โอ-ลั้นลาได้อ่านเรื่องราวของซิสเตอร์เอสเตรีนา ปรันโด ครั้งแรกจากการโพสต์เฟซบุ๊กของ พญ.ลลิตา ธีระศิริ ที่เล่าถึงซิสเตอร์ผู้ดูแลหอพักเอาซีลีอุมย่านสีลมด้วยความรักและระลึกถึง
เราเห็นภาพของก๊วน เด็กหญิงที่มักสร้างวีรกรรมในหอพักกับซิสเตอร์ที่ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด ทั้งอาหารการกินสุขอนามัย และระเบียบวินัยต่างๆ เพื่อดูแลกุลธิดาที่ห่างไกลพ่อแม่มาเล่าเรียนเพื่ออนาคตวันข้างหน้า
เด็กหญิงจำนวนไม่น้อยที่เคยอยู่ในความดูแลของซิสเตอร์เรียนจบได้ดิบได้ดี มีความก้าวหน้าในชีวิต
ปัจจุบันหอพักเอาซีลีอุมยังเปิดรับนักเรียนหญิงเข้าพัก ซิสเตอร์ผู้อาทรปัจจุบันท่านอายุมากถึง 97 ปี และจำนวนปีที่ท่านอยู่เมืองไทยไม่ใช่ 7 ปีไม่ใช่ 17 ปี แต่คือ 70 ปี อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกจากบ้านเกิดเมืองนอนครอบครัวที่อบอุ่น มาทำงานดินแดนห่างไกลค่อนโลกนานถึง 70 ปี
ฉันเป็นคนไทย
“ฉานคิดว่าฉานเปนคนไทยมากกว่าจะเปนคนอิตาลี”
เสียงแหบเบา สำเนียงแปร่งปร่าอย่างชาวต่างชาติที่พยายามพูดช้าๆ ชัดๆ ของนักบวชหญิงนิกายคาทอลิกซึ่งเป็นมิชชันนารีเชื้อสายอิตาเลียนที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟังดูนุ่มนวล ยิ่งมองแววตาที่สดใสและใบหน้าสีชมพูที่แย้มยิ้มอยู่เสมอก็ยิ่งทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นสัมผัสถึงความสุขสงบที่อยู่ภายใน
ราว 70 ปีแล้วที่หญิงสูงวัยท่านนี้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย (ล่าสุดเพิ่งฉลองรื้อฟื้นการปฏิญาณตนเป็นนักบวชครบรอบ 75 ปี) เธอทำงานช่วยเหลือเยาวชนหญิงรวมถึงทุกคนโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เธอชอบอาหารไทยมากกว่าอาหารอิตาเลียนของบ้านเกิด ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างสุดซึ้ง และหากวันหนึ่งเมื่อลมหายใจสุดท้ายมาถึง นักบวชหญิงในวัย 97 ปีคนนี้ก็อยากให้ร่างกายของเธอได้พักผ่อนนิรันดร์บนผืนแผ่นดินไทยที่เธอรัก
ซิสเตอร์เอสเตรีนา ปรันโด (Esterina Prando) เกิดที่หมู่บ้านลอซโซ (Lozzo) จังหวัดปาโดวา (Padova) จังหวัดใหญ่ทางตอนเหนือของอิตาลี หลังจากรู้แน่ชัดแล้วว่าปรารถนาจะอุทิศตัวเพื่อรับใช้พระเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ เธอก็สมัครเป็นซิสเตอร์ตั้งแต่อยู่ในวัย 17 ปี และเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิญาณตนเพื่อถวายตัวตลอดชีพเป็นนักบวชนิกายคาทอลิกแห่งคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์(FMA) หรือซิสเตอร์ซาเลเซียน และเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทยด้วยวัย 27 ปี (เมื่อปี 2560 เป็นปีครบรอบ 140 ปีการส่งธรรมทูตรุ่นแรกของคณะซิสเตอร์ซาเลเซียนมายังประเทศไทย)
