นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ O-health
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นการแพทย์แผนโบราณของชาวฮั่นที่มีมากว่า 5,000 ปี
สำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า องค์ประกอบหลักของการแพทย์แผนจีนคือ การวินิจฉัยหรือการบอกโรค การรักษาด้วยการฝังเข็ม การใช้ยาสมุนไพร การนวดทุยหนา ชี่กง และอาหารที่เป็นยา
โดยหลักพื้นฐานของการแพทย์แผนจีนจะเกี่ยวข้องกับหยินหยาง การเดินลมปราณ ลักษณะของอวัยวะส่วนต่างๆ ตลอดจนโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
การแพทย์แผนปัจจุบันอธิบายว่าเกิดจากการเสื่อมของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้น รวมถึงอาจมาจากการยกของหนักผิดท่า ตลอดจนอุบัติเหตุกระแทกบริเวณกระดูกสันหลังบ่อยๆ ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้นจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกตามไปด้วย ทำให้เกิดกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมาเพื่อต้านการทรุดตัว
โดยปกติแล้วกระดูกงอกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทของร่างกายได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน และปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปบริเวณน่องและเท้า
ทางร่วม...รักษาโรค
ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์จีน นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนจีน กล่าวว่าในการรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น ประสาท ต้องดูการตรวจเอกซเรย์กระดูกว่ามีลักษณะ อย่างไร มีการกดทับของกระดูกมากน้อยแค่ไหน ถ้ากดทับไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง และเสี่ยงว่าผลที่ได้รับอาจไม่ดีอย่างที่คาดคิด
สำหรับแพทย์แผนจีน สิ่งสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคือ การทำให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล สำหรับผู้ที่ถูกกดทับมาก และจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือเคยผ่านการผ่าตัดมาแล้ว สามารถใช้การแพทย์แผนจีนร่วมกับการรักษาแผนตะวันตกเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของร่างกายได้ด้วย
“อาการปวดของผู้ป่วย เกิดจากการไหลเวียนของเลือดและพลังลมปราณติดขัด ดังนั้นในการบรรเทาอาการปวด เราจะเน้นกระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดและพลังเดินได้คล่อง ซึ่งสาเหตุการติดขัดต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป อาจเกิดจากลม ความเย็น ความชื้น เลือดหรือพลังอุดกั้น และพิจารณาภาวะพร่องของร่างกายว่ามีจุดอ่อนที่ส่วนไหน เพื่อทำให้เกิดความสมดุล"
"วิธีการรักษามีทั้งการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณต่างๆ ควบคู่กันไปกับการใช้สมุนไพร โดยการฝังเข็มจะช่วยคลายเส้นหรือกล้ามเนื้อมัดลึกมัดตื้นและช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้”
นอกจากนั้น นพ.ภาสกร ได้แนะวิธีป้องกันจากโรคนี้ว่า สิ่งสำคัญคือต้องปรับท่าทางในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่ฝ่าฝืนทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลานาน ถ้าเริ่มมีอาการปวดเมื่อย ควรหยุดพักการทำกิจกรรมนั้นๆ ควรออกกำลังกายและบริหารร่างกายโดยการยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือมีการนวดอย่างรุนแรงและผิดวิธีจากผู้ที่ไม่ผ่านการอบรมการทำกายภาพบำบัดอีกด้วย
ปวดแบบนี้เรียกว่า...
นพ.ภาสกิจ จำแนกลักษณะการปวดแบบแพทย์แผนจีนว่า
1. การปวดแบบเคลื่อนที่ เช่น การปวดตามข้อและเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นๆ หายๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหมือนลม เรียกว่า ปวดแบบลม
2. การปวดแบบลึกๆ หนักๆ เหมือนผ้าชุบน้ำ เรียกว่า ปวดแบบความชื้น
3. การปวดแบบอักเสบ บวม แดง ร้อน เรียกว่า ปวดแบบร้อน
4. ปวดแบบรุนแรงมาก โดยเฉพาะเวลากระทบความเย็น เรียกว่า ปวดแบบเย็น
5. ปวดแบบเข็มแทง เฉพาะที่ เป็นมากตอนกลางคืนเรียกว่า ปวดแบบเลือดคั่ง
6. ปวดแบบเรื่อยๆ ไม่รุนแรง เป็นมากเวลาอ่อนเพลียเรียกว่า ปวดแบบร่างกายพร่องอ่อนแอ