นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-Happy
เด็กสาวจากท้องนาเคี่ยวกรำประสบการณ์จนสามารถสร้างวงดนตรีลูกทุ่งเองที่มือหนึ่งร้องรำ แต่อีกมือควงปืนจัดการกับอันธพาลท้องถิ่นที่ชอบยกพวกมาป่วน ก่อนอิ่มตัวและกลับสู่บ้านเกิด ทำงาน สืบสานเพลงพื้นบ้าน และได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี พ.ศ. 2539 "ขวัญจิต ศรีประจันต์"
ในวัย 72 ปี แม้สังขารเริ่มดื้อดึงกับเจ้าของ แต่ความคิด ความอ่าน ความทรงจำ ยังแจ่มชัดและมีคุณค่าต่อคนรุ่นหลัง ยามอยู่บนเวที เมื่อได้เอื้อนเอ่ยทักทายผู้ชม เปล่งเสียงร้องเพลงที่ผูกพันมาชั่วชีวิต ทำให้อายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ
ชีวิตวัยเด็กของแม่ขวัญจิต
สมัยเด็กบ้านเราเป็นวงดนตรีแสดงเลย เราทำหน้าที่ดูแลหุงหาอาหาร ใจลึกๆ อยากฝึกมาก แต่ไม่มีใครให้ฝึก ทั้งเตี่ยทั้งน้าไสว (ครูไสว วงษ์งาม) เพราะเป็นผู้หญิง กลัวเตลิดเปิดเปิง เราน้อยใจเพราะน้องสาวฝาแฝดเด็กกว่าเรายังได้ฝึก เกิดอารมณ์ที่ว่า เอาเถอะ ไว้จะไปหัดกับคนอื่น ซึ่งคนหนึ่งที่สำคัญและถือเป็นครูของเราคือลูกสาวแม่บัวผัน
ตอนนั้นก็ฝึกกันที่ก้นครัวเลย เอาน้ำข้าวร้อนๆ ใส่ครกและให้เราเอานิ้วลงไปดัด ฝึกไป ทำงานบ้านไป และหาเงินไปด้วย บางทีปั่นไปดูวงเขาเล่นเพลง 10 กว่ากิโลเมตร ไม่ได้ขึ้นรถไปกับเขาหรอก แต่แปลกที่เราฟังอะไรมาแล้วจำได้หมดเลย
จนมีปีหนึ่งคนขาด น้าไสวถามว่าเกลียวมึงจะเล่นไหม ใจจริงไม่อยากเล่นแล้วล่ะ แต่ไม่ได้พูดออกไป เขาเย็บชุดให้ใส่ เราก็ขึ้นเวที ทุกคนก็งงที่เราร้องได้ เล่นได้
พอเราแน่ใจว่าชอบทางนี้และอยากเก่งขึ้น เลยไปขอฝึกพื้นฐานจากครูอีกหลายคน เราชอบเสียงแม่บัวผันมาก (บัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ประจำปี พ.ศ. 2533) เขารำสวย เสียงก็เพราะมาก ร้องชัดทุกคำ
ครูไสวร้องกลอนสด แต่ทุกครั้งที่ถามครูว่าทำอย่างไร ครูไม่แนะนำ แล้วก็ให้เราแต่งเอง และเพลงที่ครูแต่งให้คนอื่นเราจะเอามาร้องเองไม่ได้ เราเลยต้องไปเรียนรู้จากข้างนอก
ก็มาได้วิชาจากลุงกร่าย (ครูกร่าย จันทร์แดง) ท่านนี้เสียงดี ร้องเพราะ เขาสอนให้หัดเขียนเพลง อยากร้องถึงอะไรก็เขียนไป เขียนแล้วก็มาร้องให้ลุงฟัง ลุงให้คำแนะนำว่าคำไหนยังไม่ดี ยังไม่คล้องจอง ไม่ลงจังหวะก็ช่วยแก้ไข
ต่อมาก็ได้ความรู้จากลุงโปรย (โปรย เสร็จกิจ) ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นญาติเราเอง คือเตี่ยไม่อยากให้เราร้องรำ ก็ปิดบังไม่บอกเรา ลุงโปรยช่วยแต่งเพลงให้เราเลย เราเลยได้วิชาจากครูหลายคน และหัดทั้งเพลงแหล่ เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ลำตัด อีแซว
แล้วตอนไหนที่คิดว่าจะเดินทางสายนี้แน่
เด็กๆ ที่บ้านไม่มีเงิน แม่เป็นหนี้มากและต้องทำงานหนัก เราช่วยทำงานทุกอย่าง รับรู้ปัญหาทุกอย่างเพราะเป็นลูกคนโต เราไปสมัครร้องเพลง ยิ่งไปร้องไกลถึงกาญจนบุรีจะได้เงินมากหน่อย ถึงบ้านก็ให้แม่ ครั้งหนึ่งเคยถามแม่ว่าเหลือหนี้เท่าไร แม่ไม่ตอบ เอาแต่ร้องไห้ เราเลยไม่ถามอีก ทำงานอย่างเดียว และคิดว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้ละ จะเข้ากรุงเทพฯ