เธอไม่เคยมาประเทศไทยแม้แต่ครั้งเดียว แต่อะไรที่ทำให้ซิสเตอร์ท่านนี้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อคนไทย คงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยถูกทอดทิ้งให้เติบโตเป็นคนที่ดี จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนศูนย์เยาวชน ศูนย์ฝึกอาชีพและหอพักหญิงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษา ร่วมกันยกระดับวัฒนธรรมที่สร้างเสริมความเป็นมนุษย์
กิจการของคณะได้แผ่ขยายไปยังนานาประเทศทั้งฝรั่งเศส อเมริกาใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรมประเทศอิตาลี จวบจน ค.ศ. 1949 หรืออีก 78 ปีต่อมา ซิสเตอร์เอสเตรีนาก็เดินทางมาประเทศไทยในฐานะนวกจาริณีคนแรกของแขวงไทย และพำนักอยู่ที่ตำบลบางนกแขวกจังหวัดสมุทรสงครามเป็นสถานที่แรกก่อนจะเดินทางไปทำภารกิจยังอำเภอบ้านโป่ง อำเภอสามพราน และจังหวัดอุดรธานี และสุดท้ายกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่หอพักหญิงเอาซีลีอุม (ซิสเตอร์ซาเลเซียน) ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนศาลาแดง กรุงเทพมหานคร
ชีวิตที่อุทิศเพื่อคนไทย
ในภาพยนตร์ ภาพจำของซิสเตอร์หรือนักบวชหญิงอาจเป็นผู้หญิงอกหักหรือมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่สำหรับซิสเตอร์เอสเตรีนากลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้จะเกิดในจังหวัดชนบททางตอนเหนือของประเทศอิตาลี แต่ครอบครัวของเธอก็มีความสุขสบาย แม้ว่าตอนอายุได้ 5 ขวบคุณแม่ของเธอได้จากไป และตอนอายุ 10 ขวบคุณพ่อได้แต่งงานใหม่ แต่ชีวิตของเธอและน้องอีก 3 คน ก็ไม่ขาดตกบกพร่องอะไร
“ตอนนั้นฉันไม่รู้สึกอยากแต่งงานมีครอบครัว พอดีที่หมู่บ้านมีศูนย์เยาวชนซึ่งทำให้ฉันได้รู้จักซิสเตอร์และมีความปรารถนาที่จะเป็นนักบวช อยากเดินทางไปเมืองปาโดวาซึ่งเป็นศูนย์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก (มหาวิหารปาโดวา) แต่ก็ปิดเป็นความลับไม่ได้บอกใคร จนวันหนึ่งคุณพ่อมาบอกว่ามีผู้ชายมาขอฉันแต่งงาน ฉันเลยบอกท่านว่า ฉันได้เลือกแล้วที่จะเป็นนักบวช ผู้ชายคนนั้นมาช้าไป” ซิสเตอร์เอสเตรีนาเล่าด้วยรอยยิ้มเมื่อหวนนึกถึงอดีต
แม้ว่าในตอนแรกคุณพ่อไม่อยากจะให้ลูกสาวคนโตเดินตามเส้นทางนี้มากนัก แต่เมื่อเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของลูก ท่านก็ยอมรับแต่โดยดี มิหนำซำน้องสาวอีก 2 คนของซิสเตอร์ก็ยังมีศรัทธาแรงกล้าและตัดสินใจเข้าสู่ชีวิตนักบวชเช่นเดียวกัน
ย้อนไปราว 70 ปีที่แล้ว ตอนที่ซิสเตอร์เอสเตรีนาเดินทางมายังประเทศไทย แถวศาลาแดงยังเต็มไปด้วยป่า มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่สาทรเต็มไปด้วยต้นหมากและมีแม่น้ำลำคลองให้ลอยกระทง ซิสเตอร์ยังสาววัย 27 ปีซึ่งเคยเป็นครูโรงเรียนอนุบาลและมีความรู้ด้านพยาบาลเริ่มงานแรกที่ตำบลบางนกแขวก ซึ่งที่นั่นมีอาสนวิหารแม่พระบังเกิด(โบสถ์บางนกแขวกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่การบังเกิดของพระแม่มารีย์ และเป็นสถานที่สักการะอันศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก
