นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Herb&Happiness
ตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าเรื่อง 'หนานเฉาเหว่ย' (Vernonia amygdalina วงศ์ Asteraceae) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า 'ป่าช้าเหงา' ไปแล้ว
ผู้เขียนลองเข้าไปดูข้อมูลที่มีผู้หวังดีโพสต์ในเว็บไซต์ต่างๆ รู้สึกตกใจที่พบว่า มีข้อมูลระบุผิดๆ ว่า 'ป่าช้าเหงา' และ 'ป่าช้าหมอง' เป็นพืชชนิดเดียวกัน บรรยายลักษณะของต้นหนานเฉาเหว่ยหรือป่าช้าเหงา โดยใช้ลักษณะและภาพของต้นป่าช้าหมอง ซ้ำยังเอาสรรพคุณและขนาดรับประทานของหนานเฉาเหว่ยที่โพสต์ต่อๆ กันมาประกบเข้าไว้ อาจทำให้ผู้ที่อ่านแล้วสนใจนำมาใช้ผิดๆ ใช้ป่าช้าเหงาก็เสี่ยงอยู่แล้ว มาเป็นป่าช้าหมองก็ยิ่งไปกันใหญ่
'ป่าช้าหมอง' เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันเอง มีชื่อที่ระบุอยู่ในหนังสือ 'ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์' คือ 'ขันทองพยาบาท'
ในฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ มีชื่อพื้นบ้านว่า ป่าช้าหมอก ยางปลอก ขันทอง ดูกไทร ไฟ ดูกหิน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการสื่อสารอาจทำให้ชื่อสมุนไพรผิดเพี้ยนไปได้โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สรุปว่า ขันทองพยาบาท ป่าช้าหมอง และป่าช้าหมอก เป็นพืชต้นเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Suregada multiflorum วงศ์ Euphorbiaceae
- ขันทองพยาบาทเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ เนื้อใบมีลักษณะหนาเหนียวคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ผลแห้ง รูปกลม แตกได้เป็นสามแฉก
- ตำรายาสมุนไพรระบุว่าเปลือกและเนื้อไม้ของขันทองพยาบาทมีรสเมาเบื่อ จึงใช้สำหรับเป็นยาเบื่อ และอาจเป็นที่มาของชื่อที่น่ากลัวว่า ขันทองพยาบาท
- สรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน รักษาโรคเรื้อน กลากเกลื้อน รักษามะเร็ง (ในองค์ความรู้แผนไทย มะเร็งหมายถึงแผลเรื้อรังที่รักษาให้หายยาก) มะเร็งคุดทะราด (แผลเน่าเปื่อยจากโรคคุดทะราด) ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือตำคั้นเอาแต่น้ำนำมาทาที่แผล
- ส่วนรากก็ช่วยแก้โรคผิวหนังได้เช่นกัน ใช้กินเป็นยาถ่ายและฆ่าพยาธิด้วย แต่ผู้เขียนก็ไม่แนะนำ เพราะยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษ ในตำรายาสมุนไพรไม่ใช้ใบเป็นยา
มีงานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ไทยพบว่า สารสกัดใบแห้งมีฤทธิ์ปราบศัตรูพืช (alleopathic effect หรือ herbicide) เช่น ผักโขม หญ้าบางชนิด รวมทั้งรักษาโรคแบคทีเรียที่ทำให้ใบและผลของพืชตระกูลส้มเป็นจุดเหลือง (แคงเกอร์) และทำให้ผลผลิตลดน้อยลงด้วย
นักวิจัยทดลองใช้ใบต้มกับน้ำ ใช้ผงใบ และนำผงใบมาอัดเป็นเม็ด (granules) โรยบริเวณที่มีวัชพืช จะลดการงอกและการเติบโต
ถ้าผู้บริโภคอยากกินป่าช้าเหงา ซึ่งยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ตามหลักวิชาการ และคนไทยไม่เคยกินเป็นอาหาร ไม่เคยใช้เป็นยามาก่อน และไม่เคยเห็นต้นมาก่อน แล้วยังอาจหยิบผิดชนิด เอาขันทองพยาบาทซึ่งเป็นพืชที่เป็นพิษ และใช้ใบเป็นยาปราบศัตรูพืชมากินรักษาเบาหวาน ความดันโลหิต คงจะเป็นทุกข์ซ้ำกรรมซัดเสียมากกว่า
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างสำหรับกลุ่มแฟนพันธุ์แท้สมุนไพรว่ารู้เพียงชื่อนั้นไม่สำคัญเท่ากับถูกต้นหรือไม่ และชื่อทางการ ชื่อวิทยาศาสตร์กับชื่อที่ผู้ขายต้นไม้ขายผลิตภัณฑ์อาจไม่เหมือนกัน ระวังสักนิด คิดและหาข้อมูลให้ชัดเจน ก่อนที่จะกินอะไรที่เราไม่คุ้นเคย
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)