นิตยสาร O-lunla
คอลัมน์ Cover Story
ที่นี่เป็นบริษัทที่ไม่มีคำว่า จำกัด (มหาชน) ต่อท้าย
แต่เชื่อว่าเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นี้จบแล้ว หลายคนคงอยากยื่นใบสมัครงานที่นี่แน่ๆ - - บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด
เพราะบริษัทนี้เปิดโอกาสให้คุณตาคุณยายทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหวแล้วขอหยุดไปเอง เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ ความชำนาญ โดยจัดสวัสดิการต่างๆ ให้อย่างดี
ดร.วราทัศน์ วงศ์สุรไกร กรรมการบริหารบริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด ผู้บริหารรุ่นที่สามของชอเฮง จะร่ำเรียนมาจากโลกตะวันตกและนำพาบริษัทเติบโต มีเครื่องจักรทันสมัย อีกทั้งปรับกลยุทธ์จากบริษัทเส้นหมี่เป็นโรงงานผลิตแป้งที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าแต่ในอีกทางหนึ่ง เขาให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลและดำเนินตามแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เห็นมาจากรุ่นปู่และพ่อ
“ผู้สูงอายุที่ทำงานกับเรามานานตั้งแต่หนุ่มๆ สาวๆ หลายสิบปี บริษัทนี้ผู้ก่อตั้งคืออากงที่มาจากเมืองจีน มีเพื่อนฝูงมาช่วยกันทำงานหลายคนพูดภาษาไทยไม่ได้ คนเหล่านี้ก็อยู่กับโรงงานมาตลอดไม่ได้ไปไหน ไม่มีใครเกษียณ อยู่จนกระทั่งเสียชีวิต อย่างตัวผมปีหน้าก็จะอายุ 70 ปีแล้ว เมื่อเด็ก 10 ขวบก็เจอคนเหล่านี้อยู่กันมาก่อนแล้ว เลยเหมือนดูแลผู้ใหญ่ ไม่ได้มองเขาเป็นพนักงาน”
“ถ้าให้เกษียณไปรายได้ก็ไม่มี เลยกลายเป็นประเพณีว่าคนที่ทำงานกันมานาน 60 แล้ว เราก็ดูแล ให้ทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะไม่ไหวหรือไม่อยากทำแล้ว ต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนเครื่องจักรยังไม่ดีเหมือนปัจจุบัน ต้องอาศัยประสบการณ์ความชำนาญของคน เอาคนใหม่มาก็สู้คนเก่าไม่ได้ ซึ่ง ณ วันนี้เช็กดูแล้วเรามีพนักงานที่อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 50 คน จากคนงานเรา ทั้งหมดกว่า 1,600 คน คิดเป็นสัดส่วน 3% “
ปรับงานให้เหมาะกับส.ว
เมื่อให้คนสูงอายุทำงาน ทางบริษัทก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายผู้สูงอายุ
“เราเปลี่ยนตำแหน่งให้เขา ทำงานให้เบาขึ้นตามกำลังที่มี ทำงานสบายๆ เท่าที่ทำได้ ไม่เข้มงวดกับเขามาก ให้ทำงานด้วยความสุข เพราะว่าถ้าเกษียณไปอยู่บ้านก็เหงาแย่ มาที่นี่ยังมีเพื่อนร่วมงาน มีอะไรทำแล้วได้เงิน ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน อย่างน้อยเมื่อสุขภาพจิตดีก็จะมีความแข็งแรงตามมา”
“และผู้สูงอายุเขาไม่ได้กินเงินเดือนฟรีๆ นะ ยังทำงานตามปกติ บางคนอายุ 70 ปียังทำงานได้ แข็งแรงด้วย เพียงแต่อาจใช้แรงงานน้อยหน่อยจริงๆ เรามองในแง่ที่ว่า ในเมื่อกิจการก้าวหน้าเติบโตดีแล้ว ทำไมเราไม่ช่วยเขาแทนที่จะเอาเงินไปบริจาคอะไรเยอะแยะ มาช่วยคนที่อยู่กับเรา เราเห็นผลชัดๆ เพราะเมื่อเราทำอย่างนี้พนักงานใหม่เข้ามาก็เห็นสิ่งที่เราทำ เขาก็อยากอยู่กับบริษัทไปนานๆ และพยายามทำงานเต็มที่"
จ้างงานตลอดชีวิต
...และถึงจุดสุดท้าย ถ้าสภาพร่างกายไม่เอื้อ ทำงานไม่ไหว ทางบริษัทก็ให้เงินเดือนตลอด ตำแหน่งระดับผู้บริหาร ได้รับเงินเดือนเท่ากับเงินเดือนก่อนเกษียณจนกว่าจะเสียชีวิต
ถ้าเป็นคนงานทั่วไป ถ้าอายุ 60-70 ปี ให้เดือนละสามพันบาท
อายุ 70 ปี ขึ้นไปให้สี่พันบาท
อายุ 80 ปีขึ้นไปห้าพันบาท โดยที่ไม่ต้องมาทำงานเลย