ที่บางนกแขวก ซิสเตอร์เอสเตรีนาได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการพยาบาล รวมทั้งเปิดอบรมแบบซาเลเซียนให้กับเยาวชน (อบรมภคินีของคณะผู้รับใช้) รวมทั้งเรียนรู้ภาษาไทยครั้งแรกที่นี่
“ช่วงแรกที่มาที่นี่ฉันไม่รู้จักภาษาเขา เขาก็ไม่เข้าใจภาษาของฉัน แต่เราก็ยังสื่อสารเข้าใจกันได้ นี่คือความรู้สึกว่าการอยู่เมืองไทยไม่ใช่เรื่องยาก คนไทยเข้าใจง่าย นิสัยดี มีความเป็นมิตร รู้สึกอยู่ได้สบายเหมือนอยู่บ้านตัวเอง อาหารไทยก็ชอบมากกว่าอาหารอิตาเลียนเสียอีก ฉันกินเผ็ดได้นิดหน่อย เรื่องอาหารไม่เป็นปัญหาเลย”
ฉันจะตายที่เมืองไทย
จากบางนกแขวก กิจการงานของคณะก็ค่อยๆเติบโตและขยายกิจการไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์มีการดำเนินการของคณะอยู่แทบจะทุกภาคของประเทศไทยเพื่อให้การศึกษาอบรมในโรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับหญิงผู้พิการทางสายตา รวมถึงหอพักหญิงสำหรับนักเรียน
“เรามีหอพักหญิง 3 ที่คือที่ศาลาแดง ที่หัวหมากกรุงเทพฯ และที่จอมทอง เชียงใหม่ ส่วนโรงเรียนเรามีที่หาดใหญ่ โพนสูง บ้านโป่ง สามพราน ส่วนที่บึงกาฬ เราดูแลโรงเรียนสังฆมณฑล นอกจากนั้นที่ผ่านมา เรามีสมาคมสตรี ช่วยอบรมเยาวชนที่จะไปทำงานในบ้านของชาวต่างชาติที่มาทำงานที่เมืองไทย บางคนกลายเป็นเชฟ ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก บางคนกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยและมีความเป็นอยู่ที่ดี”
แม้ซิสเตอร์เอสเตรีนาจะไม่ได้พรรณนาถึงความยากลำบากในการทำงานมากนัก แต่เราเชื่อว่าในยุคที่บ้านเมืองยังไม่เจริญ ถนนหนทางยังไม่สะดวกสบายเหมือนเช่นทุกวันนี้ สภาพความเป็นอยู่ของนักบวชหญิงในยุคก่อนนั้นคงไม่ได้ง่ายดาย แต่ด้วยความรักที่มีต่อคนไทยและความศรัทธาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้นักบวชหญิงจากแดนไกลยังมั่นคงแน่วแน่ที่จะทำงานที่นี่
“ฉันเขียนจดหมายหาคุณพ่อที่อิตาลี จนทำงานที่เมืองไทยได้ 17 ปีจึงได้กลับไปบ้าน ในอดีตคนที่สมัครมาเป็นมิชชันนารีรู้ดีว่า ‘เราไปแล้วไม่กลับ’ คือเมื่อออกจากประเทศบ้านเกิดไปทำงานที่ต่างประเทศ นั่นเท่ากับว่าเราจะไม่มีโอกาสกลับมาแผ่นดินเกิดอีก แต่มาระยะหลังมีการส่งมิชชันนารีกลับไปเรียนรู้สิ่งใหม่ในประเทศอิตาลี จึงกลายเป็นธรรมเนียมใหม่ให้กลับไปได้ ช่วงที่ฉันอายุมากแล้วและคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านอยากให้ฉันกลับบ้านแต่ฉันตอบท่านว่า ฉันกลับไปไม่ได้ฉันรักท่าน แต่ฉันอยากจะตายที่เมืองไทย ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย”
เธอเล่าให้ฟังว่าซาบซึ้งกับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรอคอยวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมทุกๆ ปี