เสี่ยเหลียงเจ้าหนี้ก็เมตตากับเรา พอบอกแกว่าจะมากรุงเทพฯ แกให้เงินมา 200 บาท แกก็บอก “เกลียว ลื้อขยันแบบนี้ ลื้อไม่จนหรอก ลื้อไม่ต้องห่วงหนี้อั๊วนะ” เสี่ยสอนให้รักษาเนื้อรักษาตัว
แม่บัวผันก็ร้องไห้ ตอนไปสมัครงาน ไม่มีใครรู้ ตอนนั้นเราไปแสดงที่กรุงเทพฯ แล้วพักบ้านญาติ เพราะถ้าบอกเตี่ยไม่ได้ไปแน่ ไปร้องที่ไหนกลับมาทีโดนว่าเสียหาย แต่แม่บอกให้เรายืนหยัดในความดี
ตอนนั้นเหมือนในละครเลย นัดแนะหนี ไม่บอกใคร แต่ทางกรุงเทพฯ รู้ มารับให้ไปอยู่ที่บ้านอาแถวตลาดศาลาน้ำร้อน เราไปร้องเพลงกลับดึก เจ้าของบ้านต้องลงมาเปิดประตู ตอนหลังเลยขอนอนบ้านหัวหน้า นั่งหลับก็เอา เพราะกลัวอันตรายและเกรงใจเจ้าของบ้านด้วย แต่ลูกของหัวหน้าวงบอกมานั่งหลับอย่างนี้ไม่ได้หรอกหนู เขาให้เราไปนอนปลายเท้าคุณยาย
เราได้เห็นสิ่งดีๆ จากตรงนั้นด้วย และได้เรียนรู้หลายอย่างจากบ้านนี้
วงนี้ชื่อจำรัส สุวคนธ์ คนดูแลวงเป็นลูกชายคนเดียวของคุณจำรัส สุวคนธ์ พระเอกชื่อดังสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนหนังเพลงแกดังเรายังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ป๋าหัวหน้าคณะเป็นคนใจดี ส่วนแม่ ภรรยาของป๋าเป็นคนที่สอนอะไรเรามากเลย ไม่เคยว่าใครให้ได้ยิน
จากที่เป็นคนดื้อหัวแข็ง พอไปอยู่บ้านนี้ก็รู้จักความอ่อนโยน ส่วนลูกป๋าและลูกสะใภ้รับราชการ เขาก็มีขนม มีอะไรต่างๆ มาฝากเราเสมอ เราก็รู้สึกว่าเราต้องทำดีให้มากๆ เลย ก็ได้ลด ละ นิสัยก้อนเดิมที่มาจากพื้นถิ่น
แล้วชีวิตเราก็แปลก ขึ้นเวทีทีไรมีแต่คนชอบ คงเป็นดวงเราที่ขีดให้มา พอป๋าเลิกวง ก็ไปอยู่กับพี่ไวพจน์ (ไวพจน์ เพชรสุพรรณ) ช่วยดูแลวง แกเห็นเรานิสัยไม่ยอมคน แกก็ส่งปืนให้เลย ไปไหนก็ต้องไปกับกู คนภายนอกเลยนึกว่าเราเป็นเมียไวพจน์ คือเวลามีงานแสดง ชอบมีวัยรุ่นหรือพวกอันธพาลมาป่วน เราก็ถือปืนออกไปจัดการ
คือแม่ก็ผ่านชีวิตมาเยอะ สุพรรณฯ เป็นทั้งเมืองศิลปินและถิ่นนักเลง ใครมาหยามเราก็ไม่ยอม
พอราวอายุ 25 ก็เริ่มตั้งวงลูกทุ่งเอง เพราะพี่ไวพจน์แนะนำว่านักร้องผู้หญิงขาดตลาด มีวงเองจะได้มีเงิน มีทอง ก็ประสบความสำเร็จ เพลงที่แต่งเองหลายเพลงก็โด่งดัง รับงานมากขึ้นได้เงินมาไถ่นา แต่เหนื่อยมาก
มีบางช่วงชีวิตอยากหาความสงบ เคยบวช 1 พรรษาแบบโกนผมเลยที่วัดป่าเลไลยก์ อยากรู้ว่าโลกจริงคืออะไรแน่ และอยากรู้เรื่องตำราทำขวัญ อยากอ่านหนังสือเยอะๆ ด้วยพอบวชก็เจอแม่ชีดีอีก สอนและให้คำแนะนำดีๆ มากมาย
หันจากแสงสีกรุงเทพฯ มาเป็นครูเพลงเมืองสุพรรณได้อย่างไร
วงลูกทุ่งคนเยอะและไม่ได้ดูแลแค่ลูกวง บางทีต้องดูแลไปถึงลูกถึงเมีย รับคิวงาน แก้ปัญหาหน้าเวที เหนื่อยมาก ก็เลยวางแผนส่งลูกน้องถึงฝั่งทุกคน แล้วก็ตัดใจยุบวงราวกลางปี 2517 กลับมาตั้งหลักที่สุพรรณฯ มีบริษัทบูรพาโอสถ บริษัทขายยา จ้างให้เราจัดรายการให้เป็นรายเดือน
