นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ หนุนตักฟังเรื่องเล่า
หากใครเป็นแฟนเพจของ นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ หรือ หมอเก่ง เจ้าของแฟนเพจ “รู้ก่อนลืมแก่กับหมอเก่ง” ผู้ก่อตั้ง Chersery Home ศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้สูงวัย เนอร์สซิ่งโฮมยุคใหม่ ย่านจรัญสนิทวงศ์ การดูแลเอาใจใส่เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน ผสานการบริการระดับโรงแรม ราคาเป็นมิตร มีการนำ Universal Design มาปรับใช้ ที่สำคัญคุณหมอเก่งออกแบบเองด้วย
นอกเหนือจากสาระการดูแลผู้สูงอายุ เรามักจะได้เห็นสมาชิกในครอบครัวคนสำคัญกับมุมมองความคิดและการใช้ชีวิตที่แสนเรียบง่ายแต่มหัศจรรย์ ที่หมอเก่งมักจะนำเรื่องราวของท่านมาเป็นต้นแบบของผู้สูงอายุที่หน้าเพจบ่อยๆ
หญิงสูงวัยผู้เดินทางมาแล้ว 5 แผ่นดิน หมอเก่งเรียกเธอสั้นๆ ว่า “อาม่า”
วันนี้อาม่ายังคงสุขภาพดี นั่งจิบชาหลังตรง สวดมนต์ออกเสียงทุกวันวันละ 2 ชั่วโมง มองโลกและใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างเป็นสุข และที่สำคัญ อาม่าเตรียมกระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ จัดเสื้อผ้าพร้อมสรรพ อันเป็นสัญญะแห่งการเตรียมพร้อม “มรณานุสติ” มานานกว่า 20 ปีแล้ว
“ชีวิตที่เหลือหลังจากนี้คือกำไร” อาม่ามักบอกกับหลานชายที่เรียกว่า…อาเก่ง เสมอๆ
การก่อตั้งศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้สูงวัย คุณได้รับแรงบันดาลใจจากผู้สูงวัยที่บ้านใช่ไหม
ใช่ครับ เพราะผู้หญิงคนนี้เลย อาม่า ผมเป็นหลานที่สนิทกับอาม่า เพราะอาม่าอยู่กับคุณพ่อซึ่งค้าขายเปิดร้านขายยาที่มีนบุรี
เราอยู่อาคารพาณิชย์ อาม่าอยู่ดูแลชั้นล่างและชั้นสอง ผมโตมาก็เห็นอาม่าจ่ายตลาด ทำกับข้าว ความใกล้ชิดทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิดจากอาม่าหลายๆ ด้าน ผมเป็นหลานที่ใกล้ชิดที่สุด คนที่ 14 ลูกสาวของผมเป็นเหลนคนที่ 11
ตอนผมวัยรุ่นเป็นนักเรียนแพทย์ อาม่าต้องผ่าตัดไส้ติ่ง ครอบครัวมอบหมายให้ผมไปมองหาสถานที่พักฟื้น Nursing Home จำได้ว่า เราไม่พบสถานที่ที่ตรงกับความต้องการ ผมคิดว่า หลายๆ ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุยามเจ็บป่วยน่าจะมีความต้องการในจุดนี้เหมือนกัน สถานที่ที่สะอาด บุคลากรมีเซอร์วิสมายด์ นี่เป็นจุดที่ทำให้คิดว่า ถ้าวันหนึ่งมีโอกาส เราจะทำสิ่งนี้สู่สังคม
Chersery Home เฌ้อสเซอรี่ โฮม ทุนก้อนแรกมาจากระบบเช็งเม้งฟันด์ (หัวเราะ) การร่วมทุนจากญาติตอนที่เราไปเช็งเม้ง
เพราะก่อนหน้านี้เราไปคุยกับธนาคาร แต่เขาไม่เข้าใจว่าธุรกิจนี้ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร เราเป็นโรงพยาบาลเพื่อการกายภาพ เน้นการดูแล ซึ่งญาติสูงวัยหลายท่านเข้าใจปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัย ธุรกิจนี้จึงเกิดขึ้นได้เพราะครอบครัว
