Column : Share & Care
นิตยสารโอ-ลั้นลา ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558
เมื่อตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน คู่รักทุกคู่มักคาดหวังว่าจะได้เดินจับมือ และดูแลกันไปในยามแก่เฒ่า แต่ความจริงแล้วในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมาย
โอ-ลั้นลาต่อสายตรงถึง คุณเดียร์-ดาเรศ กรายแก้ว วัย 43 ปี เจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทย ณ บางกอก (@Bangkok) เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เธอยินดีเล่าเรื่องราวชีวิตครอบครัวที่พลิกผันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หลังทราบว่าคุณพ่อป่วยเป็นโรคพาร์กินสันเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งผู้ที่รับบทหนักในการดูแลคุณพ่อคือคุณแม่ซึ่งสะสมความเครียดไว้ในใจจนกลายเป็นโรคเครียด
เมฆเริ่มปกคลุม
หลังเรียนจบปริญญาโท ดิฉันหางานทำต่อในออสเตรเลีย เป็นช่วงเดียวกับที่คุณพ่อขอเกษียณก่อนกำหนด เพราะพบว่าตัวเองเป็นโรคพาร์กินสันระยะเริ่มแรก ตอนนั้นมีอาการไม่มาก กินยาแล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ
7 ปีผ่านไป หลังจากตั้งหน้าตั้งตาสร้างเนื้อสร้างตัว ดิฉันกลับมางานแต่งงานน้องชาย แม่พูดกับดิฉันว่า “ถ้าไม่มีลูกสองคน แม่อยากฆ่าตัวตาย” แล้วก็ร้องไห้แบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ดิฉันไล่เลียงเรื่องราวจนทราบว่าคุณพ่อมีนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิมหลายอย่าง จากคนที่รักภรรยา ขยันขันแข็ง กลายเป็นว่าคุณแม่พูดอะไรท่านก็ไม่ฟัง เล่นการพนันหมดเนื้อหมดตัว จนต้องเอาที่ดินเอาบ้านไปจำนอง ซ้ำยังเจ้าชู้แอบไปมีกิ๊ก ดิฉันพยายามตั้งสติและช่วยไล่เคลียร์หนี้ให้คุณพ่อไปทีละรายๆ
ส่วนคุณพ่ออธิบายว่าสิ่งที่ท่านเป็นมาจากผลข้างเคียงจากการรับประทานยาโดพามีนที่รักษาโรคพาร์กินสัน ทำให้มีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ชอบกินจุบจิบ ควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนก่อน มีความต้องการทางเพศสูง ตอนแรกดิฉันไม่เชื่อ แต่เมื่อได้พูดคุยกับคุณหมอที่รักษาคุณพ่อก็พบว่าเป็นความจริง
แม่รับบทหนัก
คุณแม่มีอาการซึมเศร้า จนที่สุดเมื่ออาการของคุณพ่อเริ่มมากขึ้น ต้องผ่าตัดสมองใช้เครื่องกระตุ้น คุณแม่ต้องดูแลใกล้ชิดมากขึ้น คราวนี้คุณแม่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม คุณพ่อกินข้าวหกเลอะเทอะท่านก็จะตีมือ บางครั้งก็ตวาดคุณพ่อเสียงดัง อารมณ์รุนแรงก้าวร้าวเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากแต่ก่อนที่คำน้อยก็ไม่เคยว่าคุณพ่อ เป็นผู้หญิงเรียบร้อย ตามใจสามีทุกอย่าง ช่วงนั้นดูเหมือนความอดทนของท่านจะต่ำลงเรื่อยๆ
วันหนึ่งน้องชายโทรมาบอกว่า ให้ดิฉันรับคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่ที่ออสเตรเลียบ้างได้ไหม…เพราะทนไม่ไหวแล้วที่พ่อกับแม่ทะเลาะกันทุกวัน ที่สำคัญคุณพ่อมักชอบแอบออกไปข้างนอกโดยไม่บอก และไม่ยอมรับสาย น้องชายเองก็มีลูกเล็กๆ ที่ต้องดูแลใกล้ชิด
ดิฉันตัดสินใจพาท่านทั้งสองมาเที่ยวพักผ่อน เมื่อมาอยู่ออสเตรเลีย เช้ามาคุณแม่ก็จะไปช่วยเด็ดผัก ทำกับข้าวที่ร้าน ส่วนคุณพ่ออยู่บ้านบ้าง เดินเที่ยวบ้าง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าอารมณ์ความรู้สึกของคุณแม่ดีขึ้นมาก ท่านยิ้มร่าเริง พูดคุยกับเด็กๆ ในร้านอย่างมีความสุข หกเดือนที่อยู่กับดิฉัน ท่านเหมือนได้ผ่อนคลายมากขึ้น
อย่าแบกโลกไว้คนเดียว
ดิฉันได้ข้อคิดจากความเครียดของคุณแม่ว่า คนเป็นลูกอย่างเราต้องรู้จักสังเกตสอบถาม พยายามช่วยลดความเครียดระหว่างระหว่างคณุพ่อกับคุณแม่ แยกให้แต่ละท่านใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองบ้าง ที่สำคัญดิฉันค้นพบว่าคุณแม่วางแผนว่าหลังเกษียณอยากเดินทางท่องเที่ยวแต่เมื่อคุณพ่อมาป่วยความฝันของท่านก็ต้องจบลง ตอนหลังเมื่อดิฉันพาท่านไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยฝากคุณพ่อไว้กับญาติ รู้เลยว่าท่านมีความสุขมาก
ทุกวันนี้ดิฉันจะรับคุณพ่อคุณแม่มาอยู่ด้วยปีละ 6 เดือนให้ท่านได้พักผ่อนส่วนในอนาคตหากโรคพาร์กินสันของคุณพ่อรุนแรงมากขึ้น ดิฉันก็จะจ้างคนมาช่วยดูแลท่าน เพราะคุณแม่เองก็เริ่มสุขภาพแย่ลงเป็นโรคหอบ เป็นตะคริวง่าย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเครียดสะสมนั่นเอง
คนเป็นลูกส่วนใหญ่จะให้เงินพ่อแม่ แต่อาจลืมดูแลท่านเรื่องจิตใจ ดิฉันว่าเรื่องนี้สำคัญมากนะคะ เมื่อคนเป็นพ่อเป็นแม่เกิดความเครียด คนที่น่าจะดูแลและเข้าใจมากที่สุดควรจะเป็นลูกค่ะ
เมื่อมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ควรปล่อยภาระการดูแลให้อยู่บนบ่าของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้ว แทนที่จะป่วยคนเดียว เราอาจได้คนป่วยเพราะเครียดเพิ่มอีกคน และครอบครัวจะดำรงความเป็น “ครอบครัว” อยู่ได้ เพราะทุกคนยื่นมือออกมาประคับประคองกันและกันด้วยอ้อมแขนแห่งความเข้าใจ