Column : Share&Care
นิตยสารโอ-ลั้นลา ฉบับเดือนตุลาคม 2558
หากคุณเป็นลูกที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน หรืออีคิวดีขั้นเทพอย่างไร ย่อมไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเครียดได้เลย
คุณอุไร จิรมงคลการ บรรณาธิการฝ่ายพรรณไม้และการเกษตร สำนักพิมพ์บ้านและสวน เป็นคนหนึ่ง ที่ต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์มา 15 ปีเต็ม เธอรับมือและปล่อยวางได้มากขึ้น แม้ว่าระหว่างเส้นทางการดูแลคุณแม่ เธอจะป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วยก็ตาม
เธอแนะว่าการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่มีเคล็ดลับตายตัว ต้องอาศัยการสังเกต เพราะอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกลายเป็นเด็กดื้อ บางคนโกรธเกรี้ยวง่าย บางคนหลอกล่อยาก และบางคนชอบเดินออกจากบ้านโดยไม่บอกกล่าว จากประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทำให้เธอเรียนรู้อะไรบ้าง เธอพร้อมจะแบ่งปันกับเรา
สัญญาณอัลไซเมอร์
ตอนแรกคิดว่าแม่แค่หลงๆ ลืมๆ ตามประสาคนแก่ แต่หลังจากคุณพ่อเสียท่านเริ่มซึมเศร้า มีอาการอัลไซเมอร์ ตกเย็นจะโวยวายดุด่าว่ากล่าวลูกโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากคุณแม่ที่แสนดีกลายเป็นคนโมโหหงุดหงิดง่าย ไม่ยอมหลับยอมนอน เดินไปเดินมาทั้งกลางวันกลางคืน หวาดระแวงกลัวเงินหาย สำรวจข้าวของทรัพย์สินของตัวเองบ่อยๆ ชอบเอาเงินไปซ่อน ซ่อนไปซ่อนมาหาไม่เจอก็โทษว่าพวกเราขโมยเงินของท่านไป
นอกจากนั้นฝีมือในการทำอาหารของท่านก็ผิดไปจากเดิม เหมือนประสาทรับรสของท่านหล่นหายไปด้วย ท่านเป็นแม่บ้านมาทั้งชีวิต ภาระหน้าที่ที่สำคัญของท่านคือการทำกับข้าวให้ลูกๆ แม้เริ่มเป็นอัลไซเมอร์แล้วท่านก็ยังทำ แต่ขืนให้คุณแม่ทำต่อไปอาจเกิดไฟไหม้ได้แน่ๆ เพราะลืมปิดแก๊สบ่อยมาก จนที่สุดเราต้องหาวิธีให้ท่านลืมว่าต้องทำกับข้าว ด้วยการหากิจกรรมอย่างอื่นให้ทำแทน เช่นให้ท่านวาดรูประบายสี
ตั้งสติรับมืออัลไซเมอร์
ท่านเคยป่วยเป็นโรคเบาหวานและน้ำในหูไม่เท่ากัน หมอก็ให้กินยาแก้แพ้ แม้ว่าคุณแม่หายแล้วคุณหมอก็ยังให้กินติดต่อกันอยู่นาน จนวันหนึ่งสงสัยก็ไปหาข้อมูลพบว่ายาตัวนี้ส่งผลให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ จึงให้คุณแม่หยุดกิน เราพาคุณแม่ไปสแกนสมองจึงทราบว่าสมองบางส่วนเริ่มฝ่อ เราสามคนพี่น้องนั่งปรึกษากันควรปรับอะไรบ้าง
หนึ่ง สภาพแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญจากที่คุณแม่เคยนอนบนบ้าน ก็เปลี่ยนให้ท่านมานอนข้างล่างเพราะกลัวเดินตอนกลางคืนแล้วพลัดตกลงมา
