คอลัมน์ : O-health
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในนิตยสารโอ-ลั้นลาฉบับ ฉบับเดือนตุลาคม 2558
ในวันที่ลูกๆ เติบใหญ่ พ่อแม่ก็เริ่มแก่ชรา ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นของคู่กัน
"สมองเสื่อม" เป็นปัญหาหนึ่งที่หลายครอบครัวต้องเผชิญ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานช่วง 20 ปีทีผ่านมา ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 80 ปี
แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน อายุรแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ สังกัดภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม กล่าวว่าสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีการเสื่อมการทำงานของสมองทั้งหมด ส่งผลต่อความจำความรอบรู้พฤติกรรม และบุคลิกภาพของผู้ป่วย
จากสถิติการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการสัมภาษณ์และการตรวจร่างกายในปี 2552 และ 2556 พบผู้สูงอายุที่มีความสามารถทางสมองบกพร่องประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เมื่อความบกพร่องมากขึ้นจนมีผลกระทบกับอาชีพการงานสังคมของบุคคลนั้นๆ ถือว่าเป็นสมองเสื่อม ทั้งนี้สมองเสื่อมเกิดจากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ
1. สมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจเกิดจากการตีบแตกหรือตัน ทำให้เนื้อสมองส่วนที่เหลือทำงานไม่ได้ดีเท่าเดิม เซลล์สมองเสื่อมประสิทธิภาพ
2. โรคอัลไซเมอร์เกิดจากเซลล์สมองส่วนที่รับข้อมูลเพื่อบันทึกเป็นความจำค่อยๆ สลายไปจนไม่สามารถบันทึกความจำในบางเรื่องบางช่วงเวลาจนในที่สุดแม้แต่ความจำเก่าๆ ก็แหว่งวิ่นไปเรียกว่าเป็นการเสื่อมสลายของสมองโดยตรง
ใช้ชีวิตให้ห่างไกล โรคสมองเสื่อม
จากหลักฐานทางการแพทย์ซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองอย่างมากเป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะปรากฏอาการสมองเสื่อม ทั้งที่เป็นจากโรคอัลไซเมอร์และจากปัญหาหลอดเลือดสมอง มีความเกี่ยวข้องกับภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และการนั่งๆ นอนๆ ขาดการออกกำลังกาย (physical inactivity)
- ระมัดระวังอาหารมันซึ่งมาจากของทอดผัด
- เนื้อสัตว์ให้เลือกรับประทานปลาเป็นหลักหลีกเลี่ยงการปรุงโดยการทอด
- ผักใบให้บริโภคให้มากหลากสี ส่วนพืชที่อยู่ใต้ดินเช่นเผือก มัน บริโภคพอประมาณ
- สำหรับผลไม้ ควรเลือกบริโภคผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลมาก เช่นฝรั่ง แอปเปิ้ล แก้วมังกร แคนตาลูปสีเหลือง
- ระมัดระวังควบคุมโรคหรือความผิดปกติที่อาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน ที่อาจนำไปสู่สมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดสมองให้อยู่ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติ ได้แก่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง น้ำหนักเกินหรืออ้วน และการสูบบุหรี่
อาการเตือน
อาการที่อาจแสดงออกก่อนที่ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจะรู้สึกถึงปัญหาการสูญเสียความทรงจำ เช่น
- มีอาการหวาดระแวงหรือเห็นภาพหลอน
- หงุดหงิดก้าวร้าวโมโหโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรหรือรุนแรงเกินเหตุ
- ซึมเศร้า แยกตัว ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
- พฤติกรรมแปรปรวน แปลก หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น หัวเราะเสียงดังโดยไม่มีเหตุผลในขณะที่คนอืนกำลังเศร้า หรือเดินวนไปวนมาในห้องตอนกลางคืน
ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอย่างเข้าใจ
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์และปัญหาหลอดเลือดสมองให้หายขาดกลับมาเป็นปกติได้ การให้ยาเป็นความพยายามที่จะชะลออาการของผู้ป่วยเอาไว้ให้อยู่ในช่วงที่ “รู้เรื่อง” ช่วยเหลือตนเองได้ ให้นานที่สุด อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สิ่งที่สำคัญมากกว่ายาในการดูแลผู้ป่วยคือ การทำให้ผู้ป่วยได้อาหารที่ดีเพียงพอ ออกกำลังอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หกล้ม เจ็บปวดที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น ความสามารถของสมองจะเลวลง แต่ถ้าร่างกายดีขึ้น ความสามารถสมองจะค่อยๆ กลับมาอย่างช้าๆ แต่ไม่กลับไปเท่าระดับเดิมก่อนป่วย ดังนั้นเมื่อโรคลุกลามผู้ป่วยสมองเสื่อมจะไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขารู้สึกหรือต้องการอะไร ผู้ดูแลจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ช่างสังเกต ปรับเปลี่ยนการดูแลให้เหมาะสม
- ยืดหยุ่นกิจวัตร/กิจกรรมตามคนไข้ หากคนไข้ตื่นเก้าโมงแล้วเพิ่งรับประทานมื้อเช้า ก็ให้นับตามมื้อ นับตามเวลาของคนไข้ หากคนไข้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมการอาบน้ำ อาจเป็นเพราะคนไข้ลืมวิธีอาบน้ำ แต่อาจจำวิธีอาบน้ำสมัยก่อนได้ ให้ยืดหยุ่นหาวิธีอาบน้ำจากตุ่ม หรือหากคนไข้รู้สึกหนาวให้เตรียมน้ำอุ่น หากคนไข้มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ต้องการไปซื้อผ้าตอนตีสอง ให้ตอบตกลงแต่บอกว่าเราหิวขอหาอะไรรองท้องก่อน แล้วหาขนมที่คนไข้ชอบรับประทานเพื่อให้อารมณ์ดีและลืมเรื่องที่ต้องการทำ
- แสดงความรักความอบอุ่นต่อคนไข้ เช่นโอบกอด พูดคุย หารูปเก่าๆ ที่คนไข้ประทับใจให้ดู
- ดูแลสุขภาพใจและกายของผู้ดูแลให้ดี คนไข้หลายรายไม่สามารถทำกิจวัตรได้เองตามปกติ บางกรณีผู้ดูแลจึงรับบทหนัก ต้องออกแรงต้องยก ใช้กำลังมาก บางครั้งอาจเหนื่อยจนหงุดหงิด ผู้ดูแลจึงต้องดูแลร่างกายและรู้จักผ่อนคลายจิตใจตนเองด้วยเช่นกัน
เครดิต : อ้างอิงข้อมูลจาก http://goo.gl/thwcCe, http://goo.gl/U8z5r1