นิตยสาร โอ-ลั้นลา
คอลัมน์ O-Happy
ประโยคที่ว่า “ขาดทุนก็ไม่เสียใจ” แทบจะเป็นบทสัมภาษณ์ประจำตัวของชายผู้นี้ไปเสียแล้ว เอนก จงเสถียร นักธุรกิจเจ้าของฟิล์มถนอมอาหาร เอ็ม แรป
อีกด้านหนึ่งเขาคือเจ้าของร้าน TOO FAST TO SLEEP แหล่งมั่วสุมทางปัญญาให้นักเรียน นักศึกษา แวะมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่คิดค่าสถานที่ ไม่ต้องซื้อ อาหารและเครื่องดื่มก็เข้ามาอ่านหนังสือได้
โดยสาขาแรกเปิดบริเวณรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน ในปี 2553 และเปิดอีก 2 สาขา ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน รวมถึงสาขาล่าสุด TOO FAST TO SLEEP.SCB ที่สยามสแควร์ ซอย 1 โดยความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์
เขามักให้สัมภาษณ์เสมอๆ ว่าแหล่งมั่วสุมทางปัญญาที่เขาลงทุนมักจะขาดทุนทุกสาขา เฉลี่ยต่อเดือนเป็นหลักแสน แต่เป้าหมายเขาไม่ใช่ตัวเลขกำไร เพราะลำพังการเป็นนักธุรกิจก็สร้างกำไรให้เขาเพียงพออยู่แล้ว
เป้าหมายที่เขาสนใจไปไกลกว่านั้น คือ การส่งไม้ต่อและแบ่งปันให้แก่คนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนกำลังของชาติ เพราะสำหรับเขาแล้ว “ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น”
ทำพื้นที่อ่านหนังสือ “ขาดทุนก็ไม่เสียใจ” คำนี้คือความรู้สึกจริงใช่ไหม
จริง (ตอบทันที) เพราะไม่ได้คิดถึงเงินเลย จนคนรอบข้างมากระซิบว่า คุณเอนกลงทุนไปเยอะแล้วนะ แต่แนวคิดของเราคือ ทำแล้วมีความสุขไหม
วิธีการใช้เงินและความสุขของแต่ละคนก็ต่างรูปแบบกัน บางคนก็ไปเที่ยวรอบโลก บางคนก็เล่นกับหลาน บางคนก็ไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทุกคนมีการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน เราจะไปบังคับว่าทุกคนเหมือนกันไม่ได้หรอก
และความสุขของผมคือ ผมดีใจที่ได้เห็นเด็กมีพื้นที่อ่านหนังสือ ถ้าคุณมีเงิน คุณไป Co-Working Space ได้ แต่ในกรณีเด็กที่อยู่หอพัก เด็กมาจากต่างจังหวัด พวกเขาต้องการพื้นที่มากๆ โดยเฉพาะช่วงสอบ
ผมเริ่มทำ TOO FAST TO SLEEP สาขาแรกที่สามย่านเมื่อปี 2553 ตอนนั้นผมอายุ 55 ปี คิดเพียงแค่ว่าจะเกษียณแล้ว อยากทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำแบบสบายๆ ไม่ต้องคิดมาก ให้คนมีงานทำ คนมีรายได้ แล้วผมก็ทำของผมสนุกสนาน
