นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ : Share & Care
“มะเร็ง”
คำสั้นๆ ที่เชื่อว่าหลายคนเมื่อได้ยินจะตีค่าความหมายเท่ากับความตาย
แบ่งปันประสบการณ์จริง ของการดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง พร้อมกับดูแล “ใจ” ตัวเองไปพร้อมๆ กันของ คุณสรีชา ประติมา
...
วันที่ “แม่ของฉัน” ต้องเผชิญหน้ากับ “มะเร็ง”
19 พฤษภาคม 2556 เป็นวันที่ฉันจดจำได้ไม่ลืมเมื่อแม่บ่นว่าไม่อยากกินอะไรเพราะเจ็บคอ ปีนั้นอากาศร้อนจัด แม่บ่นเจ็บคอมาหลายเดือน บอกว่าเป็นร้อนใน
ฉันเอะใจว่าทำไมไม่หาย หรืออาจเป็นปัญหาเรื่องเหงือกหรือฟันจึงขอให้แม่อ้าปากให้ดู แวบแรกที่เห็นแผลที่อยู่ลึกถัดเข้าไปหลังกระพุ้งแก้มข้างขวาเป็นเหมือนเนื้อที่ถูกกินแหว่งหายไป คำว่า “มะเร็ง” วูบเข้ามาในความคิดทันที ด้วยความรู้จากอาชีพคนทำสื่อที่เคยผ่านตากับงานสารคดีและบทความเรื่องมะเร็งมาก่อน
ฉันบอกตัวเอง ตั้งสติอย่าเพิ่งตระหนก ตีตนไปก่อน ฉันยิ้มและบอกแม่ว่า มีแผลในคอต้องไปหาหมอกันนะ หมอด้านหู ตา คอ จมูกวินิจฉัยยืนยันว่าน่าจะเป็นมะเร็งแน่นอน
ฉันเดินออกมาจ่ายเงิน น้ำตาเริ่มไหล จิตเริ่มคิดไกล แม่จะตายไหม จะทำไงดี ก่อนที่จิตจะฟุ้งไปมากกว่านี้ รีบเตือนตัวเอง เวลานี้ ตรงหน้านี้ ต้องทำอะไร และยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก...ผลตรวจชิ้นเนื้อและการตรวจโดยละเอียดสรุปว่าแม่เป็นมะเร็งต่อมทอนซิลระยะที่ 3
17 ตุลาคมนี้ ครบ 3 ปีที่แม่จากไป เราเป็นครอบครัวคนจีนที่แม่ไม่ได้เรียนรู้และฝึกเตรียมใจเมื่อเจ็บป่วย สำหรับแม่แล้ว การไปโรงพยาบาลเหมือนกับการแช่ง ดังนั้นแม่จึงไม่เคยยอมไปตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเชื่อว่าตัวเองดูแลสุขภาพดี แม่ระมัดระวังการกินอาหาร ออกกำลังกายเสมอ กระฉับกระเฉง ชอบคุยทำงานบ้านนั่นนี่ตลอดเวลา ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ทุกอย่างดูแข็งแรงกว่าคนสูงวัยทั่วไป
ด้วยความที่มีอาชีพอิสระและเป็นลูกสาวคนโต จึงรับผิดชอบดูแลแม่เป็นหลัก กว่า 5 เดือนของการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยมะเร็งแทบ 24 ชั่วโมงฉันค้นพบหลายสิ่งที่อยากแบ่งปันในเรื่องของการดูแลบางคนอาจบอกว่ายุ่งยาก ลำบาก กลัวไม่สะอาด กลัวแม่เจ็บ กลัวทำพลาด เชื่อเถอะค่ะ ถ้ามีหัวใจ มีความตั้งใจจะทำเพื่อแม่แล้ว ทุกอย่างไม่ยากที่จะเรียนรู้
ฉันต้องปั่นอาหารเหลว ให้อาหารทางสายยาง ทำความสะอาดที่นอน อุปกรณ์ต่างๆ อาบน้ำ เช็ดล้างอึ รวมถึงล้างแผลมะเร็งที่คอของแม่ ซึ่งต้องชะเนื้อตายกลิ่นเหม็นเน่าออกทุกๆ เช้าเย็น และเมื่ออาการหนักขึ้น ฉันต้องเรียนรู้การเคาะปอด การทำ suction หรือดูดเสมหะทางจมูก ทางคอ แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การเลือกวิธีรักษา โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจได้
อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับแม่