เราไปอัดรายการที่หน้าโรงพักบุปผาราม เข้าไปอัดตั้งแต่ตี 4 พูดเอง ร้องเอง แล้วก็ตัดเข้าโฆษณา เมื่อก่อนโฆษณาไม่ได้คุมเข้มมาก ปรากฏว่าแฟนรายการเยอะมาก มีการแจกรางวัล ส่งชิ้นส่วนมาชิงโชค
แล้วตอนหลังแม่บัวผัน น้าไสว เริ่มอายุมากขึ้น เสียงเริ่มหาย โรคเริ่มมาเยือน เราก็เลยตกกระไดพลอยโจนว่าควรทำหน้าที่สืบสานเพลงพื้นบ้าน คุณเอนก นาวิกมูล ก็มาบอกว่าพี่ขวัญต้องทำ ประมาณปี 2521 เราก็กลับมาฟื้นฟูสิ่งที่เราฟัง เราเรียนตั้งแต่เล็ก และคณะขวัญจิตก็ได้มีโอกาสไปเล่นถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี ดีใจมาก
ร้องเพลง แต่งเพลง ต้องอ่านต้องหาข้อมูลมากไหม
จริงๆ แม่เรียนแค่ ป.4 แต่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก หลวงตาเจ้าอาวาสวัดท่านใจดี บางทีก็ไปขอหนังสือหลวงตาอ่าน แม่อ่านบาลีเป็นตั้งแต่เล็ก นิทานบางเรื่องอ่านจนจบไม่เข้าใจ ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ถาม เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ไปป้วนเปี้ยนอยู่ในวัด ล้างชาม ได้ขนมกิน เวลาหลวงตาไปกรุงเทพฯ ก็จะมีหนังสือพิมพ์ไทย การ์ตูนล้อเลียนการเมืองมา เราก็อ่าน สิ่งเหล่านี้สะสมมาโดยไม่รู้ตัว
สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง
มีปัญหาหัวเข่าข้างขวางอพับไม่ได้ หมอให้ลดน้ำหนักสัก 10 กิโลกรัมจะช่วยได้ โรคอื่นก็มีเบาหวาน มีไขมันเกิน ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด บางวันก็มีกรดไหลย้อนเพิ่มมา ก็ออกกำลังกายบ้าง แต่ไม่ค่อยสม่ำเสมอ แกว่งแขนและโยคะ ถ่างแข้งถ่างขาไปตามที่พอจะไหว ตอนนี้พอยืนร้องเพลงนานๆ สักครึ่งชั่วโมงก็ปวดตึงลงไปถึงขาเลย หมอบอกว่ากระดูกหลังเริ่มบาง
เวลาแสดง เราก็ต้องแต่งเรื่องของเราไว้ จะมีเนื้อเพลงหามุกนั่ง สมมติเราร้องโต้ตอบอยู่ เด็กหนุ่มๆ เขาก็ร้องบอก "ไม่อยากร้องกับคนแก่คราวแม่คราวย่า ไม่ทันหูไม่ทันตา ไม่ทันอกไม่ทันใจ บอกถ้าหากว่าถ้ายังรักจะดี ถ้าวันนี้อยากจะดัง กลับไปนั่งให้สบาย" คือทำให้ไม่ดูน่าเกลียด
หรือบางทีก็เป็นบทพูดแซวเลย "แม่ หนุ่มสาวเขาจะร้องกัน นิมนต์ไปนั่งได้ไหม" อะไรอย่างนี้ก็แล้วแต่โอกาส
ช่วงนี้งานไม่มากนัก ประมาณ 10-20 งานต่อเดือน แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูกาล บางทีเช้างานหนึ่ง ค่ำอีกงาน การรับงานเราก็จะรับโทรศัพท์เอง คุยเอง จดเอง ถามรายละเอียดเพื่อเตรียมตัว เตรียมเนื้อหา แต่ออร์แกไนเซอร์รุ่นใหม่เขาก็จะไลน์บอกลูกๆ ส่งแผนที่ ส่งคิวงานกัน แม่ก็ต้องมาจดลงสมุดอีกที
บางทีเราก็อยากหยุดค่ะ แต่ว่าไม่มีคนสืบสานต่อ เราก็ไม่อยากเลิก ยังมีห่วง มีลูกน้องในความดูแล ประมาณ 15 คน บางคนเลี้ยงมาตั้งแต่จบ ป.6 แล้วบางทีเจ้าภาพเองก็ขอว่าแม่ต้องไปนะ เรายังมีกำลังก็ทำไป บางทีนักศึกษามาขอความรู้เพลงพื้นบ้าน เราก็อธิบาย ดีใจที่ยังมีคนสนใจ แม้คนยุคใหม่จะฟังเพลงเกาหลี ญี่ปุ่นแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่เห็นคุณค่าและสนใจเพลงพื้นบ้าน
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)