จน iCondo ของพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค ที่ศาลายา เสนอมาว่ามีพื้นที่ว่าง สนใจไหม จากนั้นปี 2558 ทาง ม.เกษตรฯ ก็ติดต่อมาให้ผมทำต่อ เพียงเดือนเดียวผมก็ทำแบบเสนอให้เขาดูแล้ว
ถ้าผมทำเพื่อธุรกิจ ผมก็มองว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะกำไรสูงสุด แต่วันนี้ผมทำเพื่อให้เด็กมีที่ดูหนังสือ โยนหินไปเหมือนกับเปิดทางให้ทุกคนทำไป ทำเยอะๆ ยิ่งดี ทุกจังหวัดยิ่งทำยิ่งดี
อย่างเจ้าของที่ดินที่สามย่านตรงนี้ เขาเป็นคนใจดีมาก ที่ดินไร่กว่าๆ ในเมือง ถ้าเขาขายได้ตารางวาละเจ็ดแสนถึงหนึ่งล้าน แต่เขาให้ผมเช่าในราคาที่ถูกมหาศาล เพื่อนผมบอก "เอนก ลื้ออยู่เฉยๆ อั๊วขอเช่าต่อเดือนละล้าน ทำเป็นที่จอดรถ ที่ขายของ ขายอาหารฝรั่ง" แต่ผมก็ปฏิเสธ เพราะผมคิดว่า เจ้าของที่ดินตรงนี้มีเมตตาขนาดไหน ให้ผมทำพื้นที่ตรงนี้ ผมคิดว่าถ้าเราคิดดี ทำดี แล้วเราจะได้เจอคนดีๆ
แนวคิดวางแผนช่วงก่อนและหลังเกษียณ เมื่อลงมือทำแล้วแตกต่างจากที่ตั้งใจไว้ไหม
จริงๆ ผมตั้งใจเกษียณตอนอายุ 45 ปี แต่ช่วงปี พ.ศ. 2540 มีการลดค่าเงินบาท เพื่อนบอกให้อยู่ช่วยกันก่อน ทำบริษัทให้มั่นคง สมัยก่อนผมเดินไปข้างหน้า หาเงินอย่างเดียวเลยนะ ผมเจรจาวิน-วิน ทำเงินได้หมด
จากวงการเหล็กมาวงการพลาสติก ทำธุรกิจก่อสร้างทำเงินมหาศาล แต่สุดท้ายพอโดนลดค่าเงินบาท โดนเพื่อนโกง ผมเครียดมาก และนั่นทำให้ผมได้รู้จักโลกอีกโลกหนึ่ง
ช่วงเวลานั้นคือจุดเปลี่ยนทางความคิดใช่ไหม
ผมทำ TOO FAST TO SLEEP ขาดทุนไป 200 ล้าน แต่ผมไม่ได้เป็นทุกข์เท่ากับโดนเพื่อนโกง 70 กว่าล้าน วันนั้นผมจำได้ดี ผมเอาปืนใส่หลังรถไป 3 กระบอก กระสุนรวมสองร้อยกว่านัด คิดเพียงอย่างเดียว “กูไม่ได้เงินมึงก็ตายทั้งตระกูล”
ผมขับรถจากกรุงเทพฯ เหยียบคันเร่งจนมิดไปยโสธร ใช้เวลา 4 ชั่วโมง แต่พอไปถึงก็หาเพื่อนไม่เจอ ตัดสินใจนอนค้างหนึ่งคืน เมื่อไม่เจอจึงกลับ กลับมาก็คิดฟุ้งซ่าน กูจะทำอย่างไรวะ! ตอนนั้นรู้เลยว่านรกมีจริง นอนไม่หลับ ขับรถวิ่งไปวิ่งมาบนทางด่วน บางนาไปเชียงราก เชียงรากกลับบางนา โดยไม่มีจุดหมาย รู้แต่ใจมันร้อนรุ่ม
ผมขับรถด้วยใจฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ ก็นึกถึงคุณแม่ท่านหนึ่งที่เคยสอนธรรมะให้แก่ผม (อ.เรณู ทัศณรงค์) ท่านบอกผมผ่านโทรศัพท์ว่า “คุณเอนก รอนะ อย่าเพิ่งทำอะไร”