อาม่าสอนให้ผมกตัญญูผ่านคำสอนเป็นรูปธรรม เช่น สอนว่าลื้อเป็นเด็กลื้อต้องช่วยพ่อแม่ ตอบแทนเขา เขาเหนื่อยแล้ว หลายๆ ครั้งคำสอนของอาม่าที่เคยสอนผม ผมก็นำมาขมวดให้เข้าใจและสื่อสารง่ายผ่านหน้าเพจ
คำสอนของอาม่าที่คุณจำได้ดี
ผมเคยถามว่า ทำไมอาม่าอายุยืนจัง สมัยก่อนอาม่าก็จะตอบว่า เลือกกินอาหารดีๆ ออกกำลังกายดีๆ อย่าคิดมาก
แต่ล่าสุดที่เด็ดคือ อาม่าบอกว่าตัวเองชอบดูดวง ผมก็ไม่ค่อยแปลกใจ คนแก่เขาก็อาจดูดวงได้ แต่อาม่าบอกว่า ไม่ใช่ดวงอย่างที่ลื้อคิด อาม่าดู 3 ดวง “ดวงตา ดวงใจ ดวงจิต”
- ดวงตา คือ มองคนที่สนทนาด้วย เขาคิดยังไง เขารู้สึกอย่างไร เราต้องดูแลเขา
- ดวงใจ คือ ความรู้สึกของคนรอบข้าง เขาจะทุกข์ไหม เขาจะมีความสุขไหม คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
- ส่วนดวงจิต คือ การดูใจของตัวเอง ดูว่าเรามีความสุขหรือยัง ดูแลความสุขของคนอื่นแต่ต้องดูแลความสุขของตัวเองด้วย
นั่นเป็น 3 ดวง ที่ผมฟังแล้วขนลุก
อาม่าอายุ 99 เป็นคนจีน ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ยังคงนั่งหลังตรงจิบชา ยังคงนั่งพับกระดาษเงินกระดาษทองในเทศกาลเช็งเม้ง คิดดูสิว่า กระดาษชิ้นหนึ่งมี 16 ขั้นตอน อาม่านั่งพับจนได้กระดาษเงิน กระดาษทองเป็นหมื่นๆ ชิ้น ทำให้เห็นว่าท่านมีสมาธิมากแค่ไหน หรือแม้กระทั่งการสวดมนต์ออกเสียงทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง โดยที่ท่านไม่เคยเรียนหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่อากงสอนว่าลื้อต้องอ่านอย่างไร อาม่าบริหารปอดอย่างนี้ติดต่อกันมา 60 ปีแล้ว
อาม่ายังความจำดีมากและท่านยังออกกำลังกายง่ายๆ ทุกเช้าด้วยการบิดเอว ดูแลตัวเองไม่กินหวาน ไม่กินเค็ม ไม่กินมัน
ท่านบอกว่าของทุกอย่างบนโลกนี้ไม่ใช่ของเรา มีแค่อย่างเดียวที่เป็นของเรานั่นคือสุขภาพของตัวเอง ดังนั้นต้องดูแลสิ่งนี้ให้ดีที่สุด
การดูแลสุขภาพในแบบฉบับของอาม่าเป็นอย่างไร
เรารู้ว่าต้องกินอาหารดีๆ ออกกำลังกายทุกวัน แต่มักหลงลืมไม่ปฏิบัติกัน
ท่านฝึกฝนจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนทหารตื่นมาก็อาบน้ำแปรงฟัน เคารพธงชาติ ถ้าลื้อทำซ้ำๆ มันก็จะกลายเป็นวินัย และวินัยเมื่อทำซ้ำๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย
นิสัยเมื่อทำไปซ้ำๆ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก กลายเป็นตัวตน และเมื่อทำสิ่งนี้ซ้ำๆ สิ่งนี้จะกลายเป็นโชคชะตา
อาม่าบอกว่าที่เราโชคดี (เผ่งอัง) สุขภาพดี ปลอดภัย นั่นเพราะว่าทุกอย่างเริ่มจากพฤติกรรม วินัย นิสัย จิตใต้สำนึก และกลายเป็นโชคชะตากำหนดชีวิตเรา
อีกเรื่องคือสุขภาพใจ อาม่าของผมเปรียบเสมือนฟองน้ำ หากคนรอบตัวเป็นทุกข์ท่านก็ซับความทุกข์นั้นไว้ เพื่อแบ่งเบาให้คนรอบข้างสบายใจ แต่ในขณะเดียวกันอาม่าก็เป็นฟองน้ำที่บีบออกได้เหมือนกัน ท่านไม่ได้เป็นฟองน้ำที่อมน้ำไว้
มองอีกมุม อาม่าก็ปล่อยวางได้ และสามารถให้ความสุขกับตัวเอง เพราะถ้าตนเองไม่มีความสุขก็ไม่สามารถมอบความสุขส่งต่อให้ลูกหลานและคนรอบข้างต่อไปได้