สอง ปรับที่ตัวของเราเองคือปรับวิธีคิดและการปฏิบัติตัวกับคุณแม่ จากที่เห็นท่านเป็นผู้ใหญ่ เราก็ดูแลท่านเหมือนเด็ก บางครั้งต้องยอมโกหกหลอกล่อแม้จะบาปก็เถอะ เช่นท่านไม่ยอมใส่แพมเพิร์ส เราโกหกท่านว่าใครๆ ก็ใส่กันท่านไม่ยอมอาบน้ำ เราก็หลอกล่อว่าอาบน้ำให้ตัวเย็นสบายแล้วเดี๋ยวเรามากินไอติมกันท่านก็จะยอม
คุณแม่มีลูก 11 คนดิฉันเป็นคนที่ 10 พี่น้องโดยมากแต่งงานมีครอบครัว เหลือสามสาวที่ดูแลคุณแม่ ช่วงแรกรู้สึกทุกข์ใจมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมคุณแม่ถึงใช้วาจากราดเกรี้ยวกับเรา ร้องไห้บ่อยมากที่สำคัญดิฉันไม่ใช่คนใจเย็น พอคุณแม่ทำอะไรไม่ถูกก็เผลอหงุดหงิดใส่ท่าน ทำให้เรากลายเป็นคนเครียดง่ายไปด้วย
พอรู้และเข้าใจเรียกสติได้ ปล่อยวางได้ ก็รับมือได้ดีขึ้น รู้ว่าที่ท่านพูดไม่ใช่ความจริง คนที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ก็มีหลายแบบ บางคนอารมณ์ปกติดี แต่กรณีของคุณแม่ท่านค่อนข้างมองโลกแง่ร้าย เมื่อป่วยเป็นโรคนี้ก็ยิ่งเป็นมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจก็ไม่เครียดเหมือนเก่า
โชคดีที่พี่น้องช่วยกัน พี่สาวคนหนึ่งทำกับข้าว ดิฉันกับพี่สาวอีกคนช่วยพาคุณแม่ไปหาหมอซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งไปถึงโรงพยาบาลแล้วคุณแม่เกิดโกรธเกรี้ยวขึ้นมาท่านก็ดุด่าเราตรงนั้นเลย ทั้งหมดนี้เราต้องเข้าใจท่านมากๆ คิดเสียว่าตอนเด็กๆ ท่านดูแลเรามาสารพัดป้อนข้าวป้อนน้ำเช็ดอึเช็ดฉี่ให้เรามาวันนี้ถ้าท่านเผลอฉี่ราดบ้างก็เช็ดทำความสะอาดไม่ต้องหงุดหงิด ลูกที่ดูแลพ่อแม่ซึ่งป่วยเป็นอัลไซเมอร์อาจเผลอตะคอกท่าน ดิฉันเองก็เคยเป็นแต่ตะคอกไปก็เราเองที่เหนื่อยที่เครียด ควรเปลี่ยนจากการทำร้ายสุขภาพจิตของตัวเองแบบนั้นมาหาวิธีการอื่นน่าจะดีกว่า
อย่าลืมดูแลตัวเอง
แรกๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของดิฉันมาก ไปทำงานแบบสะลึมสะลือเพราะต้องดูแลคุณแม่ตอนกลางคืนและเมื่อมาเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงสองสามปีหลังดิฉันก็ให้คีโมไปด้วยดูแลคุณแม่ไปด้วย
ช่วงหลังกระดูกท่านพรุนไปตามวัยเกิดหกล้มเวลาเดินต้องช่วยพยุง ลูกๆ ทั้งสามคนมีอาการปวดหลังเหมือนๆ กัน บางครั้งเราก็ทะเลาะกันเรื่องการดูแลคุณแม่บ้าง แต่ด้วยความที่ครอบครัวเราอบอุ่น ก็หันหน้ามาหาทางแก้ปัญหาไปด้วยกัน ส่วนเพื่อนๆ ก็น่ารักมักโทรมาถามไถ่คอยรับฟัง ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจ 2-3 ปีแรกดิฉันยังเครียดมาก แต่พอเข้าปีที่ 4-5 เริ่มปรับตัวปรับใจได้มากขึ้น
ดิฉันอยากบอกคนที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ว่าต้องเข้าใจเขามากๆ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักปล่อยวางให้เป็นด้วย ถึงจะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้