คุณแม่เรณูพาผมไปนั่งสมาธิ สามวันแรกเดินไปเดินมา ผมถึงกับด่าตัวเองว่า เรามาทำอะไรที่นี่ เอาเวลาไปตามล่าเงินไม่ดีกว่าเหรอ แต่พอวันที่ 3 เป็นต้นไป จิตเริ่มมีสมาธิ สิ่งเลวๆ ที่เราทำไว้ในอดีตผุดขึ้นมาหมด
พอครบ 7 วัน ดีขึ้น มีนรกเหลือน้อยลง แต่ไม่ได้หายทีเดียวนะ ผมวางแผนจะสู้คดี แต่สิ่งสำคัญคือช่วงเวลานั้นทำให้ผมได้รู้จักโลกอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกที่มีความสุขโดยไม่ต้องใช้เงิน
สมัยก่อนผมสอนลูกน้องเสมอ “ไปฝันเลยนะ พรุ่งนี้จะทำเงินกันอย่างไร” แต่ทุกวันนี้ผมบอกลูกน้องว่าห้าหกโมงต้องกลับบ้านแล้วนะ ถ้าไม่กลับอั๊วปรับร้อยนึง หกโมงเย็นผมเดินตรวจ จดชื่อไว้หมด บอกฝ่ายบุคคลหักเงินมาเลยนะแล้วเอาเงินไปทำบุญ
ที่ให้กลับเร็วเพราะชีวิตมีเรื่องอื่นอีกนอกจากงาน มีครอบครัว แต่ถ้าเด็กต่างจังหวัดไม่รู้จะไปไหน ผมก็จะบอกว่าไปเรียนหนังสือสิ เรียนเพื่อตัวเอง เรียนเพื่อพ่อแม่
อะไรเป็นสิ่งคัญที่ทำให้คุณสนใจการเรียนรู้
ตอนเด็กผมไม่ชอบเรียนหนังสือ ผมชอบทำงาน ช่วยที่บ้านร้อยทองเหลือง ปิดเทอมพ่อก็ไม่ให้เงิน เลยต้องไปซื้อของเยาวราชมาขาย ผมเดินไปร้านไอศกรีม บอกว่าจะขายไอศกรีม คนขายบอกอาตี๋บ้านลื้ออยู่ไหน พอชี้ไปว่าพ่อผมเป็นเจ้าของโรงงานนั้น เขาเลยให้ถังไอศกรีมผมโดยไม่ต้องมัดจำ
คนงานพ่อร้อยกว่าคนซื้อไอศกรีมจากผมคนเดียว ตอนนั้นผมสิบกว่าขวบเอง มือยังกำเหรียญไม่ครบเลย นี่คือสิ่งแรกที่ปลูกฝังให้ผมรักการค้าขาย แต่ผมไม่รักเรียน
ผมมารักเรียนจริงๆ ตอนพ่อส่งไปเรียนอังกฤษ สายวิชาชีพบริหาร Ordinary Diploma เหมือนกับ ปวช. บ้านเรา ผมร้องไห้ทุกวันเพราะอ่านที่ครูเขียนบนกระดานไม่ออก กลับบ้านหกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน ผมจึงนั่งอ่านหนังสือวันละหกชั่วโมง จนสามารถสอบบัญชีได้คะแนนเต็ม
ช่วงเบรกตอน 9 โมงเช้าทุกวัน ผมต้องฟังข่าวบีบีซี ฟังได้บ้างไม่ได้บ้างก็ฝึกฝน เป็นอย่างนี้ทุกวันตลอด 2 ปี ก่อนนอนถ้าไม่อ่านหนังสือจะนอนไม่หลับ ชีวิตที่นั่นเปลี่ยนชีวิตจากคนไม่อ่านหนังสือเป็นคนที่รักการเรียน
จนมีเหตุคนงานที่บ้านประท้วงเรียกค่าแรง ผมจึงต้องกลับมาลุยกิจการของพ่อเต็มตัว วันหนึ่งเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าจุฬาฯ เปิดรับสมัครหลักสูตร MMP (Modern Manager Program) โครงการเสริมสร้างผู้จัดการใหม่ สมัยนั้นรับวุฒิ ปวช. ผมวิ่งไปหาพ่อ ท่านนับเงินให้เดี๋ยวนั้นเลย 29,000 บาท ผมจ่ายเงินคนแรก