“ผู้สูงอายุมีรอยัลตี้สูง ทำงานมานาน มีประสบการณ์ มีความเอาใจใส่มากกว่า ยิ่งกิจการของเราเป็นแปรรูปการเกษตร มีโอกาสรั่วไหลเยอะถ้าเขาไม่ซื่อสัตย์ ไปรับเงินจากคนส่งข้าว แล้วได้ข้าวคุณภาพไม่ดีหรือน้ำหนักไม่ครบก็สูญเสียมหาศาล” ดร.วราทัศน์ให้แง่คิด ที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึง
“ผมยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องนึงนะ เมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ลุงอำนวยซึ่งเป็นคนเก่าแก่ที่นี่ตอนนั้นอายุ 80 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่กับเรา เขาเกิดที่นี่ ดังนั้นเขารู้ว่าทางน้ำไหลจะเป็นยังไง แล้วมีพรรคพวกอยู่แถวนี้เยอะ เขาเป็นคนวางแผนสร้างเขื่อนร่วมกับชาวบ้านล้อมรอบโรงงานและชุมชนแถวนี้สามถึงสี่ร้อยไร่ จากหน้าปากซอยมาถึงโรงงาน 4-5กิโลเมตร ข้างนอกนี่โดนท่วมหมดเลย ยกเว้นในซอยนี้ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าคุ้ม (ยิ้ม)”
ดร.วราทัศน์ จบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มว่า
“บริษัทเราไม่ได้ใหญ่โตนะ แต่มั่นคง ทุกคนมีความสุข ผู้บริหารหุ้นส่วน คนทำงานมีความสุขก็พอแล้ว”
Expertise มีคุณค่า @เซ็นทารา
บริษัทอีกแห่งหนึ่ง ที่เห็นคุณค่าผู้สูงวัยว่า ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า (ประสบการณ์)
ถ้ายังทำงานไหว แถมมีความเชี่ยวชาญในงาน
“ถ้าเช่นนั้น ทำไมเราไม่จ้างงานคนที่มีความสามารถต่อล่ะ”
คุณภัทรา จองเจริญกุลชัย รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา แบ่งปันความเห็นและประสบการณ์ในการส่งเสริมศักยภาพแรงงานหลังวัยเกษียณให้ฟังว่า
“โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราเล็งเห็นความสำคัญของแรงงานวัยเกษียณมานานแล้ว ยิ่งโรงแรมมีอายุมากขึ้น (กว่า 30 ปี) ก็จะมีพนักงานเกษียณอายุมากขึ้นทุกปี จนปลายปี 2558 คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และคุณทศ จิราธิวัฒน์ มองว่าคนกลุ่มนี้เป็นพนักงานที่เป็น ‘Expertise’ มีความชำนาญในการทำงานเฉพาะด้าน แล้วทำไมเราจะไม่จ้างงานคนที่มีความสามารถต่อ”
โดยการจ้างพนักงานวัยเกษียณของเซ็นทาราไม่จำกัดเฉพาะพนักงานภายในเท่านั้น แต่พนักงานเกษียณอายุที่มีศักยภาพจากองค์กรอื่นก็สมัครมาร่วมงานได้
คุณภัทราอธิบายเพิ่มเติมว่าในหลายจังหวัดที่โรงแรมในเครือตั้งอยู่ ผู้สูงอายุในชุมชนไม่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการจ้างงาน แต่ต้องการให้ทางโรงแรมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น การมอบขนมส่งต่อความสุขและการสนับสนุนกิจกรรมการแสดง (ที่อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี) กิจกรรมเพื่อสุขภาพอย่างการกดจุดและออกกำลังกาย ไปจนถึงการสนับสนุนส่วนลดค่าใช้จ่ายเมื่อผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการห้องอาหารในเครือ (ย่านหัวลำโพง กรุงเทพฯ)
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุที่โดดเด่นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมต้นแบบที่หัวหิน โดยร่วมกับเทศบาลหัวหินจัดให้มี “วิทยาลัยวัยหวาน” เปิดให้ผู้สูงอายุมาเรียน แต่งชุดนักเรียนย้อนยุค ร้องเพลงชาติพร้อมแจกหนังสือดูแลสุขภาพ อดีตพนักงานหัวหินหลายคนก็ได้โอกาสกลับมาเยี่ยมชมโรงแรม
“ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์การให้ความสำคัญกับพนักงาน วัยเกษียณที่มีความสามารถที่คุณทศพูดถึงมาตลอด คุณสุทธิเกียรติเองมองว่ากลุ่มพนักงานสูงอายุที่มาจากลาดพร้าว (ปัจจุบันคือโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว) คือคนที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จ และทำให้ท่านมีชื่อเสียงได้จนกระทั่งทุกวันนี้"
อ่านบทความต่อเนื่อง >>