นิตยสารโอ-ลั้นลา
คอลัมน์ Love-Life-Living
ถ้าสังเกต ส.ว. ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่ตัวเราเองเมื่ออายุมากขึ้น จะเริ่มพบกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
นั่งนานก็ปวดหลัง เดินขึ้นบันไดหลายๆ ขั้นก็ชักเหนื่อยง่าย แสดงว่าถึงเวลาที่ควรคิดถึงการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายที่กำลังเสื่อมถอยไปอย่างช้าๆ... แต่ชัวร์
ห้องนอนเป็นห้องแรกๆ ที่ควรปรับ ถ้าใครคิดจะซื้อเตียงใหม่ แนะนำให้คิดเผื่อวัยลั้นลาไว้เลย คือเตียงไม่ควรสูงมาก
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้เขียนเคยพาคุณแม่ไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วบังเอิญเตียงโรงแรมค่อนข้างสูง คืนนั้นคุณแม่นอนอย่างไรไม่ทราบ กลิ้งตกลงมาจากเตียง... ใจหายแวบเลยค่ะ
ต่อไปนี้คือ 5 ไม่ และ 5 ใช่ สำหรับการปรับปรุงห้องนอนผู้สูงอายุ
5 ไม่
- ไม่นอนกับพื้น ไม่ควรวางฟูกกับพื้นห้องโดยไม่มีเตียง เพราะความสูง-ต่ำที่ต่างระดับกันเกินไปจะทำให้เวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ลุก-นั่ง-ยืน ทำได้ลำบาก
- ไม่ควรอยู่ทางทิศตะวันตก อันนี้ไม่เกี่ยวกับฮวงจุ้ยแต่อย่างใด แต่เพราะห้องที่อยู่ทางทิศนี้จะรับแสงแดดตลอดช่วงบ่ายและสะสมความร้อนไว้ ทำให้ ส.ว. ที่รักของเรานอนหลับไม่สบาย
- ไม่ลื่น พื้นห้องนอนไม่ควรทำจากวัสดุที่ลื่นหรือเป็นมันวาว
- ไม่รก หมั่นดูแลให้ห้องโล่งและเป็นระเบียบ เก็บสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นอาจเกี่ยวขา ส.ว. จนสะดุดล้มได้
- ไม่เหลี่ยม ไม่คม ไม่แตก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ควรเลือกแบบไม่มีเหลี่ยมหรือคม เป็นเตียงไม้ดีกว่าเตียงโลหะ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในห้อง เช่น แก้วน้ำ โคมไฟ แจกัน เลือกแบบตกไม่แตก จะปลอดภัยที่สุด
5 ใช่
- ห้องนอนสูงวัยควรอยู่ชั้นล่างของบ้าน จะได้ไม่ต้องเดินขึ้นบันได และควรไปห้องน้ำสะดวก
- เตียงควรสูงพอดีกับรถวีลแชร์ คือประมาณ 40 เซนติเมตร หรือสูงจากระดับพื้นถึงข้อพับเข่า เวลาลุกขึ้นนั่งแล้ววางเท้าถึงพื้นได้
เวลาเคลื่อนย้ายร่างกายระหว่างรถเข็นกับเตียงจะได้สะดวก หลายคนอาจคิดว่าพ่อแม่ยังแข็งแรงเดินไหว ไม่ต้องใช้รถเข็น แต่การปรับห้องนอนครั้งนี้เป็นการวางแผนระยะยาว ดังนั้นคิดเผื่อไว้เลยดีที่สุดค่ะ - ความยาวของเตียงไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร มีพื้นที่ว่างรอบเตียง 3 ด้าน ห่างจากผนังอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพราะนั่นคือความกว้างของรถวีลแชร์ ทำให้วีลแชร์จอดเทียบข้างเตียงได้สะดวก
- ติดตั้งราวจับข้างเตียงหรือหัวเตียงเพื่อพยุงตัว
- เฟอร์นิเจอร์แข็งแรง เพราะผู้สูงวัยอาจจะจับเฟอร์นิเจอร์เพื่อพยุงตัว ถ้าเฟอร์นิเจอร์น้ำหนักเบา ไม่แข็งแรง โอกาสที่จะล้มทั้งคน ทั้งของ นั้นมีมาก คราวนี้ละ มีเจ็บตัวแน่ๆ
รู้กันอย่างนี้แล้ว อันไหนที่เข้าข่าย "ไม่" ก็ควรเอาออกหรือปรับเปลี่ยน
ส่วนอันไหนที่ "ใช่" นั้นก็สบายใจได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของคุณที่คุณรักและห่วงใยนั่นเอง
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)