มาเรียนอีกทีก็อายุจะ 30 แล้ว ชีวิตเรามาเริ่มต้นเรียนตอนอายุมาก เรียนแค่คอร์สสั้นๆ เหมือน Mini MBA แต่คุ้มค่า เพื่อนทั้งรุ่นกินข้าวเย็นด้วยกันทุกวัน ทั้งเจ้าของโรงน้ำตาลขอนแก่น เจ้าของกิจการ ผมบอกอาจารย์เอาเงินมาจ้างคนระดับนี้สักล้านหนึ่งให้มากินข้าว 4 เดือนกับผม เขาไม่มาหรอก ดังนั้นผมเสียค่าเรียนสองหมื่นกว่าถือว่าถูกมาก
คุณสอนวิธีใช้เงินและวิธีใช้ชีวิตกับลูกๆ ของคุณว่าอย่างไร
ลูกสาวผมสี่คน ทุกคนชอบเรียนหนังสือ เพราะเรียนหนังสือสบายที่สุด โดยมีพ่อจ้างไง (หัวเราะ) จนวันที่ลูกเรียนจบ ผมบอกต่อ จะไม่จ่ายเงินแล้วนะ ผมใช้คำนี้สอนลูกอยู่เสมอ
“พ่อให้ความรู้ ที่เหลือลูกต้องดูแลตัวเอง ถ้าพ่อตายแล้วเงินเหลือ ลื้อโชคดี แต่ถ้าพ่อเงินหมดก่อนตาย… ลื้อต้องเลี้ยงพ่อ” ความกตัญญูนี่สำคัญ ใครให้เงินพ่อแม่ คนนั้นเจริญ
ตอนลูกๆ เอาเงินเดือนเดือนแรกมาให้ ผมบอกพวกเขาไปว่า "พ่อมีอยู่แล้ว เอาไปให้แม่เถอะ" ภรรยาผมจึงต้องรับเงินไว้เพราะถือว่าให้ลูกมาทำบุญ ส่วนคุณแม่ของผมเพิ่งเสียไปไม่นาน ท่านไม่สบายก็ไม่ยอมไปหาหมอ บอกจะยอมตายอย่างเดียว
แต่ก่อนเสีย ผมพูดกับแม่เลยนะ “แม่ต้องอยู่ต่อ อยู่ให้ลูกหลานได้ทำบุญ เพราะการที่ลูกหลานได้ดูแลแม่ถือเป็นความกตัญญู ความเจริญก็เกิดกับลูก” พอเราเปลี่ยนมุมมอง ชีวิตของคนวัยชราก็มีค่าต่อลูกหลานอีกเยอะ
ทุกวันนี้ความสุขของคุณคือ…
ความสุขของผมคือการได้อยู่อย่างง่ายๆ และได้เป็นผู้ให้
อยู่อย่างง่ายๆ คือผมยังเล่นไลน์ถึงตีหนึ่งตีสองแต่ก็ตื่นเจ็ดโมงเช้า เพราะผมไม่บังคับตัวเอง ส่วนการ “ให้” คือให้โอกาสคน ให้ความรู้
ผมมีที่ดินสวนเกษตรที่ตั้งใจว่าวันหนึ่งจะแบ่งปันให้คนไม่มีที่ดินทำกินเข้ามาทำกิน และดูแลสวนไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน ข้อสำคัญคือห้ามขาย เพราะที่นี่คือชื่อผม ผมเชื่อว่าเมื่อใดที่เราช่วยให้ใครสักคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็จะได้คิดและไปช่วยคนอื่นต่อ
ส่วนการออกกำลังกายของผมคือการเดินซื้อของในห้าง เดินที 4-5 ชั่วโมงจนหัวหน้าแผนกจำได้ (หัวเราะ) ผมอาจจะไม่ได้ร่ำรวยมหาศาล แต่มีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
คำว่าชื่อเสียง เกียรติยศมันไม่ได้ติดตัวไปกับเราตลอด สุดท้ายผมก็คงตายแบบคนธรรมดาคนหนึ่ง