นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ A Dish of Nutrition
ขิงเป็นพืชสวนครัวที่มีฤทธิ์ทางสมุนไพรและปรากฏตัวอยู่ในอาหารจีนหลากหลายเมนูทั้งคาวและหวาน เช่น ปลาผัดขิง น้ำจิ้มข้าวมันไก่ เต้าฮวยน้ำขิง มันต้มขิง หรือแปรรูปขิงเป็นขิงดองรับประทานกับข้าวต้ม หรือเป็นเครื่องเคียงอาหารที่มัน
นอกจากการรับประทานขิง ยังมีสูตรยาบอกต่อกันมาว่า ชาวจีนโบราณใช้ขิงทาถูภายนอกเพื่อแก้เมาเรือ แก้อาเจียน โดยนำขิงแก่มาฝานและถูท้องเพื่อให้เรอดี หากรู้สึกวิงเวียนระหว่างเจอคลื่นลมในทะเลให้ให้ฝานขิงบางๆ อมไว้ใต้ลิ้น หรือใช้ถูที่ข้อมือด้านในบริเวณจุดเน่ยกวาน (วัดลงมาจากข้อมือ 2 นิ้ว และอยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นเอ็นทั้งสองข้าง) จะบรรเทาอาการลงได้
ในงานวิจัยเชิงวิชาการยุคปัจจุบันก็ยังยืนยันประโยชน์ของขิงหลายประการในการรักษาอาการต่างๆ ที่มีทั้งลดอาการไมเกรน มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้แทนยาควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เป็นกรณีๆ ไปเพราะอาจมีฤทธิ์ข้างเคียงต่อยาอื่นที่รับประทานอยู่ แต่หากรับประทานเป็นเพียงสมุนไพรบำรุงร่างกายก็ย่อมดีต่อการเพิ่มกำลังลมปราณและบำรุงธาตุภายใน
อาจารย์แพทย์จีนจารุพรรณ โพธิสัตย์ หรือ หมอปาล์ม ประจำคลินิกแพทย์แผนจีนมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ได้แนะนำสำหรับผู้มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดหัว ว่าให้เลือก ‘ขิง’ เป็นผักสมุนไพรคู่ครัว ซึ่งในทางเภสัชวิทยา ขิงมีสารชื่อ จินเจอรอล ที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ขับลม และยังช่วยเสริมการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีสมดุลดีขึ้น
โดยสามารถรับประทานได้ 3 วิธี คือ ขิงแห้ง ขิงสด และขิงผ่านกรรมวิธี เช่น แช่น้ำส้มสายชู เป็นต้น
- ขิงสด ช่วยขับเหงื่อ แก้หวัด หากเป็นหวัดชนิดที่โดนไอลมเย็นมา ขิงสดจะช่วยลดความเย็นในร่างกายได้ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้มีอาการหวัดจากลมร้อน ซึ่งสามเหตุของหวัดจากลมร้อนหรือเย็นนั้นควรให้แพทย์จีนเป็นผู้วินิจฉัย
- ขิงแห้ง เพื่อความอบอุ่นภายใน ขิงเมื่อนำมาอบแห้งหรือตากแห้ง ความเผ็ดจะน้อยลง ช่วยขับเหงื่อทางผิวได้ไม่ดีเท่าขิงสด แต่ฤทธิ์ความร้อนกลับมีมากกว่า บางครั้งหากเผลอรับประทานอาหารฤทธิ์เย็นมากเกินไป เช่น แตงโม แตงไทย หรือน้ำเย็นจัดหลายแก้ว อาจรู้สึกคลื่นไส้ นั่นหมายถึงปราณของเส้นกระเพาะเริ่มทำงานผิดทาง (ปกติปราณของกระเพาะทำงานในทิศทางบนลงล่าง หากกระเพาะเย็นไปจะทำงานกลับทิศ) หรือรู้สึกมือเท้าเย็นจากการที่ร่างกายตากอากาศเย็น ให้นำขิงแห้งมาชงดื่มจะช่วยแก้อาการได้
- ขิงผ่านกรรมวิธี เช่น ขิงดองในน้ำส้มสายชู รสเปรี้ยวช่วยเสริมการทำงานของเส้นลมปราณตับ ช่วยปรับอารมณ์ คลายความหดหู่ ซึ่งสุภาพสตรีบางท่านในช่วยใกล้มีประจำเดือนจะหงุดหงิด ขี้น้อยใจ น้ำส้มสายชูจะเป็นสารช่วยนำลมปราณเข้าสู่ตับ สลายภาวะตับอุดกั้น
เมื่อสรรพคุณมากมายเช่นนี้ หากจัดให้อาหารในแต่ละสัปดาห์มีขิงเป็นองค์ประกอบบ้างก็จะช่วยปรับสมดุลร่างกายได้ดี
เมนูง่ายๆ จากขิง
น้ำขิงอุ่น-เต้าฮวย
- กรณีที่ใช้ขิงแห้ง ใช้ปริมาณเพียง 3-10 กรัม กรณีใช้ขิงสด ใช้ปริมาณ 5-15 กรัม ชงกับน้ำร้อน
- สามารถทำเต้าฮวยรับประทานเองได้ง่ายๆ โดยใช้ขิงสดต้มกับน้ำจนเดือดแล้วช้อนขิงออก เติมน้ำตาลทรายแดง และประยุกต์ใช้เต้าหู้ญี่ปุ่นชนิดนิ่มแทนเต้าฮวยได้
ปลาผัดขิง
- นำขิงอ่อน หอมใหญ่ และพริกชี้ฟ้าแดงล้างให้สะอาดและซอยเป็นเส้น พักไว้
- หั่นปลาเก๋าหรือปลากะพงเป็นชิ้น ลวกเล็กน้อยแล้วพักไว้
- บุบกระเทียมลงผัดในน้ำมัน ตามด้วยหอมใหญ่ เนื้อปลา ขิงซอย และพริกชี้ฟ้าแดง ปรุงรสตามชอบ
ไข่หวาน
- ต้มน้ำให้เดือด เติมน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลทรายขาว แต่อย่าให้หวานมาก
- ตอกไข่ลงในน้ำเดือดเมื่อไข่เริ่มเป็นยางมะตูมให้หรี่ไฟ
- เติมขิงแห้งหรือขิงสด เพียงเท่านี้ก็ได้อาหารว่างที่อิ่ม อร่อย ได้คุณค่า
สนใจรับข่าวสารสุขภาพ และบทความดี๊ดี คลิกแอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)