นิตยสารโอ-ลั้นลา
คอลัมน์ Cover Story
“ชีวิตคนเรามีสองจาก จากเป็นกับจากตาย ไม่ว่าจะจากแบบไหนก็ทุกข์ทรมานทั้งคู่”
ครูลิลลี่ - กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูกวดวิชาภาษาไทยชื่อดังแห่งโรงเรียนวิทย์ศิลป์ สยามสแควร์ Pinnacle เริ่มต้นบทสนทนาด้วยประโยคที่ทำเราเข้าใจถึงสัจธรรมอันแท้จริงของชีวิต พร้อมเปิดใจถึงประสบการณ์รับมือกับความสูญเสียในชีวิตที่ถาโถมเข้ามาในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่นานนัก เริ่มจากเสียยายไปก่อน อีกครึ่งปีแม่ที่รักและผูกพันอย่างมากที่สุดก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จากนั้นความสูญเสียยังตามซ้ำซัดในอีก 5 ปีถัดมา เมื่อคุณพ่อบุพการีที่เหลืออีกเพียงท่านเดียวในชีวิตล้มป่วยกะทันหันด้วยโรคเส้นเลือดตีบต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจและใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลไม่กี่เดือนก็จากไปทว่าครูลิลลี่ยืนยันว่าทุกความเจ็บปวดเยียวยาได้ด้วยเวลาและหลักธรรม
จากเป็นหรือจากตาย ยังไงก็ทุกข์
“อะไรที่เราไม่พึงประสงค์มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น แล้วยิ่งเราอยากจะดึงรั้งเอาไว้ ก็ทุกข์เข้าไปใหญ่ การจากเป็นก็มีได้หลายอย่าง ตรงนี้เราซ้อมกันมาตั้งแต่เล็กจนโต ตั้งแต่ดินสอหาย ของเล่นพัง อกหัก แต่สำหรับการจากตาย ชีวิตเราต้องเผชิญอย่างน้อยสองครั้งคือเสียพ่อกับแม่ ซึ่งจะไม่มีใครได้ซ้อมมาก่อน"
“คุณแม่ (มณฑา) เสียเมื่อปี 2551 ตอนที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ 2-3 หมอบอกว่าอยู่ได้ 3 ปี เรายังใจชื้นนะ รักษาด้วยคีโมมาเรื่อย แต่พอใกล้ๆ 3 ปี หมอเรียกมาคุยบอกว่าอาการอย่างนี้จะอยู่ได้อีก 6 เดือน คำว่า ‘ไม่เกิน 6 เดือน’ รู้สึกเหมือนฟ้าผ่าลงมา เหมือนคนตกเหว เดินออกมางงๆ ลงบันไดหนีไฟของโรงพยาบาล อะไรคือ 6 เดือนเหรอ"
“ตอนนั้นครูทุ่มเต็มที่ เพื่อให้แม่ได้สบายและไม่ทุกข์ทรมาน เลือกห้องอย่างดี จ้างพยาบาลดูแล เรียกญาติพี่น้องมาเฝ้าให้ครื้นเครงเฮฮาปาร์ตี้กัน ครูก็ต้องหาเวลาสลับไปเล่นกีฬาตีแบดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่อย่างนั้นเราเครียด เพราะต้องสอนหนังสือด้วย"
“ดีว่าครูเริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่ปี 2550 ไม่เช่นนั้นคงยิ่งเตลิด ไม่มีหลักยึด ไม่รู้ว่าสติคืออะไร ธรรมชาติคืออะไร ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ พูดตามหนังสือ แต่ไม่เคยเข้าใจจริงๆ ว่าไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงคืออะไร”
ครูลิลลี่เล่าถึงวินาทีแห่งความสูญเสียที่รับรู้ได้ทันทีหลังเปิดโทรศัพท์มือถือแล้วพบว่ามีสายเรียกเข้ากว่า 20 มิสคอล
“เห็นปุ๊บก็รู้เลย รีบไปโรงพยาบาลเห็นญาติรายล้อม ปล่อยโฮเลย เพื่อนไปหยิบพวงมาลัยมาให้ครูกราบเท้าแม่เป็นครั้งสุดท้าย ตอนนั้นพูดไม่ออก ถึงซ้อมทำใจมาแล้ว แต่พอเจอวินาทีของจริงนี่ไม่เหมือนกับตอนซ้อม"
ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้ลูกคือ พ่อพุฒ โรจนทรัพย์ เริ่มเฉาอย่างเห็นได้ชัด ครูลิลลี่จึงตัดสินใจย้ายบ้านเพื่อหนีจากบรรยากาศเดิม แต่หลังย้ายไปอยู่บ้านใหม่ได้เพียง 4 ปี ความเศร้าก็เข้ามาเยือนอีกครั้ง เมื่อพ่อป่วยกะทันหันระหว่างอยู่นอกบ้าน ต้องผ่าตัดหัวใจอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเส้นเลือดหัวใจตีบและรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ลูกๆ พอมีเวลาทำใจอยู่ราว 2 เดือนเท่านั้น
“พ่อเสียตอนปี 2556 อายุ 81 ปี หลังจากเผา ครูไปเก็บกระดูก เคยเห็นพ่อแบบเป็นร่าง แต่สุดท้ายเหลือกระดูกไม่กี่ชิ้น คนเราเหลือเท่านี้เองเหรอ นี่เป็นสัจธรรมที่พ่อสอนเราอีกเช่นกัน”
เวลาเยียวยาทุก (ข์) สิ่ง
“ความรู้สึกสูญเสียครั้งที่สอง มันเบาลงเพราะมีบทเรียน เหมือนเคยซ้อมใหญ่มาแล้ว (ยิ้ม) แต่ครั้งแรกตอนเสียแม่ ทุกข์อยู่หลายเดือน วันแรกๆ คิดถึงแม่แล้วก็ร้องไห้คนเดียว คิดโน่นคิดนี่ ทำไมไม่ให้เราตายแทนแม่นะ
“แต่คำว่า ‘เวลา’ รักษาทุกอย่างได้ เป็นเรื่องจริงเลยนะ ไม่มีอะไรดีเท่ากับเวลาและการทำใจยอมรับ อย่าไปฝืน เราทุกข์ก็ต้องยอมรับ แล้วปล่อยวาง เบี่ยงเบนความสนใจให้ลืมความทุกข์ ทำงาน สอนหนังสือ เล่นกีฬา"
“บางทีเวลาคิดถึงพ่อแม่ขึ้นมาก็ต้องทำใจเนอะ คิดแล้วก็วางไป อย่าไปฟุ้งซ่านต่อ ที่คนเรามีความทุกข์ทุกวันนี้เพราะว่ามันฟุ้งซ่านปรุงแต่ง ภาษาพระเขาเรียกว่า ‘สังขาร’ ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ‘มโน’ ยิ่งมโนไปเรื่อยๆ ยิ่งทรมาน คนเรามักคิดอยู่สองเรื่อง คืออดีตที่ไปย้อนแผลเดิมไปรื้อความทรงจำ กับอนาคตที่ทำให้ฟุ้งซ่าน เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ทำยังไงให้แต่ละวันมีความสุข ซึ่งความสุขมีสองแบบ ‘อามิสสุข’ คือสุขแบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยคน วัตถุ สิ่งของ ถ้าขาดสิ่งนั้นไปเราก็จะไม่มีความสุข แต่ความสุขแบบที่เราไม่ต้องไปพึ่งพาอะไรเลย วัตถุสิ่งของ บุคคลภายนอก คือ ‘นิรามิสสุข’ เป็นความสุขที่อยู่ภายใน”
บ้านพุฒมณฑา...ความทรงจำอิ่มบุญ
จากความตั้งใจเดิมที่อยากสร้างบ้านพักตากอากาศที่เขาใหญ่ให้พ่อแม่ได้อยู่กับธรรมชาติในวัยบั้นปลายชีวิต เมื่อทั้งคู่จากไป จึงเปลี่ยน “บ้านพุฒมณฑา” (มาจากชื่อ “พ่อพุฒ” และ “แม่มณฑา”) ให้เป็นสถานที่เพื่อการปฏิบัติธรรม โดยเริ่มก่อตั้งปี 2552
“มาถึงตอนนี้ไม่เสียใจเลยเพราะครูได้ดูแลพ่อแม่อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ แม้สังคมรอบข้างดูถูกเคยเป่าหูพ่อว่าลูกพี่พุฒเป็นตุ๊ด แต่เราทำความดี ที่เป็นครูลิลลี่ได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากทำให้เห็นว่าลูกคนนี้ถึงจะเป็นอะไร เราก็สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า ยามปิดตาลาจากโลกนี้ไป ก็ยังส่งบุญให้พ่อแม่ต่อด้วยสถานปฏิบัติธรรม”