ผมขมวดความคิดของอาม่าเป็นเคล็ดลับง่ายๆ ว่า “กายสดใส ใจสมบูรณ์ เพิ่มพูนสุข” เพิ่มพูนสุขให้ทั้งคนอื่นและตนเอง และสำหรับอาม่า การใช้ชีวิตมาถึงวันนี้คือกำไรแล้ว เพราะท่านเตรียมตัวตายมานานแล้ว
ช่วยเล่าเรื่องการเตรียมตัวของท่านให้ฟังสักนิด
อาม่ามีกระเป๋าใบหนึ่งเก็บไว้ในห้อง ลูกหลานทุกคนรู้หมด ข้างในมีชุดสีขาว มีรูปที่จะใช้วันงานศพ มีผ้าต่างๆ เรียบร้อย เตรียมพร้อมว่าจะห่มอย่างไร เพราะท่านไม่ต้องการให้งานของท่านเป็นภาระของใคร ที่สำคัญ ท่านเตรียมไว้ตั้งแต่อายุ 70 ปีแล้ว
ท่านบอกว่า “อั๊วก็สบายดีแล้ว ลูกหลานก็เจริญเติบโตกันหมด ชีวิตนี้ได้ครบแล้ว” จึงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความรู้สึกปล่อยวาง วันที่อายุ 71 เป็นต้นไปรู้สึกว่ากำไร ทุกอย่างก็ทำเพื่อความสุขในทุกๆ วัน
อาม่าเตรียมตัวมรณานุสติทั้งๆ ที่ท่านยังแข็งแรง มีเงินพอใช้ มีเงินทำบุญ บางคนจะวัดความมั่งคั่งกันที่ตัวเงินในบัญชี แต่สิ่งนี้คือความร่ำรวย สิ่งที่อาม่ามีคือความมั่งคั่งในทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ สิ่งนี้ต่างหากคือความมั่งคั่งที่แท้จริง
คิดดูว่าคนอะไรจะมรณานุสติได้ตลอด 20 ปี ซึ่งสำคัญมากสำหรับเรา ผมก็มามองตัวเองว่าตอนนี้เราใช้พลังกับเรื่องไปข้างหน้าเสียเยอะ แต่ไม่เคยหันกลับมามอง ณ ปัจจุบัน หรือตั้งคำถามว่า หากพรุ่งนี้ไม่ตื่นมาจะเป็นอย่างไร เราไม่เคยมรณานุสติไว้เลย นี่คือสิ่งที่อาม่ากำลังสอนหลานๆ อยู่
คำสอนของอาม่านำมาปรับใช้กับวิชาชีพแพทย์ของคุณอย่างไรบ้าง
ผมเคยผ่านเคสมะเร็ง ในขณะที่หมอบางท่านอาจจะพูดกับญาติของคนไข้ว่า ไม่เห็นจะต้องไปยื้อคนไข้เลย แต่ในมุมมองของอาม่าคือ ถ้ายังมีวันพรุ่งนี้ล่ะ ถ้าวันพรุ่งนี้เขาได้ทำบุญ ถ้าวันพรุ่งนี้คนป่วยทำให้ลูกหลานมีความสุขอยู่ล่ะ
ความหมายของความสุขในการมีชีวิตอยู่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจแค่ 1 ชั่วโมง บางคน 1 วัน ซึ่งหลายๆ ครั้งการทำงานในบทบาทแพทย์อาจทำให้เราด่วนตัดสิน คิดแทนคนอื่น สิ่งที่อาม่าสอนคือคุณค่าของวันเวลาที่มีความหมาย ทำให้ผมมองเห็นว่าผมจะไม่ทำเช่นนั้น
บางทีคนไข้เป็น stroke อ่อนแรง เส้นเลือดในสมองตีบ ถ้าเราบอกเขาว่า คงรักษาได้แค่นี้นะ คนไข้จะเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องไปตัดสินเขาโดยที่เรายังไม่ได้เริ่มพยายามเลย แต่ผมจะบอกว่า เราจะพยายามให้ท่านเดินได้นะ ให้ท่านกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ ฟังเพียงเท่านี้ คนไข้ก็เชื่อเราไปแล้ว ภาพอนาคตที่เขาจะกลับมาเดินได้มันอยู่ในหัวเขา แล้วคราวนี้แรงพยายามมันจะมีโดยตามธรรมชาติ
กลับกัน ถ้าเราบอกว่า คุณยายได้เท่านี้แหละครับ คงจะนอนติดเตียง คงจะได้ใส่สายจมูกไป ภาพของกำลังใจก็ลดลง
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อาม่าแสดงให้เราเห็น และผมก็นำหลักคิดของอาม่ามาเป็นต้นแบบในการทำงานจนถึงทุกวันนี้
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)