“ฉันจะรอฟังถ่ายทอดสดพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทุกปี ฟังแล้วก็มาคุยเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าปีที่แล้ว ท่านพูดเรื่องอะไร ปีนี้ท่านพูดเรื่องอะไร ฉันรักในหลวงเพราะท่านมีแต่ช่วยเหลือประชาชน ท่านเดินทางไปทั่วประเทศ อุทิศตนใช้พรสวรรค์ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพสกนิกร”
เมื่อเอ่ยถึงตรงนี้ แววตาของซิสเตอร์เอสเตรีน้ำตาคลอเบ้า ซึ่งคงไม่ต่างกับความรู้สึกของชาวไทยทุกคน
ฉันไม่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ฉันแค่ทำดีที่สุด
ชีวิตในบั้นปลายของซิสเตอร์เอสเตรีนาที่หอพักหญิงเอาซีลีอุม ศาลาแดง ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ท่านมีซิสเตอร์แอลดา บารัตตีโน (Imelda Barattino) ซึ่งเป็นซิสเตอร์ชาวอิตาเลียนวัย 70 ปี คอยให้ความเอาใจใส่ดูแล เมื่อ2 ปีที่แล้วท่านหกล้มทำให้เดินเหินไม่สะดวกมากนัก แต่ก็ยังยินดีที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเองมากกว่าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
ซิสเตอร์แอลดาบอกว่า “เอาซีลีอุม” เป็นภาษาละตินแปลว่า ช่วยเหลืออุปถัมภ์ บ้านหลังนี้เปิดรับนักเรียนหญิงที่อยู่ในวัยศึกษาช่วงม.3-ม.6 โดยไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาคริสต์แต่อย่างใด หลายคนจบการศึกษาแล้วก็ยังแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนและขอบคุณที่ทางหอพักอบรมดูแลเป็นอย่างดี “ที่นี่เราจะไม่มีการลงโทษด้วยการตี แต่ด้วยความที่เรารักกัน แค่ซิส เตอร์ไม่ยิ้มให้ เขาก็จะสำนึกผิดแล้ว”
สุดท้ายแม้ว่าสภาพแวดล้อมและบ้านเมืองจะเปลี่ยนไปมากมายแค่ไหน แต่ความรักและศรัทธาในมนุษย์ของซิสเตอร์เอสเตรีนาก็ยังไม่เปลี่ยนไป แทบไม่มีสักครั้งทีท่านจะรู้สึกโกรธ หัวใจที่นบนอบของท่านมีแต่ความรักและเมตตาต่อคนอื่น
“ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักบวชหญิงแล้วจะเป็นคนดีกว่าคนอื่น ดีกว่าคนที่แต่งงานมีครอบครัว เรามีกระแสเรียกจากพระเจ้า เราเลยมีหน้าที่ตรงนี้ เราก็ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด”
ในวัย 97 ปีซิสเตอร์เอสเตรีนายังดูสดชื่น มีพลังชีวิตอย่างแรงกล้า เมื่อเราถามท่านว่าอยากใช้ชีวิตให้ยาวนานแค่ไหน ท่านตอบกลับมาด้วยรอยยิ้มกว้างว่า “แล้วแต่พระเจ้า ท่านเรียกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เราเลือกไม่ได้”
ถ้าจะถามหาเคล็ดลับอายุยืนจากนักบวชหญิงสักคนคาดว่าคำตอบคงไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ความสุขจากการเป็นผู้ให้นั้นเป็นดั่งน้ำพุของชีวิตที่ก่อเกิดเป็นพลังกายพลังใจที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ กาย และใจให้สุขสงบนั่นเอง
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)