หายไม่หายเป็นเพราะเราเลือกวิธีผิดหรือไม่ ทำให้ฉันเข้าใจว่าทำไมหลายคนจึงเลือกที่จะโยนการตัดสินใจไปที่แพทย์ เพราะเชื่อว่ารู้ดีกว่า แต่ที่จริงมันง่ายกว่าที่จะรับผิดชอบ ฉันตัดสินใจทำสิ่งที่คุ้นชินในอาชีพคือ เริ่มค้นคว้า หาความรู้ทุกอย่างที่มี และตัดสินใจรักษาแม่ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันผสมผสานกับการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เพื่อช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายหากต้องรับการทำเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด โดยเลือกเฉพาะที่น่าเชื่อถือมีงานวิจัยรองรับ
นั่นคือเรื่องภายนอก แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการดูแลจิตใจทั้งจิตใจของแม่และของฉันเอง
เมื่อแม่รับรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งโดยบังเอิญจากการพลั้งปากของหมอฟัน ภาพที่ติดตาถึงวันนี้ แม่เดินช้าๆ น้ำตาค่อยๆ ไหลลง ทรุดตัวลงนั่งแล้วถามว่า “ม้าจะตายไหม” ฉันปลอบแม่เสียงหนักแน่นเหมือนบอกกับตัวเองไปด้วยว่า “มันรักษาได้ ค่อยๆรักษาไป เป็นยังไม่เยอะ” เมื่อไม่เคยเตรียมใจรับมือกับความเจ็บป่วยและความตายมาก่อน สภาพจิตใจจึงป่วยไปพร้อมๆ กับร่างกาย
สติและปัจจุบันขณะ
บางคืนตี 2 ตี 3 แม่นอนไม่หลับ ลุกขึ้นมาร้องไห้ หรือจะออกจาบ้านไปให้รถชนตาย จะได้ไม่ทรมาน ความทรมานจากแผลมะเร็ง ความแสบร้อนที่คอหลังการฉายรังสี คงไม่เท่ากับความทรมานกับความกลัวที่บอกไม่ได้ว่าจะตายหรือไม่ จะตายเมื่่อไร แม่จึงอารมณ์ขึ้น ลงอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่ฉันอยากบอกทุกคนที่ต้องดูแลคนเจ็บป่วยเช่นนี้ คือการดูแลใจของตัวเอง มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ
บ่อยครั้งที่ฉันดุแม่บ้าง หงุดหงิดบ้าง ด้วยคาดหวังว่าแม่ต้องทำสิ่งนี้ อย่างนี้ อาการถึงจะดีขึ้น โดยลืมคิดไปว่าบางสิ่งท่านพร้อมจะทำ หรือไม่
ฉันก็ค่อยๆ เรียนรู้คำว่า วางใจกลางๆ จากที่รู้แค่ความหมายของคำ มาถึงความเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างต้องไม่มากหรือน้อยไป
พระอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งบอกฉันว่า เสียใจได้ โกรธตัวเองได้ แต่ให้รู้จักพอและพอดี ครั้งหนึ่งแม่อยากกินน้ำเฉาก๊วยมาก หมอบอกไม่ให้ดูดน้ำเพราะกลัวสำลักเข้าปอด ตอนนั้นอาการแม่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ฉันตัดสินใจยอมให้ดื่ม แม่ดื่มไปนิดเดียวไม่ถึงอึก แววตามีความสุขสดใสมากจนฉันไม่เคยเห็น และในที่สุดแม่ก็จากไปขณะที่ฉันกำลังเช็ดปากให้ ตั้งใจว่าเช็ดหน้าเช็ดตาเสร็จจะสวดมนต์อยู่ข้างๆ เพื่อพาให้แม่เดินทางไปอย่างสงบ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ฉันรู้สึกว่าไม่ได้ส่งท่านให้ดีพอ
แต่คำว่าการทำใจกลางๆ อยู่กับปัจจุบันขณะ ช่วยให้ฉันมีสติผ่านมาได้ แม้จะอ่านหรือได้ยินคำสอนเรื่องการรู้จักวางใจให้เป็นมานาน เมื่อเผชิญกับของจริง ฉันสอบตกตลอด...5 เดือนของการดูแลแม่จนวินาทีสุดท้ายที่ท่านจากไปคือโมงยามของการฝึกปฏิบัติโดยแท้
ถึงวันนี้ฉันตระหนักเสมอนี่คือสิ่งสุดท้ายที่แม่สอนฉันผ่านความเจ็บป่วยและความตายของท่าน