปลายปี 2558 แต๋มและปั่นได้รับเกียรติเป็นแขกรับเชิญ ในฐานะเพื่อนสนิทที่เคยร่วมร้องร่วมแต่งเพลง จังหวะจะขึ้นเวที เพื่อนซี้สองคนยังคงงกๆ เงิ่นๆ อยู่ด้านล่าง ตุ่นเลยแซวว่า “พวกดึกดำบรรพ์ขึ้นมาได้แล้ว” ทำให้ธีร์ ไชยเดช ศิลปินที่อยู่ในงานวันนั้นนำความประทับใจนี้ไปบอกเล่า ณ คอนเสิร์ตของเขาในวันรุ่งขึ้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ตุ่นโปรดิวเซอร์อยากทำให้วงดึกดำบรรพ์นั้นเกิดมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ
“เราอายุปูนนี้แล้ว มาร้องเพลงรักคนเดียว แล้วใครจะมาฟังเรา” แต๋ม ชรัสให้เหตุผล
"ศิลปินเด็กๆ ก็มีกลุ่มคนฟังของเขา เราเป็นศิลปินแก่ก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่งมันแยกกันอย่างชัดเจน แต่จะทำอย่างไรให้เขากลับมาฟังเราล่ะ”
ความไม่ธรรมดาเกิดขึ้นเมื่อทั้งสามได้กลับมาทำดนตรีกับเพื่อนที่คุ้นเคย แต๋มเป็นคนคิดเร็วทำเร็ว ตุ่นเป็นคนรอบคอบและไม่หยุดสร้างสรรค์ ปั่นเป็นตัวกลางที่เชื่อมเพื่อนทั้งสองไว้ด้วยกัน ทั้งหมดกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว พวกเขานำเพลงเก่าที่มีชื่อเสียงมารีโนเวทใหม่ เรียบเรียงดนตรีใหม่พร้อมใส่รายละเอียดและเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ให้แตกต่างจากเดิม วางการร้องประสานเสียงในจังหวะใหม่ เช่นเพลง รักนิรันดร์ เฝ้าคอย ส่องกระจก คนไม่มีวาสนา เพราะฉะนั้น เพียงแค่ใจเรา รักกัน สู่กลางใจเธอ
“เราต้องเสนอสิ่งแปลกใหม่ในตัวเราสามคน ผมร้องอย่างหนึ่ง ปั่นร้องอย่างหนึ่ง ตุ่นมีวิธีทำเพลงอีกแบบหนึ่ง เมื่อมารวมกันก็สร้างสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมา ดึกดำบรรพ์จึงเหมือนกับหนึ่งแรงเทียนของตุ่น หนึ่งแรงเทียนของปั่น หนึ่งแรงเทียนของแต๋ม รวมเป็นสามแรงเทียนที่ส่องสว่าง อยู่รวมกันย่อมดีกว่ามีแค่แสงเทียนเดียว”
ประกอบกับรูปแบบของสื่อดิจิทัลอย่าง Youtube และ Facebook ที่เอื้อให้คนฟังเข้าถึงดนตรีได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านค่ายเพลง ทำให้ดึกดำบรรพ์ได้สร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีที่แปลกใหม่ขึ้นมา
“สมัยนี้มีเฟซบุ๊กก็สะดวกขึ้น พอเวลาเราเริ่มซ้อม เราก็จะให้คนฟังได้ฟังสดๆ เพราะหัวใจการเป็นนักดนตรีคือเราได้เล่น ได้ร้องแล้วมีคนฟัง มีความสุขไปกับเราถึงวัยนี้เราก็ไม่ได้มีอะไรต้องทำแล้ว ทำในสิ่งที่เรารักดีกว่า” ตุ่นในฐานะ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีและเป็นแอดมินเพจ www.facebook.com/deukdamban ซึ่งนับเป็นมนุษย์โซเชียลที่สุดในวงให้เหตุผล
VDO ลั้นลาประสาเพื่อนรัก
ณ ห้องซ้อมชั้น 3 ...ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์
ก่อนจากกัน ทีมงานโอ-ลั้นลาเอ่ยคำถามทิ้งท้ายว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดจากการที่ได้ทำวงดึกดำบรรพ์บอยแบนด์นี้
“ผมชอบช่วงเวลาที่ได้นั่งกินข้าวกับเพื่อนหลังซ้อมดนตรีเสร็จ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด” ตุ่นให้คำตอบ
“ตอนแรกไม่ได้คิดว่าลงยูทูบแล้วมีคนมาชอบหรอกนะ แต่มันดีมากกว่าที่เมื่ออายุมากๆ แล้วได้กลับมาเจอเพื่อนเก่า” ปั่นตอบโดยไม่คิดนาน
“และมันดีที่สุดที่เราสามารถทำงานกับใครสักคนได้ตลอดทั้งช่วงชีวิต” แต๋ม ชรัส กล่าวทิ้งท้ายก่อนจะขอตัวกลับเข้าห้องซ้อม เพื่อทำในสิ่งที่พวกเขารัก