นิตยสารโอ-ลั้นลา
คอลัมน์ : หนุนตักฟังเรื่องเล่า
เห็นหน้าหมวยแบบนี้ รู้มั้ยว่าตอนเด็กๆ เจนนิเฟอร์ คิ้ม โตมากับกลิ่นอายท้องทุ่ง ในอ้อมกอดของยายและตา ที่จังหวัดมหาสารคาม
ตามีเชื้อแขกจมูกโด่ง ผิวขาว ตัวสูง ยายเลี้ยงไก่และปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไหม วัยเด็กเธอปีนต้นไม้ มุดป่า จับปลา แถมเป็นหัวโจกที่มีลูกสมุนตัวกะเปี๊ยกเป็นโขยง
“แม่ฝากขนมไว้ที่ตากับยาย ยายจะแอบไว้เพราะอยากให้เราค่อยๆ กิน แต่ดิฉันก็หาจนเจอ (หัวเราะ) ดิฉันเอาไปแจก เด็กๆ ละแวกนั้นก็เลยมาเป็นสมุน ดิฉันเข้าใจอำนาจของเงินตั้งแต่เล็กๆ และรู้ว่าจะใช้มันยังไง"
“บ้านตาจนมาก เป็นบ้านใต้ถุนสูง ข้างล่างเป็นคอกวัวควาย จะขึ้นหรือลงบ้านต้องใช้บันไดลิงพาดลงไป ถ้าไม่อยู่บ้านก็เอาบันไดออก ตัวเรือนเป็นไม้ฝาขัดเเตะทำจากไม้ไผ่บางๆ พื้นบ้านเป็นไม้กระดานเก่ามาก ลื่นมัน และแหว่ง บางแผ่นเก่าจนเปิดขึ้นมาได้"
เมื่อเธอโตขึ้น ด้วยอาชีพการงานทำให้เธอคุ้นชินกับอาหารรสเลิศจากโรงแรมหรู แต่ในความทรงจำวัยเด็กอาหารอร่อยที่สุดในโลกคือข้าวเหนียวรสมือยาย
“ตีสามยายตื่นมานึ่งข้าวเหนียว เวลาป้อนยายจะเอามือแตะน้ำร้อนก่อนเพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือ ไอน้ำพากลิ่นข้าวสุกใหม่ๆ จากหวดนึ่งข้าวเหนียวผสมกับกลิ่นไหม้ของไม้ไผ่หอมไปทั่วห้อง ดิฉันคิดว่านี่คือข้าวเหนียวที่อร่อยที่สุดในชีวิต” น้ำเสียงเธอมีรอยยิ้มที่คนฟังรู้สึกได้
“ดิฉันเป็นคนรู้จักให้ตั้งแต่เด็กๆ ถึงตาจะจนแต่สังคมอีสานมีน้ำใจ ใครเดินผ่านไปมา ยายจะทักว่า ‘หาพาข้าวลม’ แปลว่ากินข้าวหรือยัง พาข้าวคือสำรับข้าวและกับอยู่ในกระด้งแข็งๆ ใครอยากกินก็ผูกควายไว้หน้าบ้าน ไต่บันไดขึ้นมาล้างมือ ล้างเท้า ที่ตุ่มน้ำหน้าบันได”
วิถีชีวิตที่ร่ำรวยน้ำใจของวัยเด็ก ทำให้ทุกวันนี้ เวลาเจอหน้าเพื่อน แทนที่จะทักว่าสบายดีไหม กลับทักว่า “กินข้าวหรือยัง”
ในบ้านของเธอจะมีข้าวปลาพร้อมสรรพอยู่เสมอ หุงข้าวต้องหม้อใหญ่เข้าไว้หรือแม้แต่พักอยู่ลำพังที่คอนโดฯ ก็ยังหุงข้าวเก็บสำรองอัดใส่ทัพเพอร์แวร์จนแน่นเข้าตู้เย็น
ชีวิตท้องทุ่งอีกหลายฉากตอนยังแจ่มชัดในความทรงจำ เช่น ปีนเหยียบครกกระเดื่องช่วยยายตำข้าว การทำแป้งหมักขนมจีน หรือวิธีเตรียมผงขมิ้นสุดพิเศษของตา คือใช้ตลับยาขัดรองเท้า (KIWI) มาเจาะรู แล้วใช้ขมิ้นขัดฝนกับรู ได้ผงมาก็เอามาขัดผิวอาบน้ำ เสร็จแล้วประแป้ง ฟังยายร้องเพลงกล่อมนอนเป็นภาษาอีสาน
“สังคมที่ดิฉันอยู่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยความโลภ หลงฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย วูบวาบ ฉาบฉวย สิ่งหนึ่งที่คอยกระตุกเตือนตัวเราก็คือภาพความพอเพียงของตายาย ทั้งคู่ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีทองสักเส้น ทุกอย่างหามาจากท้องไร่ท้องนา อยากได้อะไรก็เอาไปแลกกับหมู่บ้านอื่น ทอผ้าไหมไปแลกข้าว เป็นชีวิตที่ไม่ได้ใช้เงินหรือเครดิตการ์ด
“ชีวิตชนบทหล่อหลอมให้ดิฉันเป็นคนไม่ดูถูกคน ทำให้เข้าใจว่าความหิว ความตาย ทำให้คนเราเท่าเทียมกัน…อ้อ ตอนปวดท้องเข้าห้องน้ำก็เช่นกันนะ”
ลงท้ายด้วยเสียงหัวเราะอารมณ์ดี และรอยยิ้มของคนที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต และเข้าใจตัวเอง เจนนิเฟอร์ คิ้ม
สนใจติดตามข่าวสารดี๊ดี แอดไลน์เป็นเพื่อนกัน | (คลิกจากโทรศัพท์มือถือ)